ส่องงาน SCG INNOVATIVE EXPOSITION ต้อนรับสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว
“ปีแรกๆที่ทำต้องยอมรับเลยว่า เงียบมาก คนไทยรู้นะว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ก็จะมีคำถามว่า แล้วไง เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วทำไม ฉันต้องทำอะไร คือเขาไม่เข้าใจว่าต้องเตรียมตัวรับมือแบบไหน ”
“เมื่อสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว การป้องกันหรือยืดอายุของร่างกายก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะเรื่องความเสื่อมถอยของร่างกายเบื้องต้นที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ” อาจารย์อู๋- ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ อาจารย์กลุ่มวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังยืนอธิบายและทำการตรวจวัดวิเคราะห์แรงกดฝ่าเท้าด้วยเครื่องโพโดแกรม (Podogram Analyzer) ให้กับหญิงสูงวัยท่านหนึ่งที่มาร่วมงาน SCG INNOVATIVE EXPOSITION 2015 ย่านถนนเลียบทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา
อาจารย์อู๋ บอกว่า นวัตกรรมการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Eldercare Solution) มีความจำเป็นกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะการใช้นวัตกรรมมาช่วยในการอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้สูงอายุนั้น นอกเหนือจากการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วการทรงตัวต่างๆจะมีการเสื่อมถอย แม้จะมีนวัตกรรมใหม่ๆออกมาก็จำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบและวิเคราะห์ก่อนเลือกด้วยเช่นกัน
เขายกตัวอย่าง ผู้สูงวัยที่กำลังทำการวัดแรงกดฝ่าเท้า ว่า จากผลการวิเคราะห์แรงกดฝ่าเท้า พบว่า การทรงตัวส่วนใหญ่จะเอียงไปทางด้านซ้าย นั่นหมายความว่ามีโอกาสจะล้มไปทางด้านซ้ายมากว่าด้านขวา เมื่อเห็นข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เราสามารถแนะนำอุปกรณ์ในการติดตั้งช่วยเหลือในบ้านได้ว่าเขาควรจะติดราวจับไว้ที่ผนังด้านซ้ายมือเพื่อป้องกันการล้ม หลังจากที่วัดแรงกดฝ่าเท้าเสร็จ ก็จะไปวัดส่วนสูงเพื่อประเมินเรื่องระยะของการติดตั้งอุปกรณ์ว่าระยะเท่าไหร่ที่เหมาะสม
“นอกเหนือจากการวัดเรื่องแรงกดฝ่าเท้า วัดส่วนสูงระยะแล้ว การให้ผู้สูงอายุกรอกข้อมูลและประวัติส่วนตัวก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เนื่องจากจำเป็นจะต้องแยกกลุ่มผู้สูงอายุและนวัตกรรมที่เหมาะสม”
"ยุทธพงศ์" บอกว่า SCG Eldercare Solution ได้แยกกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับกลุ่มสีเขียวจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถทำกิจกรรมทั้งในบ้านและนอกบ้านได้ตามปกติและมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาวะในอนาคต กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกาย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่อาจจะต้องการอุปกรณ์หรือผู้ช่วยเหลือในบางครั้ง ทำกิจกรรมภายนอกบ้านต้องได้รับการดูแล และสีส้มคือกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกน้อยลงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านและต้องมีคนดูแลคอยให้ความช่วยเหลือ
เมื่อคัดแยกกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งทำการวิเคราะห์ประเมินผลแล้ว นี่จะเป็นตัวอย่างการจัดห้องน้ำให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุตามกลุ่มสีต่างๆ ทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับเรื่องของห้องน้ำนั่นเป็นเพราะ 70% ของผู้สูงอายุ มักประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำนั่นเอง
กลุ่มสีเขียว
สิ่งที่ควรทำ เช่น พื้นกระเบื้องควรมีผิวด้านไม่ลื่นและง่ายต่อการทำความสะอาด แสงสว่างภายในห้องน้ำต้องเพียงพอไม่มืดและสลัวเกินไป
สิ่งที่ไม่ควรทำ หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่จะทำให้เกิดการลื่นล้มหรือสะดุด
สีเหลือง
สิ่งที่ควรทำ เช่น แยกพื้นที่ส่วนเปียกส่วนแห้งให้ชัดเจน ติดตั้งราวจับระหว่างทางเพื่อป้องกันการลื่นล้ม ติดตั้งระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน
สิ่งที่ไม่ควรทำ หลีกเลี่ยงการติดตั้งสายชำระด้านหลังทำให้เกิดการเอี้ยวตัว การติดตั้งระดับสุขภัณฑ์ที่ไม่ควรคือสูงหรือเตี้ยจนเกินไป ราวจับที่ติดตั้งไม่ได้ขนาดคืออาจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป
สีแดง
สิ่งที่ควรทำ เลือกใช้สุขภัณฑ์ที่ง่ายต่อการเข้าถึงและมีพื้นที่ที่ผู้ดูแลสามารถเข้าช่วยเหลือได้ เลือกสุขภัณฑ์ที่รถเข็นสามารถเข้าถึงและใช้งานได้สะดวก จัดให้มีพื้นที่ว่างในห้องน้ำที่รถเข็นสามารถหมุนตัวได้
ด้านรัชนีกร รวมทวี ผู้จัดการบริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี จากเอสซีจี เล่าถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุว่า จากข้อมูลต่างๆที่ผ่านมาเรารู้ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำยังไงจะยืดอายุ ยืดความเสื่อมโทรมให้กับเขาได้ การใช้นวัตกรรมมาอำนวยความสะดวกก็เป็นปัจจัยหนึ่งจึงพยายามที่จะออกแบบอุปกรณ์ หรือสุขภัณฑ์เข้ามาช่วย
“ปีแรกๆที่ทำต้องยอมรับเลยว่า เงียบมาก คนไทยรู้นะว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ก็จะมีคำถามว่าแล้วไง เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วทำไม ฉันต้องทำอะไร คือเขาไม่เข้าใจว่าต้องเตรียมตัวรับมือแบบไหน แต่เมื่อพยายามให้ข้อมูลเรื่อยๆ เริ่มมีลูกหลานที่มีพ่อแม่ หรือคนแก่ในบ้านเยอะๆ ให้ความสนใจมากขึ้น จะเรียกว่ากลุ่มผู้สูงวัยเริ่มตื่นตัวก็ว่าได้”
นอกจากนี้ รัชนีกร ยังบอกอีกว่า เธอไม่ได้สนใจแค่อุปกรณ์หรือนวัตกรรมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการเลือกและติดตั้งอุปกรณ์อย่างเหมาะสมให้กับบุคคลนั้นๆและสถานที่ด้วย การตรวจวัดและประเมินข้อมูลเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“คุณรู้ไหม การติดตั้งอุปกรณ์สำหรับคนแก่ อย่างเช่น ราวจับ ถ้าระยะผิด ติดตั้งไม่ถูกต้อง นั่นเท่ากับว่า คุณไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์อะไรเลย”
ส่วนผู้สูงอายุที่มาร่วมงานต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สนใจนวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ในห้องน้ำ เนื่องจากบางครั้งลูกหลานไม่อยู่หากมีอุปกรณ์ที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ก็จะทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และมองว่าสังคมไม่ควรนิ่งนอนใจและไม่ใส่ใจเรื่องการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยโดยเด็ดขาด