สพม.เผย 800 องค์กรชุมชนขอรับทุนพัฒนาประชาธิปไตยรากหญ้า
สภาพัฒนาการเมืองเผยองค์กรชุมชนขอรับทุนกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นทรัพยากรและปัญหาร้อนชาวบ้าน ชี้ปี 54 เข้มเกณฑ์คัดกรองป้องกันนักล่าทุน หนุนงบ 3.7 ล้านทำ 5 จังหวัดนำร่องประชาธิปไตยชุมชน เพชรบูรณ์ สมุทรสงคราม ระนอง ระยอง อำนาจเจริญ
นายพิสิษฐ์ ศิริสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงความคืบหน้าการดำเนินงานสนับสนุนกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองว่า ปี 2553 ที่ผ่านมามีองค์กรชุมชนขอรับการสนับสนุน 896 โครงการ และอนุมัติ 250 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งขอเข้ามา 528 โครงการ ส่วนปี 2554 ปิดรับสมัครแล้วโดยมีองค์กรชุมชนเสนอขอเข้ามา 800 โครงการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
“ส่วนใหญ่ที่เสนอยังคงเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและประเด็นร้อนเชิงพื้นที่เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ส่วนประเด็นลดความขัดแย้งในพื้นที่มีเพียงเล็กน้อยกว่าช่วงที่มีกระแส ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือและอีสาน”
นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า จากพัฒนาการกองทุนในช่วง 3 ปีมานี้สิ่งสะท้อนชัดเจนคือชาวบ้านเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และการให้ทุนทางตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการอำเภอหรือจังหวัดทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้มากกว่า เห็นได้จากจำนวนการขอสนับสนุนที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีปัญหาเชิงพื้นที่จำนวนมากที่ต้องใช้ทุนสนับสนุน
ผอ.สำนักคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กล่าวต่อไปว่า การประเมินความสำเร็จของกองทุนโดย สพม.ภาคและมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ ส่วนใหญ่ตรงตามเป้าหมาย แม้ว่าจะมีส่วนน้อยที่นำทุนไปใช้เพื่อพัฒนาองค์กรตนเองไม่ได้ทำประโยชน์แก่สาธารณะ ซึ่งผิดหลักการกองทุน แต่ก็ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงการคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น โดยปีนี้ให้องค์กรชุมชนเสนอโครงการมาที่ส่วนกลางเพื่อรวบรวมข้อมูล มีการพิจารณาในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองก่อน 1 รอบก่อนส่งต่อไปยังคณะกรรมการฯระดับภาคพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากชุดหลังมีความชำนาญและรู้จักพื้นที่
“ก็จะมีพวกล่าโครงการแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่เพียงแต่ทุนของ สพม. แต่ยังมีทุนที่หน่วยงานอื่นให้ ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น นี่ขนาดการเมืองภาคพลเมืองยังไม่ถึงการเมืองระดับชาติ”
นายพิสิษฐ์ กล่าวว่าหลักเกณฑ์การให้ทุนคือ 1.ไม่มีการแบ่งประเภทเป็นเชิงพื้นที่กับเชิงประเด็น 2.เน้นโครงการที่นำสู่การปฏิบัติ เนื่องจากที่ผ่านมามักเสนอในเชิงกิจกรรมอบรมสัมมนา ไม่มีกิจกรรมต่อเนื่องที่เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ทั้งนี้แม้ว่าการดำเนินงานเชิงรูปธรรมจะยังเป็นจุดเล็กเมื่อเทียบกับการพัฒนาการเมืองระดับชาติได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาจัดการปัญหาของตนเองในรูปแบบประชาธิปไตยชุมชน
ทั้งนี้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความเห็นหรือความต้องการของพื้นที่ ในลักษณะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย สนับสนุนให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมอโดยเฉพาะบทบาทที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น
นายพิสิษฐ์ ยังกล่าวถึงโครงการจังหวัดนำร่องประชาธิปไตยชุมชนว่ามีวัตถุประสงค์ให้พื้นที่จัดการตนเอง โดยหลักเกณฑ์คือต้องมีสภาองค์กรชุมชนเป็นตัวตั้งรวมกับองค์กรหรือเครือข่ายอื่นได้ โดยมีคณะกรรมการ สพม.ประจำภาคเป็นผู้คัดเลือกได้ 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ สมุทรสงคราม ระนอง ระยอง และอำนาจเจริญ ซึ่ง สพม.จะสนับสนุนงบประมาณเตรียมจังหวัดนำร่องให้ตำบลละ 15,000 บาท จังหวัดใดมีพื้นที่เป้าหมายก็ได้มาก แต่ต้องไม่เกินงบประมาณรวม 3,735,000 บาท
“ทั้ง 5 จังหวัดมีความพร้อมและมีต้นทุนความเป็นประชาธิปไตยชุมชน ทั้งในแง่การรวมตัว ผู้นำชุมชน หน่วยงานร่วมทั้ง อปท. และจังหวัด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ขณะนี้อยู่ในช่วงจัดการแผนงานแต่ละพื้นที่ คาดว่าปี 54 จะเริ่มดำเนินการให้เป็นรูปร่างชัดเจนได้”ผอ.สำนักคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กล่าว .