โซ่ตรวนกลางทะเลกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก
“เราเคยพบกับเจ้าหน้าที่ของอินโดนิเซียบนเรือ พวกเขาแค่เข้ามาใกล้เรือและพูดคุยกับกัปตันทางวิทยุ ถามแค่ว่า ใครคือหัวหน้างาน บริษัทไหนเป็นเจ้าของเรือ หลังจากนั้น พวกเขาก็กลับไป คนจากสำนักงานของบริษัทได้โทรมาคุยกับกัปตันว่าเขาได้จ่ายเงิน จำนวนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มายุ่งกับเราอีกเลย และเราก็สามารถหาปลาจากที่ไหนก็ได้ในทะเล”
“นายหน้าเรียกพวกเราว่า “ลูกฟุตบอล” หมายความว่า เราอยู่ภายใต้เท้าของพวกเขา เขาสามารถเตะเราไปได้ทุกที่ เพราะเราไม่มีความสามารถที่จะไปไหนได้ด้วยตัวเอง 4 – 5 วัน ก่อนที่เรือแม่จะออก ผมและเพื่อนๆอีก 6 คน ที่ยังคงอยู่บนเรือประมง พยายาม ที่จะหลบหนีแต่เราทำไม่สำเร็จ พวกเขาต่อยและทำร้ายร่างกายเรา หลังจากนั้นก็ไม่ได้อนุญาตให้กินอะไรอีกเลย”
นี่คือถ้อยคำของจอ มู โต ชายวัย 35 ปี จากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกเรือบนเกาะอัลบล ประเทศอินโดนีเซีย ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคลิปวิดีโอสัมภาษณ์จากกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉายขึ้นในงานแถลงข่าวการรายงาน“โซ่ตรวนกลางทะเล:การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก"ณ ห้องกรกมล โรงแรมสุโกศล พญาไท
เฉกเช่นเดียวกันกับมิน มิน เตย์ ที่ให้สัมภาษณ์กับกรีนพีซว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้อง มีผู้ชายคนหนึ่งพยายามหนี แต่ก็ถูกจับได้และ ถูกทุบตี อีกคนถูกเฆี่ยนตีและทำร้ายขั้นรุนแรงจนขาหัก พวกเขามีกันอยู่ 13 คน เมื่อเห็นผู้ชายคนหนึ่งถูกทำร้ายจนขาหัก พวกเขาก็ไม่กล้าหนีอีกเลย
มิน มิน เตย์ เล่าว่า พวกเขาต้องทำงาน 20 ชั่วโมง ต่อวัน บนเรืออวนติดตา อะลูมินา พูสากา 718 ซึ่งจับแต่ปลาทูน่าและฉลาม เป็นเวลาถึง 15 เดือน เรือประมงนี้จับฉลามทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่จะทิ้งพวกปลาทูน่าขนาดเล็กและส่งกลับคืนที่ท่าเรือของ เกาะอัมบล ทุกๆ 3 เดือน ลูกเรือก็จะถ่ายของที่ได้จากเรือไปส่ง ขึ้นเรือแม่ชื่อ มารีนวัน
และการอยู่บนเรือตลอดระยะเวลา 15 เดือน เขาไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ไต้ก๋งเรือได้ตกลงกับเขา ไว้ในจำนวนเงิน 252 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ไต้ก๋งเรือให้มิน มิน เตย์ เซ็นเอกสารภาษาไทย ซึ่งเขาไม่เข้าใจ และไม่ได้รับคำอธิบายถึงรายละเอียดในเอกสารนั้น
“ไต๋กงบอกแค่ว่าจะถูกส่งกลับบ้านโดยเครื่องบินและได้รับเงินค่าจ้าง 1,489 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 40% ของจำนวนเงินเดือนที่ไต๋กงเคยให้สัญญาไว้”
ขณะที่อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ว่า หากฟังจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของลูกเรือประมงชาวพม่าแล้วจะพบช่องโหว่ของการจัดการปัญหาในเรื่องแรงงานบนเรือประมง ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล หรือการไม่มีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติควบคุมการจัดหางานสำหรับคนต่างด้าว หรือแม้กระทั่งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ที่จำเป็นจะต้องให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
อัญชลี มองถึงการกดขี่ขูดรีดแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ในอุตสาหกรรมประมงไทยที่มาจากกรอบทางกฎหมายที่ไม่เพียงพอ การตรวจสอบที่หย่อนยาน และระบบการติดตามควบคุม เฝ้าระวังและบังคับใช้ที่อ่อนแอโดยรัฐชายฝั่ง (coastal state) รัฐเจ้าของธง (flag state) และรัฐเจ้าของท่าเรือ (port state) แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีแรงผลักดันจากปัจจัยอื่นๆ อุตสาหกรรมประมงของไทยต้องพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือ อันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของการลงทุนในด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและการที่มีแรงงานข้ามชาติราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ 59/60 ขณะที่ผู้ประกอบการเรือประมงเอง ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ข้อมูลรายการสัมภาษณ์แรงงานประมงที่ทำงานบนเรือประมงไทยของกรีนพีซ ยังระบุว่า 94% ไม่มีสัญญาการจ้างงาน 42% ได้ค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ 40% ทำงานโดยไม่มีการจำกัดระยะเวลา 12% ถูกบังคับให้ทำงาน และ 10% ถูกทุบตีอย่างรุนแรง
และเมื่อสัมภาษณ์ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์บนเรือประมงไทย พบว่า 68% ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกคุกคามทางเพศ 52% พบเห็นการใช้ความรุนแรง 46% ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงระหว่างการทำงาน 23% ถูกกังขัง 6% ถูกบังคับให้เสพยาเสพติด
ทั้งนี้ในรายงานเรื่องโซ่ตรวนกลางทะเล:การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก ระบุด้วยว่า การสืบสวนของสำนักข่าวเอพีได้ติดตามปลาที่จับได้ผ่านการบังคับใช้ แรงงานที่ขนลงเรือห้องเย็นขนาดใหญ่หรือเรือแม่ (reefer) ของบริษัท Silver Sea Line จำกัด ที่มีฐานในประเทศไทย ขณะที่เรือทำการขนถ่ายปลาขึ้นท่าเรือที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางหลักของอาหารทะเลของไทย โดยสำนักข่าวเอพีได้ติดตามการขนส่งปลา ไปยังโรงงานแปรรูปและห้องเย็นที่อยู่ในจังหวัด และตามรถบรรทุก คันหนึ่งที่ขนปลาไปที่บริษัท Niwat ซึ่งส่งปลาให้กับบริษัทในเครือของ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
มาร์ค เดีย ผู้จัดการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า ในสถานการณ์ที่เผชิญกับการตรวจสอบอย่างละเอียด จากระดับนานาชาติเรื่องห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับ การกดขี่ขูดรีดแรงงานประมง ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศหยุดทำธุรกิจกับบริษัท Niwat ในทันที และแม้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) จะประกาศหยุดทำธุรกิจกับบริษัท Niwat แต่ไทยยูเนี่ยนฯ ก็ไม่ได้รับปากว่าจะหยุดการรับซื้อปลาทะเลที่ขนส่งมาขึ้นท่าเรือ โดยบริษัท Sliver Sea Line
“สาเหตุที่ต้องเรียกร้องให้บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาให้ความสำคัญเรื่องการจัดการบริหารเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการทำประมง เนื่องจากข้อมูลพบว่า ไทยยูเนี่ยน เป็นผู้ผลิตปลาทูนากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในแต่ละปีรับปลาทูน่ามากกว่า 96% จากพื้นที่การทำประมงนอกน่านน้ำไทย แต่บริษัทก็ให้คำมั่นสัญญาในการตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่าที่จับในน่านน้ำไทย ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น และไม่ได้พิจารณาถึงเรื่องการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเลที่มาจากแหล่งการทำประมงอื่น ทั้งๆที่การขนถ่ายปลากลางทะเลคือการเพิ่มความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในการกักตัวแรงงานไว้บนเรือและอยู่ในทะเลโดยไม่มีกำหนด”
มาร์ค เดีย สรุปสั้นๆ ทิ้งท้ายก่อนจะจบการแถลงข่าวสั้น ๆ ว่า กรีนพีซเรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมปลาทูน่า โดยลงมือดำเนินการแทนที่จะออกเพียงแถลงการณ์เชิงนโยบาย ไทยยูเนี่ยนจะต้องแสดงให้เห็นถึงแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการบรรลุถึงพันธะกิจด้านความยั่งยืนของตัวเองที่ตั้งเอาไว้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถติดตามความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ