'บิ๊กตู่'วอนอย่าสร้างความขัดแย้ง-ปลายพ.ย.แจง'จำนำข้าว'
"ไก่อู" เผย "บิ๊กตู่" ร่างสดด้วยลายมือเขียนเจตนารมณ์ ส่งถึงคนไทย วอนอย่าสร้างความขัดแย้งอีก ชี้ ปลาย พ.ย. ได้ฤกษ์แจงเอาผิดฟันพวกเอี่ยว "จำนำข้าว"
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.58 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำเอกสารขนาดเอ4 ที่เขียนโดยลายมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จำนวน 6 หน้า ระบุถึงเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงความมีเสถียรภาพของประเทศในปัจจุบัน โดย พล.ต.สรรเสริญ สรุปใจความว่า นายกฯ เน้นย้ำการกำหนดอนาคตประเทศไทย ต้องเป็นหน้าที่ของทุกส่วนร่วมกัน แม้กระทั่ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตก็ต้องมีส่วนร่วม ช่วยกันปฏิรูปวางพื้นฐานประเทศให้เข้มแข็งในระยะเปลี่ยนผ่าน ประชาธิปไตยไทยให้มีความมั่นคง แก้ไขปัญหาที่เป็นกับดักของประเทศ ด้วยการสร้างการรับรู้ของประชาชนให้มากขึ้นในทุกมิติ รู้เท่าทันทำให้เกิดความสมดุลทั้งการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อประเทศชาติ ประชาชน มีความเข้มแข็งจากภายใน เราก็จะมีประชาธิปไตยที่ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นสากล โดยสมบูรณ์
ทั้งนี้ ในเนื้อความเอกสารดังกล่าว ยังระบุต่อว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ การส่งเสริมความน่าเชื่อถือต่อการค้าการลงทุนของประเทศ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการค้า สถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของประชาชนและต่างประเทศดีขึ้น ตามลำดับ แต่สิ่งที่เป็นกังวล คือ การพูดจาให้ร้ายไม่เคารพกฎหมาย ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมทำงานตามหน้าที่ วิพากษ์วิจารณ์เพื่อไม่เกิดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม เสนอข่าวที่เป็นความขัดแย้ง ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่า ยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นอันตราย จึงขอความร่วมมือจากทุกพวกทุกฝ่ายอย่าสร้างหรือขยายความขัดแย้งกันอีกต่อไป แล้วต่างประเทศจะเข้าใจเราได้อย่างไร ในเมื่อเราเองยังไม่พยายามที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งของคนไทยลงลด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายกฯได้มอบหมายให้ตน และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงทำความเข้าใจการดำเนินการเอาผิดในโครงการจำนำข้าว ว่า ตนได้หารือกับ นายวิษณุแล้ว คาดว่าจะชี้แจงช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจาก อดีตนายกฯได้ขอเพิ่มพยานและหลักฐานเพิ่มเติม ขณะนี้ จึงอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการสอบสวนนัดหมายกับพยาน ต้องรอเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ก่อน จึงน่าจะเหมาะสมกว่า สำหรับการชี้แจงจะพูดถึงว่า ทำไมต้องใช้มาตรานั้น มาตรานี้ หรือทำไมต้องใช้ พ.ร.บ. ความรับผิดทางแพ่ง หรือทำไมไม่รอคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อน โดยสมมติว่า มีคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าอดีตนายกฯติดใจ ก็ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกับศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนคำสั่ง ดังนั้น ในที่สุดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่ดี หากปล่อยปละรัฐบาลนี้ต้องรับผิดชอบ
ขอบคุณข่าวจาก