ชาวบ้านรุมยำนโยบายพัฒนารัฐ ชูอุตสาหกรรม-ทอดทิ้งเกษตร-กดวิถีชุมชน
เวทีเสวนาชาวบ้าน “ถกแผนพัฒนาประเทศ บั่นทอนชุมชน” ชาวบ่อนอก ประจวบฯฟันธงไม่เอาโรงไฟฟ้า เห็นตำตาบทเรียนคนมาบตาพุด พ่อหลวงจอนิ ชี้หวังพึ่ง สว.-สส.-รบ.ไม่ได้ คนจนต้องรวมพลังเสียงร้องจึงดัง
วันที่ 22 ก.พ. 54 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโกมลคีมทองจัดงาน “40 ปี มูลนิธิโกมลคีมทอง มองไปข้างหลัง-แลไปข้างหน้า” มีการเสวนาชาวบ้าน “ผลกระทบจากนโยบายรัฐกับแผนพัฒนาประเทศ” โดยนางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธุ์ กล่าวว่านโยบายพลังงานของประเทศ รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นการสร้างความเจริญให้ประเทศ สร้างงานให้ชุมชน โดยไม่ถามชาวบ้านว่าต้องการหรือไม่
นางกรณ์อุมา กล่าวว่า ชาวประจวบฯ มีอาชีพประมงที่หล่อเลี้ยงครอบครัว และมีวิถีเกษตร ปลูกพืชส่งออกสำคัญอันดับต้นๆคือสับปะรด แต่แผนพัฒนาโดยรัฐบาลที่ลงมากลับเน้นอุตสาหกรรมซึ่งไม่ได้ตอบสนองความต้องการของพื้นที่
“ถามว่าภาคครัวเรือนในช่วงที่ร้อนที่สุดใช้ไฟสูงแค่ 200-300 เมกะวัตต์ แล้วมาบอกว่าโรงไฟฟ้าจะสามารถผลิตได้ถึง 4,000 เมกะวัตต์ ทำไปเพื่อใคร”
ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ยังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมาบตาพุดคือตัวอย่างนโยบายรัฐที่ยึดพื้นที่ชุมชน โดยอ้างการพัฒนาทั้งระบบ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ เพราะหากใช่ก็ต้องดีทั้งระบบ จึงเป็นบทเรียนทำให้ชาวบ่อนอกลุกขึ้นมาปฏิเสธนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมองว่าการพัฒนาที่เหมาะกับคนในพื้นที่ต้องเน้นที่ภาคเกษตรกรรมหรือการท่องเที่ยว
“การต่อสู้กว่าสิบปีของชาวบ้านเหมือนสะสมแต้ม ไม่เแหงนมองอัศวินมาขาวที่ไหน ถามว่าชัยชนะจริงๆ ตายใหม่แล้วเกิดใหม่สามชาติก็อาจไม่เห็น แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมของรัฐเวลาคิดแผนพัฒนาพลังงานไม่ได้คิดแยกส่วนกับการพัฒนานาประเทศเลย แต่เอาแค่ฐานคิดไปผูกติดกับจีดีพีว่าจะโตขึ้นเท่าไหร่” นางกรณ์อุมา กล่าว
นายอุทัย สะอาดชอบ ตัวแทนเครือข่ายป่า สมัชชาคนจน กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ว่าเกิดจากรัฐต้องการเอาพื้นที่ให้หน่วยงานด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) และอพยพชาวบ้านออก จึงเกิดการเรียกร้องต่อสู้ยาวนาน ขณะที่ขั้นตอนราชการที่ช่วยเหลือชาวบ้านล่าช้า ยื้อเวลา การต่อสู้กับนโยบายพัฒนาของรัฐจึงจำเป็นต้องอาศัยการรวมพลังของชาวบ้านด้วยกันเอง
“ที่ดินสำหรับชาวนาเปรียบเหมือนหม้อข้าว ใครมาขับไล่ก็เหมือนเอาหม้อข้าวเราไป ที่ผ่านมาเรามองปัญหาแบบตื้นๆ เรียกร้องแบบง่ายๆ วันนี้เราคิดเรื่องการเคลื่อนไหวต่อสู้ระยะยาว เช่น ตั้งกองทุนต่างๆเพราะชาวบ้านไม่มีทุนสนับสนุน” นายอุทัย กล่าว
พ่อหลวงจอนิ โอ่เดชา ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า กฎหมายป่าไม้กระทบต่อการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ซึ่งถูกกล่าวหาอย่างผิดๆว่าทำลายป่า ขณะเดียวกันชาวบ้านยังต้องเผชิญกับปัญหากลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่ทำเหมือง ซึ่งทั้งสองกรณีกลับไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขจากรัฐ ขณะที่ชาวบ้านต่อสู้เพื่อวิถีทำกินในที่ดินของตนเอง
“แม้มีมติ ครม.ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ชาวบ้านจึงต้องมาเรียกร้องด้วยตัวเอง ไม่ต้องพูดถึง สส.สว. มีไว้ก็ไม่มีประโยชน์ การต่อสู้ของคนจนก็เหมือนไก่กับอีเห็น อีเห็นชอบกินไก่ คนจนต้องหาพวกที่ถูกรังแกเหมือนกันมารวมตัวถึงแก้ปัญหาได้” พ่อหลวงจอนิ กล่าว
ทั้งนี้มีการประกาศบุคคลเกียรติยศให้กับ นายสันติพงษ์ มูลฟอง นักพัฒนาที่ต่อสู้เพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ, รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ที่ต่อสู้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และบุกเบิกงานเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชน, นายสุรพล จรรยานุกูล ที่เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในสถาบันการศึกษา และ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์ ที่มีบทบาทในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม.
ภาพประกอบข่าว : http://www.thaireform.in.th/