"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" กับการ รปภ.ครูและปัญหาขาดงบที่ชายแดนใต้
โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการยุค พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ด้วยการลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเสริมทักษะนอกห้องเรียนเพิ่มมากขึ้นนั้น เริ่มต้นมาได้ 1 สัปดาห์แล้ว
หลายคนอาจไม่ทราบว่าโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ 4,000 แห่งทั่วประเทศ มีโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย 95 แห่ง แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 35 แห่ง จังหวัดยะลา 23 แห่ง และนราธิวาส 37 แห่ง จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งหมด 875 แห่ง
เมื่อพูดถึงโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนห่วงปัญหาเรื่องความพร้อม เพราะติดภาพว่าโรงเรียนในพื้นที่ก็มีปัญหาด้านความปลอดภัย ต้องเลิกเรียนก่อนเวลาปกติอยู่แล้ว ครูผู้สอนก็ถูกลอบยิงลอบฆ่าบ่อยครั้ง หนำซ้ำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็ต่ำเตี้ยมาตลอด อย่างนี้จะสามารถนำร่องโครงการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ได้เหมือนโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศหรือ
จากการสำรวจโรงเรียนนำร่องในพื้นที่สามจังหวัด พบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน และการเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากเวลาเลิกเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ 15.00-15.30 น. เป็นเลิกเรียนเวลา 16.00 น. เพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรม
แกนนำครูห่วงความปลอดภัย-ปรับเวลา รปภ.
บุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จัดเป็นโครงการที่ดี แต่ก็มีเรื่องน่าห่วงสำหรับโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องเวลาเรียน วันก่อนมีโอกาสคุยกับ พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยครูที่อาจต้องมาคุยกันใหม่ เพราะ เวลาเลิกเรียนเดิมที่เคยคุยกันไว้คือ 15.30 น. แต่วันนี้เปลี่ยนเป็นเลิก 16.00 น. จึงต้องหาความชัดเจน
“ตอนนี้ทุกฝ่ายรอความชัดเจนเพื่อปรับแผนรักษาความปลอดภัย ในส่วนของเด็กนักเรียนผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหา คิดว่าจะเป็นผลดีมากกว่าที่จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือบุคลากรทางการศึกษาว่าจะจริงใจแค่ไหนในการทำกิจกรรม หาความรู้ใหม่ๆ มาสอนเด็ก หรือจะปล่อยให้เด็กเล่นกันตามลำพัง ครูจะเข้าใจข้อมูลแค่ไหน ใส่ใจขนาดไหน ทุ่มเทขนาดไหน ผมกลัวว่าครูจะปล่อยให้เด็กเล่นเหมือนชั่วโมงว่าง”
“ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยครู ที่ผ่านมายอมรับว่าดีขึ้นมาก สามารถลดความเสี่ยงของครูลงได้ เช่น ปี 2557 มีครูเสียชีวิต 9 คน ปี 2558 ครูเสียชีวิต 1 คน ถือว่ามาตรการตรงนี้ดีขึ้น แต่ถ้าต้องมาเปลี่ยนเวลากันอีก ก็คงต้องหารือกันใหม่กับฝ่ายกองกำลัง”
ไม่มีงบจัดกิจกรรมให้เด็กๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อไปฟังเสียงจากทางโรงเรียน กลับพบข้อมูลที่ต่างออกไป โดย ประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองปัตตานี หนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" บอกว่า เรื่องความปลอดภัยครูไม่น่าเป็นห่วง เพราะทางโรงเรียนมีมาตรการที่รัดกุมอยู่แล้ว รอบนอกมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลังคอยดูแล ภายในโรงเรียนก็ยังมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นครูปลอดภัยแน่นอนถ้าอยู่ในโรงเรียน ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาการศึกษาจะแก้ไขได้ถ้าครูปลอดภัย และครูมีความสุขกับการทำงาน
ส่วนเรื่องการเปลี่ยนเวลาเลิกเรียนก็ไม่มีปัญหา เพราะทางโรงเรียนได้แจ้งให้ครูและผู้ปกครอง รวมทั้งเด็กๆ ทราบก่อนจะปิดเทอมที่ผ่านมาแล้วว่า เมื่อเปิดเทอมเราจะร่วมโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
“ปัญหาที่พบคือเรื่องงบประมาณที่จะนำมาซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมกับเด็กๆ มากกว่า ต้องมีการเสนอโครงการเพื่อของบนำมาทำกิจกรรมให้สอดรับกับนโยบาย นอกจากนี้เรายังพบปัญหาสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยกับการทำกิจกรรม เราจะมีการประเมินกิจกรรมทุกสัปดาห์และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กมีความสุขในการเรียน และมีความสุขในการเข้าร่วมกิจกรรม อะไรที่เด็กชอบเขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง สมมติชอบดนตรี เราก็จะมีดนตรีให้ ชอบนาฏศิลป์ก็จะให้ไปร่วมนาฏศิลป์ อย่างนี้เป็นต้น”
กิจกรรมเป่าลูกโป่ง แต่ไม่มีงบซื้อลูกโป่งให้เป่า
สอดคล้องกับ วิยะดา พรหมทอง หัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ โรงเรียนอนุบาลปัตตานี อีกหนึ่งโรงเรียนนำร่องโครงการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"
“รูปแบบกิจกรรมที่เราคิดกันก็เช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เราจะใช้กิจกรรม สนุกกับโลกกว้าง มาสนุกกับศิลปะ คิดก่อนปั้น ส่วนของประถมศึกษาปีที่ 1 เราพบปัญหา เรามีกิจกรรมให้นักเรียนเป่าลูกโป่ง แต่เราไม่มีลูกโป่งให้ ใครล่ะจะออกเงินในส่วนนี้ เบื้องต้นเราให้ครูออกไปก่อน และให้ครูสรุปค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมทั้งหมดมา เพื่อเสนอของบประมาณ” ครูวิยะดา กล่าว
เธอยังบอกอีกว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานีไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากนโยบายนี้ เนื่องจากผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ กว่าผู้ปกครองจะเลิกงานก็ 16.00 น. เด็กเลิกเรียนเวลา 15.30 น. โรงเรียนก็หากิจกรรมให้เด็กทำอยู่แล้ว เมื่อมีโครงการของกระทรวงศึกษาฯก็ทำต่อเนื่องมา ทุกอย่างไม่มีปัญหา ยกเว้นเรื่องงบประมาณ
ดึงชุมชนเป็นวิทยากรแก้ปัญหาขาดงบ
ปัญหาเรื่องงบประมาณ มีโรงเรียนนำร่องบางแห่งแก้ปัญหาด้วยการดึงชุมชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบ
นารีรัตน์ เศียรอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนตลาดนัดบ้านคลองขุด อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี บอกว่า ก่อนเริ่มโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ได้จัดประชุมชี้แจงกับครูผู้สอน และประชุมกับผู้ปกครองนักเรียน เพื่อสำรวจความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน จากการสำรวจความต้องการของชุมชนพบว่า ต้องการให้มีโครงการทำขนมพื้นบ้าน ประดิษฐ์เศษวัสดุ จึงเชิญกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียน และชุมชนมาเป็นวิทยากรจัดกิจกรรม ถือเป็นการลดต้นทุนในการเชิญวิทยากรจากนอกพื้นที่เข้ามา
ผู้ปกครองหนุนลดเวลาเรียน-ให้เด็กพักสมอง
ด้านความเห็นของผู้ปกครองนักเรียนอย่าง พาตีเมาะ กาแม ซึ่งลูกเรียนที่โรงเรียนบ้านคลองช้าง อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ลูกกลับมาบอกตอนปิดเทอมว่า โรงเรียนมีโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็คุยกับลูกว่าดี ต่อไปลูกจะได้ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกลับมาบ่นว่าเรียนหนัก จะได้มีเวลาพักสมองทำกิจกรรมบ้าง ไม่ต้องมาเคร่งเครียดกับวิชาการมากเกินไป
“เด็กในภาคใต้เรียนหนัก จันทร์ถึงศุกร์เรียนโรงเรียนปกติ (สายสามัญ) ออกจากบ้านตอนเช้า เจ็ดโมงครึ่ง กลับมาถึงบ้านสี่โมงเย็น พอห้าโมงก็ต้องไปเรียนอัลกุรอานตามหลักศาสนาอิสลามอีก กว่าจะกลับมาบ้านก็สองทุ่ม ถึงตอนนั้นเด็กก็ง่วงนอนแล้ว แต่ต้องทำการบ้านอีก พอเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องเรียนโรงเรียนตาดีกาในหมู่บ้าน (โรงเรียนสอนศาสนาเบื้องต้น) ฉะนั้นถ้ามีโครงการนี้ ก็รู้สึกดี ลูกจะได้มีช่วงสนุกและพักสมองได้บ้าง”
หนูน้อยไม่ตื่นเต้น-บอกครูเน้นประชุมอยู่แล้ว
เด็กหญิงคอรีเยาะ เงาะตาดี นักเรียนโรงเรียนบ้านพงกูแว ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ไม่มีปัญหากับโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพราะโดยปกติเด็กๆ ก็จะทำกิจกรรมกันตลอดอยู่แล้วเวลาครูไปประชุม
“ที่นี่ครูไปประชุมบ่อย เลยคิดว่าน่าจะชิน ถ้าต้องเข้าร่วมโครงการตามนโยบายรัฐบาล ตอนครูไปประชุม ครูก็จะสั่งให้อ่านหนังสือ ให้ทำงาน พอถึงเวลาเลิกเรียนก็จะกลับบ้าน บางช่วงครูไปตั้งแต่เช้าจนเย็นก็ยังไม่กลับโรงเรียน บางครั้งครูก็ไปประชุมหลายๆ วัน พวกเราก็จะนั่งทำงานทำกิจกรรมตามที่ครูบอก และเล่นจนกว่าจะเลิกเรียน การเข้าร่วมโครงการนี้คงไม่ต่างกัน น่าจะเรียนเสร็จเร็วแล้วเข้าร่วมกิจกรรม เหมือนปกติ” เด็กหญิงคอรีเยาะ บอก
เป็นสภาพปัญหาจริงของโครงการในพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทรวงศึกษาธิการน่าหันมารับฟัง