ราชทัณฑ์ลำดับเหตุการณ์‘หมอหยอง’ ก่อนจบลมหายใจเฮือกสุดท้าย
“…ในคืนวันดังกล่าว เวรรักษาการณ์ไปตรวจพบ ขณะนอนอยู่ในห้องขัง แต่เรียกชื่อขานไม่ตอบ มองจากภายนอกห้องขัง เห็นว่ามีอาการหายใจเฮือก จึงได้รีบแจ้งให้หน่วยเสนารักษ์ประจำ มทบ.11 มาตรวจสอบ พบว่า ชีพจรอ่อน ไม่รู้สึกตัว จึงได้รีบนำตัวส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์…”
กรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” เสียชีวิตแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2558 โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น
(อ่านประกอบ : ‘ไพบูลย์’ยัน‘หมอหยอง’เสียชีวิตแล้ว เหตุติดเชื้อในกระแสเลือด)
ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารข่าว กรณีนี้ไว้อย่างละเอียด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความมาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องขังคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอยู่ระหว่างฝากขังผลัดที่ 2
ในคืนวันดังกล่าว เวรรักษาการณ์ไปตรวจพบ ขณะนอนอยู่ในห้องขัง แต่เรียกชื่อขานไม่ตอบ มองจากภายนอกห้องขัง เห็นว่ามีอาการหายใจเฮือก จึงได้รีบแจ้งให้หน่วยเสนารักษ์ประจำ มทบ.11 มาตรวจสอบ พบว่า ชีพจรอ่อน ไม่รู้สึกตัว จึงได้รีบนำตัวส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.
เมื่อไปถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เวลา 22.20 น. ห้องฉุกเฉินแรกรับพบว่า นายสุริยัน ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองใด ๆ วัดสัญญาณชีพจรไม่ได้ ม่านตาขยาย 4 มม. ไม่ตอบสนองต่อแสงทั้งสองข้าง โรงพยาบาลฯ ได้ดำเนินการช่วยฟื้นคืนชีพเป็นเวลาชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์เวรลงความเห็นว่า เสียชีวิต
การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวน แพทย์ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง รวม 4 ฝ่าย มาชันสูตรพลิกศพ ซึ่งกรณีนี้ได้แจ้งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ที่เป็นท้องที่พบศพมาดำเนินการ
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้น สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจได้ตรวจพิสูจน์ศพเรียบร้อยแล้ว ลงวันที่ 8 พ.ย. 2558 ปรากฏสาเหตุการเสียชีวิต “สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสเลือด”
ทั้งนี้เรือนจำได้แจ้งญาติผู้เสียชีวิตให้มาขอรับศพเพื่อไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป
ส่วนการดำเนินการภายหลังการเสียชีวิตของนายสุริยัน เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อรายงานผลให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา ส่วนการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีเสียชีวิตในสถานที่คุมขังนั้น พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องไต่สวนการเสียชีวิตต่อไป
กรมราชทัณฑ์ สรุปเหตุการณ์ของ "หมอหยอง" ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 7 พ.ย. 2558 ดังนี้
เมื่อวันที่ 5-6 พ.ย. นายสุริยันมีอาการไข้สูง กระสับกระส่าย ไอ พยาบาลเสนารักษ์ประจำเรือนจำได้จ่ายยาลดไข้ ยาลดอาการไอ แล้วให้นอนพัก
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่เวรไปตรวจ พบว่า ผู้ต้องขังมีอาการเรียกไม่รู้สึกตัว หายใจเฮือกยาว เสนารักษ์จึงแจ้งให้นำส่งทัณฑ์สถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทันที
เมื่อไปถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์เวรได้พยายามช่วยชีวิตตามหลักเกณฑ์และจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ทำกระบวนการฟื้นคืนชีพ ใช้เวลาดำเนินกระบวนการ ตั้งแต่แรกพบตัว โดยใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและความดันโลหิต ฯลฯ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้แจ้งพนักงานสอบสวนท้องที่มาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า มีเชื้อใดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น เชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเดินหายใจ สายพันธุ์รุนแรง ผู้รับเชื้อจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ยากแก่การประเมินหรือรักษาไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับสารสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิต้านทาน หรือผู้เป็นโรคที่ยังไม่ได้ระบุการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอจากการเป็นโรคประจำตัวบางอย่าง หรือภาวะภูมิต้านทานบกพร่องจากโรคเฉพาะตัวที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ หากได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าว จะมีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์รุนแรง
ซึ่งในกรณีนายสุริยัน เป็นไปได้ที่อาจมีภูมิต้านทานอ่อนแอ โดยตรวจพบจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2558 พบว่า มีภาวะไขมันสะสมในตับสูง ประกอบกับผลการตรวจเลือดในขณะการช่วยฟื้นคืนชีพ เมื่อคืนวันที่ 7 พ.ย. 2558 พบมีเอนไซม์การทำงานตับสูง
จากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด พบว่า มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ มีเพียง 60,000 คิวบิกมิลลิเมตร (ค่าปกติ ตั้งแต่ 1.4-4 แสน/คิวบิกมิลลิเมตร) สันนิษฐานว่า เมื่อได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดเข้าไป จึงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
สำหรับคดีความที่ “หมอหยอง” เกี่ยวพันนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแหงชาติ (ผบ.ตร.) โชว์ของกลางจำนวนมากที่ยึดมาได้ รวมถึงพฤติการณ์กระทำผิดของ “หมอหยอง-พวก” ไว้อย่างละเอียด เช่น มีการสั่งทำเข็มกลัดจำนวน 3 แสนชิ้น
โดยนายสุริยัน และนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขานุการนายสุริยัน นัดพบ น.ส.ทิพวรรณ อัศวก้องเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท แมค บารา จำกัด ที่ร้านสเวนเซ่น เพื่อตกลงราคาเข็มกลัด โดยนายสุริยันเสนอราคาส่วนต่างเพิ่มขึ้น 2 บาท เป็น 5.70 บาท (ราคาเดิม 3.70 บาท) แล้วให้เอาเงินค่าส่วนต่างที่เกินโอนคืนให้นายสุริยัน และนายจิรวงศ์
ทั้งหมดคือ “นาทีสุดท้าย” ของ “หมอหยอง” ที่เริ่มต้นจากการ “ล้มป่วย” ช่วงต้นเดือน พ.ย. ก่อนจะ “ป่วยหนัก” เมื่อวันที่ 5-6 พ.ย. 2558 และ “เสียชีวิต” เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558
ปิดฉาก “หมอดูชื่อดัง” ที่อยู่คู่สังคมมาหลายปี !
อ่านประกอบ :
ล้วงข้อมูล 5 บริษัทเครือซีพี 'เหยื่อ'คดี 'หมอหยอง' ถูกอัพราคาซื้อเข็มกลัดหลักล.
เผยโฉม "บ.แมคบารา" โยงคดีเข็มกลัด หมอหยอง บ้านเดี่ยว 2 ชั้นย่านประเวศ
โชว์เอกสารตั้ง 'แมค บารา' ก่อนถูกโยงคดี 'หมอหยอง' เจ้าของปัดชี้แจงข้อมูล
เปิดตัว'บ.แมค บารา-พี.ไนน์ตี้ทู'ก่อน ผจก.ฝ่ายขายถูกโยงคดี'หมอหยอง'
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสุริยัน จาก moryongsan.com