องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ปัดเข้าร่วมเป็นคณะกก.ธรรมาภิบาลประมูลคลื่น 4 G
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ปัดร่วมเป็น กก.ธรรมาภิบาล ประมูลคลื่น 4G กสทช. ยันไม่ใช่แนวทางองค์กร ชี้ต้องตกลงมาตรฐานการทำงานให้โปร่งใสตั้งแต่ต้น
กรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ผู้ประกอบการเข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 900 เมกะเฮิรตซ์
และกสทช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลการประมูลคลื่นความถี่ในกิจกรรมโทรคมนาคม ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์
โดยให้เหตว่า เพื่อให้การประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และตรวจสอบได้ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 (3) ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555
เลขาธิการ กสทช. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลการประมูลคลื่นความถี่ในกิจกรรมโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่
ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ 1.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ประธานคณะทำงาน) 2.ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (ผู้ทำงาน) 3.ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ทำงาน) 4.ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ผู้ทำงาน) 5.ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย (ผู้ทำงาน) 6.ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) (ผู้ทำงาน) 7.รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร (เลขานุการ) 8.ผู้แทนสำนักงาน กสทช. (ผู้ช่วยเลขานุการ) และ 9.ผู้แทนสำนักงาน กสทช. (ผู้ช่วยเลขานุการ)
ขณะที่ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ ระบุว่า 1.ติดตาม ตรวจสอบ และเข้าร่วมสังเกตการณ์ กระบวนการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์ กรณีสมยอมราคา นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งนี้ จนถึงวันที่การรับรองผลการประมูลแล้วเสร็จ เพื่อให้การประมูลเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม แล้วรายงานผลต่อเลขาธิการ กสทช.
2.รายงานต่อเลขาธิการ กสทช. กรณีที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย พฤติกรรมการสมยอมในการเสนอราคาประมูลคลื่นความถี่ ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป และ 3.ดำเนินการอื่นใด ตามที่เลขาธิการ กสทช. มอบหมาย
นอกจากนี้ ระบุว่า ให้บุคคลภายนอกที่ได้รับแต่งตั้ง ได้รับค่าตอบแทนในการเข้าร่วมประชุม ครั้งละ 3,000 บาท โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 22 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรับ การจ่าย และการเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 14 ต.ค. 58 ลงชื่อ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2558 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ การประมูลคลื่น 4 G ของ กสทช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. และ 15 ธ.ค. 2558 นี้
ด้วยเหตุผลสำคัญคือ
"การส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบหรือเฝ้าระวังในกิจกรรมหนึ่ง ๆ ของหน่วยงานรัฐ จะทำโดยกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เช่น ข้อตกลงคุณธรรม มาตรการสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ และ มาตรการสร้างความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
โดยโครงการที่เข้าร่วมมาตรการที่กล่าวนี้ ต้องมีการตกลงในวิธีการและมาตรฐานการทำงานที่โปร่งใสร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น
ดังนั้น กรณีการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. นี้ จึงมิใช่แนวทางการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และไม่สามารถส่งผู้แทนมาร่วมเป็นคณะกรรมการตามที่ท่านแจ้งมาได้"