ศึก4Gข้ามวันแตะ7.3หมื่นล้าน ‘กสทช’ยันค่าบริการไม่สูงตาม
12 พ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือ 4G ซึ่งเข้าสู่วันที่สองของการประมูล และกินระยะเวลานานกว่า 23 ชั่วโมงแล้ว
โดยเมื่อเวลา 09.48 เข้าสู่การประมูลรอบที่ 70 มีการเคาะประมูลใบอนุญาตที่ 1 ทำให้ราคาขยับขึ้นไปอยู่ 36,210 ล้านบาท และใบอนุญาตที่ 2 ขึ้นไปอยู่ที่ 36,210 ล้านบาท รวมรายได้ที่รัฐจะได้จากการประมูลอยู่ที่ 72,420 ล้านบาท
ต่อมาเวลา 10.08 น. การประมูลรอบที่ 71 ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยมีผู้เคาะราคาประมูลใบอนุญาตที่ 1 ทำให้ราคาขึ้นไปแตะที่ 36,608 ล้านบาท ส่วนใบอนุญาตที่ 2 ไม่มีผู้เคาะประมูล ราคายังคงอยู่ที่ 36,210 ล้านบาท รวม 2 ใบอนุญาต ราคาอยู่ที่ 72,818 ล้านบาท
และในรอบที่ 73 มีผู้เคาะราคาประมูลเพิ่มอีก ทำให้ราคาใบอนุญาตที่ 1 ขยับไปที่ 37,006 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 2 ขึ้นไปที่ 37,006 ล้านบาท รวมราคาอยู่ที่ 73,216 ล้านบาท
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงการประมูลครั้งนี้ว่า ผู้เข้าประมูลแต่ละรายมีสิทธิ์ไม่เสนอราคา 3 ครั้ง โดยก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ผู้เข้าประมูลทุกรายใช้สิทธิ์ไม่เสนอราคาหมดไปแล้ว แต่เช้าวันนี้มีความชัดเจนว่าผู้เข้าประมูลยังเหลือสิทธิ์ไม่เสนอราคาอยู่
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีผู้เคาะประมูลแม้แต่รายเดียว ก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นการใช้สิทธิ์ไม่เสนอราคาหรือไม่ ถ้าใช่ก็แสดงว่าการประมูลยังไม่จบ และถ้าเขาใช้สิทธิ์ไม่เสนอราคาครบแล้ว ครั้งต่อไปก็จะต้องสู้ทุกครั้ง หากไม่สู้การประมูลจะจบลง
สำหรับข้อกังวลที่ว่า หากราคาประมูลจบในราคาที่สูง จะส่งผลให้ค่าบริการ 4G จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วยหรือไม่นั้น นพ.ประวิทธ์ ชี้แจงว่า 1.ราคาคลื่นในการประมูลถือว่าเป็นต้นทุนจม ซึ่งจะผลักภาระให้ผู้บริโภคยาก 2.ตามเทคโนโลยีแล้ว ราคาเฉลี่ย 4G ทั่วโลกถูกกว่า 3G โอกาสที่จะแพงขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้ 3.กสทช.กำหนดเงื่อนไขว่า แม้ใครจะชนะการประมูล จะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งแพ็คเกจที่คุณภาพไม่ต่ำกว่า 3G และราคาต้องถูกกว่า 3G ซึ่งไม่ว่าราคาประมูลจะสูงแค่ไหน แต่ประชาชนจะต้องเข้าถึง 4G ในราคาที่ถูก