รัฐลุยแก้ไฟใต้ สร้างโมเดลความร่วมมือ ปชช.
"บิ๊กแต้ม" เผย หน.คณะพูดคุยสันติสุข เดินหน้าแก้ไฟใต้ จัดทำชุดความคิด สร้างโมเดลความร่วมมือ ปชช. ชี้เป็นแนวทางสันติวิธี สากลให้การยอมรับ รวมพลังปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการของคณะพูดคุยสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า เหตุการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ยังคงเป็นฝ่ายริเริ่มก่อกวนในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในช่วงนี้คือการปรับมาตรการระวังป้องกันและเพิ่มการปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อจำกัดเสรี และลดขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยที่ฝ่ายรัฐต้องครองความมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ปฏิบัติการให้ได้ ทั้งในชุมชนเขตเมือง เส้นทางคมนาคม ชนบท ป่าเขา และพื้นที่ชายแดน ที่ผ่านมาคณะพูดคุย ได้จัดทำชุดความคิดแล้วใน 3 ประเด็นหลัก คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย, เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาในพื้นที่และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันก่อน โดยการจัดตั้งคณะทำงานเทคนิคร่วมที่มีทุกฝ่าย ไปกำหนดแนวทางในประเด็นความร่วมมือให้ได้ภายใต้กรอบชุดความคิดดังกล่าว ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้วจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบด้วย
พล.ต.บรรพต กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 59 คณะพูดคุยฯ ได้หารือขั้นต้นกับผู้อำนวยความสะดวกแล้ว รวมทั้งได้ประชุมคณะพูดคุยชุดใหม่ โดยได้กำหนดกรอบแนวทางในการทำงานและได้นำนโยบาย ข้อเน้นย้ำ ข้อห่วงใย และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้สร้างความไว้วางใจให้ได้ก่อน และให้ความสำคัญต่อทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ทั้งติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ ไม่ใช่การยอมรับเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การแก้ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทยที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยสนับสนุนกระบวนการพูดคุย เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และผลการพูดคุยจะถูกส่งผ่านชุดความคิด ทั้ง 3 ประเด็นลงไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยต้องให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเท่านั้น จึงจะทำให้เหตุรุนแรงลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการเชิงรุกของฝ่ายเราในการป้องกันเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"การทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง จำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจ จนถึงขั้นเกิดความร่วมมือในประเด็นสำคัญที่สามารถสร้างเป็นโมเดลความร่วมมือในพื้นที่ให้สำเร็จก่อน ไม่ใช่โมเดลที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นโมเดลที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐ และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทุกพวก ทุกฝ่าย โดยมีภาคประชาชนให้การสนับสนุน คณะพูดคุยฯ ขอให้ทุกคนสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี และได้รับการยอมรับในทางสากล และขอให้ภาคประชาชนพื้นที่ได้ร่วมกันปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยในพื้นที่ เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง" พล.ต.บรรพต กล่าว.