อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก
ครบรอบ 250 ปี ตั้งกรุงธนบุรี-เสียกรุงศรีอยุธยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ จับมือกรมศิลป์ วาดโครงการขุดลอกคูคลองเกาะเมืองอยุธยา หวังสร้างทางระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ชงงบฯ 70 ล้านบาท ยังไม่ได้ ‘ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร’ เผยถือเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดที่ดี ของการพัฒนาเมืองอยู่กับน้ำ
‘เกาะเมืองอยุธยา’ ถูกยกย่องเป็นมรดกโลก มีแม่น้ำ 3 สายไหลล้อมรอบ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก เชื่อมร้อยติดต่อกับคูคลองหลายสาย ซึ่งในอดีตมีระยะทางรวม 140 กิโลเมตร เปรียบดังสายโลหิตที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนที่ใช้สัญจรและเป็นกำแพงป้องกันข้าศึก จนถูกขนานนามว่า เวนิสตะวันออก
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน บ้านเมืองมีการพัฒนามากขึ้น คูคลองหลายสายถูกถม เพื่อก่อสร้างเป็นถนน และตึกรามบ้านช่อง ทำให้ปัจจุบันเหลือระยะทางเพียง 18 กิโลเมตร
หายไปเกินครึ่ง! โดยมีหน้าที่เพียงผลักดันน้ำเสียและเติมน้ำเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวบนเกาะเมืองเท่านั้น แตกต่างจากในกรุงเทพฯ ที่ยังใช้เพื่อการสัญจรอยู่ด้วย
กล่าวได้ว่า ในอดีตอยุธยาเป็นเมืองน้ำมาก่อน ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 250 ปี การก่อตั้งกรุงธนบุรี-เสียกรุงศรีอยุธยา ปี 2560 มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิเด็ก เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) มูลนิธิโบราณสถานในพระราชวังเดิม สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงจัดโครงการอนุสรณ์อยุธยา-ธนบุรี 250 ปี ขึ้น
โดยมีการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือ การบรรยายพิเศษชุดน้ำ หัวข้อ อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
(ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผอ.ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ)
ดร.สุรเจตส์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเกาะเมืองอยุธยา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก สมัยโบราณ จากข้อมูลและการสันนิษฐาน ไม่พบหลักฐานหรือมีร่องรอยชัดเจนว่า ภายในเกาะเมืองเคยน้ำท่วม แต่รอบเกาะเมืองมีหลักฐานมากมายมีน้ำท่วมทุกปี หรือเกือบทุกปี เช่น น้ำหลากเป็นกำแพงป้องกันข้าศึกพม่า เก็บเกี่ยวข้าวเป็นเสบียงก่อนน้ำหลาก
ช่วงที่ 2 สมัยปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วม 3 ครั้งล่าสุด คือ ปี 2538 มีระดับน้ำสูงสุด 70 เซนติเมตร จากพื้นดินในเกาะเมือง ถัดมา ปี 2549 มีระดับน้ำสูงสุด 20 เซนติเมตร จากพื้นดินภายในเกาะเมือง และโหดร้ายมากที่สุด ปี 2554 มีระดับน้ำสูงสุด 2.50 เมตร จากพื้นดินภายในเมือง
ด้วยเหตุนี้เขาจึงมุ่งมั่นจะศึกษาการลดหรือบรรเทาน้ำท่วมในเกาะเมืองอยุธยาให้ได้ จึงทำให้เกิดโครงการศึกษาพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลก จ.พระนครศรีอยุธยา โดยฟื้นฟูบูรณะคูคลองของอยุธยาผ่านมุมมองทางวิศวกรรมกลับมาให้มากที่สุด
แล้วน้ำท่วมเกาะเมืองอยุธยา เกิดจากสาเหตุใด ผอ.ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ อธิบายให้กระจ่าง โดยหยิบยกน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 เป็นโมเดล ว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมทุกปี ปกติมาจากทิศแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปีนั้นกลับมาจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งคอยลอบโจมตีเป็นระยะ ๆ ตลอดมา
“ปี 2554 แม่น้ำเจ้าพระยามีอัตราการไหล วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ปริมาณ 1,998 cms ขณะที่แม่น้ำป่าสักมีอัตราการไหล วันที่ 19 ตุลาคม 2554 ปริมาณ 1,942 cms ถือว่าตึงมากแล้ว เมื่อไหลมารวมกัน ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงล่างได้ทัน”
แนวทางแก้ไขปัญหาดีที่สุดในทางวิศวกรรม ดร.สุรเจตส์ มองว่า ความเป็นไปได้ ควรตัดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมขยายคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยไม่ต้องทำอะไรกับเกาะเมืองอยุธยา แต่ให้บริเวณโดยรอบช่วยเหลือก่อน
หากไม่สำเร็จก็ต้องยกถนนในเกาะเมืองให้สูงขึ้น 1 เมตร พร้อมเปิดความจุคลอง แต่จะได้ผลมากที่สุด จะต้องทำพร้อมกันทั้งในและนอกเกาะเมือง
การขุดลอกคูคลองจึงกลายเป็นไอเดียสำคัญ เขากางแผนที่โบราณเกาะเมืองอยุธยา ของพระยาโบราณราชธานินท์ ชี้ให้เห็นจุดคูคลองหลัก ๆ ที่เป็นเส้นเลือดสำคัญ สิ่งที่พบ คือ มีบึงขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ บึงพระราม บึงคุ้มขุนแผน บึงวัดวิหารแกลบ บึงวัดจิ้งจก และบึงวัดโคกดอกไม้
โดยสันนิษฐานว่า มีการเปิดประตูเพื่อให้น้ำไหลผ่านเมืองในช่วงฤดูฝน และปิดประตูในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันน้ำท่วม และในฤดูแล้ง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในบึงใช้ ส่วนการไหลเวียนหลักน้ำจะเข้าทางทิศเหนือผ่านคลอง 4 สาย และไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ผ่านคลอง 6 สาย
น่าเสียดาย! ปัจจุบันบึงในเกาะเมืองอยุธยา เหลือเพียง 3 แห่ง เท่านั้น คือ บึงพระราม บึงในสวนสมเด็จ (บึงวัดวิหารแกลบ) และบึงคุ้มขุนแผน มีพื้นที่ปริมาณเก็บกักลดลงกว่าครึ่ง
“บึงตามชื่อดังกล่าวยังเหลืออยู่ เพราะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ส่วนบึงวัดจิ้งจก และบึงวัดโคกดอกไม้ ตั้งอยู่ในเขตชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ถูกรุกล้ำในเวลาต่อมา”
(เเผนผังเเสดงข้อสันนิษฐานการจัดการน้ำในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระยาโบราณราชธานินท์ ปี 1926)
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ ยังอธิบายถึงการจัดการน้ำในเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบันว่า จะปิดประตูน้ำทุกประตูไว้ตลอด ในฤดูแล้งจะสูบน้ำเข้าเกาะเมืองจากทิศเหนือของคลองท่อจุดเดียว เนื่องจากลำคูปากสระและคลองประตูข้าวเปลือกในสมัยโบราณถูกรุกล้ำไปหมดแล้ว
การสูบน้ำเข้านี้เพื่อรักษาระดับน้ำ 3 จุด คือ บึงพระราม บึงในสวนสมเด็จ (บึงวัดวิหารแกลบ) และบึงคุ้มขุนแผน โดยจะมีการทำคันดินชั่วคราวที่คลองท่อบริเวณเชื่อมต่อคลองนครบาล เพื่อกักเก็บน้ำเข้าที่คุ้มขุนแผน แล้วจึงสูบน้ำเข้าสู่บึงพระราม
นอกจากนี้จาก 4 คลองในอดีต คือ คลองท่อ คลองลำคูปากสระ คลองประตูข้าวเปลือก และคลองมะขามเรียง เหลือเพียง 2 คลอง ในปัจจุบัน คือ คลองท่อ กับคลองมะขามเรียง จึงมีแนวคิดร่วมกับกรมศิลปากร จะฟื้นคูคลองขึ้นมาให้มากขึ้น โดยเขาเชื่อว่า จะทำให้เกิดวิถีชีวิตขึ้นมาได้
คลองที่ว่านี้ คือ คลองแกลบ คลองฝาง คลองป่ามอ คลองฉะไกรน้อย คลองวัดฉัตรทัน คลองประตูเทพหมี และคลองลำคูปากสระ หากประสบความสำเร็จจะเพิ่มคูคลองในเกาะเมืองอยุธยามีระยะทาง 24 กิโลเมตร จากเดิม 18 กิโลเมตร แม้จะสัดส่วนการเพิ่มจะน้อย แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
(เเผนผังเเสดงตำเเหน่งคลองโบราณที่เสนอเพื่อการฟื้นฟู)
ทั้งนี้ คูคลองจะอยู่คู่เกาะเมืองอยุธยาต่อไปได้ ดร.สุรเจตส์ บอกว่า ต้องสร้างฟังก์ชั่น นอกเหนือจากเป็นจุดเติมน้ำเข้าสู่บึง ระบายน้ำ และขับไล่น้ำเสีย โดยพัฒนาเป็นเส้นทางล่องเรือนั่นเอง แต่น่าเสียดายที่ขณะนี้การเสนอของบประมาณดำเนินโครงการมูลค่า 70 ล้านบาท ยังไม่สำเร็จ
อย่างน้อยโครงการพัฒนาครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการริเริ่มแนวคิดนี้ที่ดี โดยมิได้บูรณะเฉพาะโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังรู้จักเติมสีสันให้คูคลองมีชีวิตขึ้นมาเหมือนในกรุงเทพฯ เเละหลายเเห่งของไทยอีกด้วย .