ทหารวิเคราะห์เบื้องหลัง"พูโล"เปลี่ยนตัวประธาน เล็งรับเงื่อนไขเจรจากดดันบีอาร์เอ็น
มีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ของฝ่ายความมั่นคงไทย ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การแนวร่วมปลดปล่อยปาตานี (Patani United Liberation Organisation : Pulo) ที่แต่งตั้ง นายกัสตูรี มะห์โกตา รองประธานพูโล และอดีตโฆษกพูโล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานพูโลคนใหม่
แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผย "ทีมข่าวอิศรา" ว่า จากการวิเคราะห์ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.และตรวจสอบข่าวสารที่รวบรวมมาได้ พบว่าการเปลี่ยนตัวประธานพูโลเป็นการกดดันจากรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้การเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยมีความคืบหน้า เนื่องจากนายกัสตูรีมีจุดยืนต้องการการเจรจามาโดยตลอด ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านก็จะได้เครดิตในเรื่องนี้ และอาจได้รับเชิญเข้าเป็น "คนกลาง" ในการจัดการเจรจาตามที่นายกัสตูรีเคยแสดงท่าทีมาตลอดด้วย
"จากข่าวสารที่เราได้รับมา ตามแถลงการณ์ของพูโลที่บอกว่านายกัสตูรีได้รับความไว้วางใจจากคะแนนเสียงข้างมากของคณะกรรมการกลางพูโลนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากสมาชิกกลุ่มเก่าที่เป็นระดับอาวุโสไม่เห็นด้วย แต่ถูกกดดันจากรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านซึ่งให้ที่พักพิงอยู่ จึงจำต้องสนับสนุน" แหล่งข่าวจากกองทัพภาคที่ 4 ระบุ
แหล่งข่าวคนเดียวกันยอมรับว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบทบาทของนายกัสตูรีมากนัก แม้จะเคยพบปะพูดคุยกับผู้แทนระดับต่างๆ ของรัฐบาลไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะในห้วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (2549-2550) แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ประกอบกับนายกัสตูรีมีตำแหน่งเป็นโฆษก จึงไม่เชื่อว่าสามารถคุมเสียงข้างมากในพูโลได้จริง และไม่เชื่อว่าพูโลคือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังหรือมีอิทธิพลจริงต่อการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงรายวันในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายกัสตูรีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพูโลคนใหม่ จึงต้องหันมาพิจารณากันอีกครั้ง และปัจจุบันฝ่ายความมั่นคงเองก็มีท่าทีที่เปลี่ยนไปในเรื่องการเปิดเจรจา โดยหลายฝ่ายยอมรับมากขึ้นว่าการได้เจรจากันน่าจะเป็นแต้มบวกมากกว่าผลลบ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านก็พยายามช่วยเหลือรัฐบาลไทยอย่างเงียบๆ อยู่แล้ว
นอกจากนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังวิเคราะห์ด้วยว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิดป่วนเมืองหลายสิบจุดทั้งที่ อ.เมืองยะลา และอำเภอต่างๆ ของ จ.นราธิวาส ในวาระครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ตากใบและต่อเนื่องมาหลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์ น่าจะเป็นการก่อเหตุเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาภาคใต้ เพราะตั้งแต่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้ารับหน้าที่ ยังไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ ต่อปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจนเลย และจนถึงขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่เคยเดินทางลงพื้นที่ ทั้งๆ ที่รับตำแหน่งมาถึง 3 เดือนเต็มแล้ว
ส่วนท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันนั้น แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นถือว่าตนเองยังมีศักยภาพและได้เปรียบฝ่ายไทย จึงไม่เคยแสดงท่าทีเรื่องการเจรจา แม้ว่าจะมีกลุ่มอื่นๆ เช่น พูโล กล่าวอ้างว่าขบวนการอิสลามปลดปล่อยปัตตานี หรือ บีไอพีพี และขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น ต้องการเจรจากับรัฐบาลไทยด้วยก็ตาม
"ท่าทีของฝ่ายความมั่นคงไทยในขณะนี้เห็นด้วยหากจะมีการเจรจา โดยเฉพาะกับพูโล เพราะการที่มีกลุ่มต้องการเจรจา และรัฐบาลไทยยอมเจรจาด้วย ก็จะเป็นการกดดันหรือลดบทบาทกลุ่มที่ไม่ต้องการเจรจาลงไป" แหล่งข่าว ระบุ
ความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบางกลุ่มในอนาคนอันใกล้ ยังสะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คนใหม่ด้วย เพราะเขาเพิ่งพบปะอย่างลับๆ กับ พล.ท.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าผู้ประสานงานไทย-มาเลเซีย ซึ่งเคยมีบทบาทพูดคุยเจรจากับกลุ่มพูโล และสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มในอดีต
ด้านแหล่งข่าวอีกรายหนึ่งซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยข่าวระดับประเทศ ให้ข้อมูลว่า ช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ๆ มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างน้อย 2 กลุ่มเสนอข้อเรียกร้องและเงื่อนไขการเจรจาต่อรัฐบาลไทย โดยกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มของผู้นำรุ่นเก่าที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนับว่าน่าสนใจ เพราะมีผู้นำเป็นคนในพื้นที่ และเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์รุนแรงรายวันในขณะนี้บางส่วน
"ข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาลไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ที่ก่อคดีหรือกระทำผิดตามกฎหมายไทย การให้สิทธิชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิในการรับราชการ แต่ไม่มีการข้อเสนอที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบการปกครองตามที่มีบางกลุ่มบางองค์กรเคลื่อนไหวในทางเปิดอยู่ในขณะนี้" แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ดี พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข ซึ่งมีประสบการณ์พูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบที่พร้อมกลับใจเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพกับฝ่ายความมั่นคงไทยนับพันคน ให้ข้อมูลอีกทางหนึ่งว่า เท่าที่เคยคุยกับคนที่อยู่ในขบวนการซึ่งเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์อยู่ในพื้นที่ขณะนี้ ไม่พบว่ามีสัญญาณต้องการเจรจาจากระดับแกนนำ เพราะกลุ่มแกนนำยังมั่นใจในวิถีทางที่ทำอยู่ว่าจะได้รับชัยชนะ ขณะที่มวลชนจำนวนมากก็ยังอยู่กับฝ่ายขบวนการ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเจรจา
ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษ หรือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษนั้น พล.ท.สำเร็จ บอกว่า เคยสอบถามคนที่อยู่ในขบวนการจำนวนหนึ่งเหมือนกัน ได้รับคำตอบว่าไม่มีใครต้องการ เพราะการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการมีเป้าหมายเพื่อเอกราชของปัตตานี ไม่ใช่แค่เขตปกครองพิเศษหรือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ตราสัญลักษณ์ขบวนการพูโล จากเว็บไซต์พูโล
อ่านประกอบ : "พูโล" ออกแถลงการณ์ "กัสตูรี" ประธานคนใหม่