สมาคมวางแผนครอบครัวฯ หนุนใช้ 'คู่มือลูกเสือ' เสริมทักษะชีวิตเด็ก
สมาคมวางแผนครอบครัวฯ จับมือ สสส.ทำความเข้าใจผู้บริหารและครูนำหลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตถึงตัวเด็ก เตรียมพัฒนาโรงเรียนแบบเทียบระดับ หวังผลลัพธ์เด็กเป็นคนเก่ง คนดี เอาตัวรอดในสังคม
เร็ว ๆ นี้ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนต้นแบบลูกเสือภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เพื่อทำความเข้าใจในโครงการลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาด้วยกระบวนการลูกเสือ โดยมีผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนต้นแบบลูกเสือในภาคกลางและกรุงเทพฯ เข้าร่วมจำนวน 40 แห่ง ณ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ
น.ส.ลัดดา จิตรวัฒนแพทย์ ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า ทักษะชีวิตมีความสำคัญมากในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน เพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กในยุคนี้ต้องรู้จักคิดเป็น วิเคราะห์เป็น รู้เท่าทันสื่อโดยเฉพาะสื่อทางไอที และต้องเห็นคุณค่า มีความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งถือเป็นภูมิต้านทานให้เด็กอยู่ในสังคมได้ ดังนั้นสมาคมฯ ร่วมกับสำนักงานลูกเสือจึงได้พัฒนาเป็นหลักสูตรกิจกรรมลูกเสือ และจัดทำเป็นคู่มือการจัดกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต
โดยแบ่งตามประเภทลูกเสือ คือ สำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่ และวิสามัญ นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง 26 แห่ง ผลปรากฏว่าครูที่ใช้คู่มือดังกล่าวในการสอนวิชาลูกเสือ สามารถเสริมสร้างทักษะชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ และคู่มือดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติพิมพ์ที่หน้าปก แสดงการรับรองอย่างเป็นทางการจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
“ในระยะต่อจากนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนาครูผู้สอนและวิทยากรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติในการจัดกิจกรรมลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อการขยายผลไปสู่เด็กและเยาวชน โดยใช้เทคนิคการพัฒนาด้วยกระบวนการเทียบระดับ (Benchmarking) ซึ่งเป็นกระบวนการวัดและเปรียบเทียบวิธีการปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า เพื่อนำผลการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองมุ่งสู่ความเป็นเลิศ”ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าว และว่า โดยมีระยะการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.58 – 15 ก.ค.61 เพื่อหาโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศในกิจกรรมลูกเสือปีละ 30 แห่ง และมีลูกเสือในโรงเรียนเป้าหมาย 150 แห่ง จำนวน 15,000 คน มีทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้น
น.ส.ลัดดา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เราทำคู่มือสำเร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะเน้นให้หลักสูตรลงไปถึงตัวเด็ก ให้ครูเอาไปสอนอย่างจริงจัง เราเชื่อว่าหากสอนตามนี้เด็กจะมีทักษะชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีระเบียบวินัยดีขึ้นอย่างไร ไปทำอะไรเพื่อสังคม อย่างหลักสูตรใหม่นี้เราจะเน้นทักษะชีวิต ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างของเดิมในวิชาลูกเสือ เด็ก ๆ ไปเก็บขยะ แต่หลักสูตรใหม่นี้เด็ก ๆ จะต้องนำมาคิดต่อว่าขยะที่เก็บมาได้นั้นต้องทำอย่างไร เอาไปคัดแยก นำไปขายได้เงินมา แล้วนำเงินที่ได้นั้นไปแบ่งปันให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งจะสอนให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เป็น และมีความภาคภูมิใจในตนเอง
ที่สำคัญการที่จะให้ครูเอาคู่มือลงไปสอนอย่างครบถ้วน ก็จะใช้วิธีเทียบสมรรถนะว่า โรงเรียนไหนเด่นด้านอะไร เช่น บางแห่งเก่งด้านบำเพ็ญประโยชน์ บางแห่งเด่นเรื่องการทำกิจกรรมลูกเสือ ก็ไปเรียนรู้และกลับมาทำแผนพัฒนาตนเองให้เก่งเหมือนโรงเรียนนั้น ซึ่งการเปรียบเทียบกิจกรรมเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้การจัดกิจกรรมลูกเสือในโรงเรียนจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก และการเทียบระดับนี้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแข่งขันกัน แต่เป็นการช่วยเหลือกันอย่างมีทิศทาง
“ในการนี้โรงเรียนที่มีความสนใจจะนำหลักสูตรใหม่นี้ไปใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ของ สสส. สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสมาคมวางแผนครอบครัวฯ” ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าว
ด้านนายสานิตย์ เจนสัญญายุทธ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ปราจีนบุรี เขต 2 กล่าวว่า การประยุกต์ทักษะชีวิตเข้ามาใช้ในวิชาลูกเสือนั้นมีความสำคัญอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาเราจะพยายามเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็ก ๆ อยู่แล้วก็ตาม แต่หากเด็กมีทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เด็กรู้จักปฏิเสธสิ่งไม่ดี เป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรมและสามารถป้องกันสิ่งร้ายเข้ามาสู่ตัวเด็กได้ หลังจากนี้ตนในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ก็จะวางแผนไปทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรนี้กับบุคลากรภายในโรงเรียนก่อน จึงจะขยายไปยังโรงเรียนเครือข่ายในสำนักงานเขตการศึกษา อย่างน้อยเขตคุณภาพละ 1 แห่ง
ขณะที่นางกาญจนา ผลถาวร ครูโรงเรียนวัดตาลกง (ธรรมศรียาทร) อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ปกติกิจกรรมลูกเสือนับว่าเป็นกิจกรรมที่เพิ่มทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ อยู่แล้ว เช่น กิจกรรมก่อกองไฟ การทำอาหาร ที่สอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่น หากมีการปรับปรุงเพิ่มเสริมเข้าไปอีก เชื่อว่าจะส่งผลให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี เพราะสิ่งสำคัญในขณะนี้เด็กยังขาดทักษะการปรับตัวเข้ากับสังคม บางคนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ขาดการสังเกต ขาดการคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะในช่วงวัยมัธยม หากเราสามารถจัดกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของเขา เด็กก็จะไม่ไปออกนอกลู่ได้
“คู่มือดีมาก ในคู่มือนั้นบรรจุให้ชัดเจนว่าชั่วโมงนี้ต้องใช้เพลงอะไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร เล่าเรื่องอะไรให้เด็กฟัง ดังนั้นในการสอนแต่ละชั่วโมงจะเป็นการสอนที่ต่อเนื่อง หลังจากกลับไป โรงเรียนในฐานะเป็นศูนย์เครือข่ายของการจัดกิจกรรมลูกเสืออยู่แล้วก็จะขยายผลให้โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงใน อ.ท่ายาง อ.แก่งกระจาน อ.บ้านลาด และ อ.ชะอำ ได้นำไปขยายผลต่อ” ครูโรงเรียนวัดตาลกง กล่าว
ด้านนายณฐพัชร์ ดวงนิล ครูโรงเรียนบ้านเขาคันทรง สพป.ชลบุรี 3 กล่าวว่า ผมสอนลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ม.ต้น สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะปัจจุบันทักษะชีวิตเด็กยุคใหม่น้อยลง บางคนเจอปัญหาไม่รู้จะทำไง เหมือนเราไปไกด์ไลน์ให้เด็ก ซึ่งเด็กเดี๋ยวนี้เข้าไปหาคำตอบในโซเชียลวุ่นวาย เราก็ช่วยเด็กได้ส่วนหนึ่ง ทางบ้านก็ส่วนหนึ่ง ปกติ วิชาลูกเสือเป็นวิชาที่สอนให้เด็กรู้จักมีระเบียบ วินัย ซึ่งหากมีการบูรณาการเข้ามา ก็ทำให้มันชัดเจนขึ้น .