ทุกๆ วันจะมี 40 ครอบครัว ที่สมาชิกต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
"..อุบัติเหตุทางถนน คือสาเหตุอันดับหนึ่ง ที่คร่าชีวิต “เด็กและเยาวชน” อายุ 15-29 ปี และกว่า 2 ใน 3 ของเหยื่อที่เสียชีวิตเป็นผู้ชาย ผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงแต่เป็นภาระให้กับครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริการสุขภาพ ทั้งด้านงบประมาณและภาระงานของบุคลากรที่มีจำกัด ทั้งๆ ที่ความความสูญเสียและปัญหาเหล่านี้ ป้องกันได้.."
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558 ที่ โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ มีการจัดงานแถลงข่าว รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปี 2015 โดยมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนน ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
ทั้งนี้ ในรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปี 2015 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทั่วโลกยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1.25 ล้านคน ต่อปี จากเหตุการรถชนบนถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียในประเทศยากจน ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มี 79 ประเทศที่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ เป็นเพราะเกิดความสำเร็จจากความจริงจังในการทำตามเสาหลัก 5 เสา คือ การพัฒนาตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และปรับปรุงถนน กับ ยานพาหนะให้ปลอดภัยได้จริง ผิดกับอีก 68 ประเทศที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
ในรายงานขององค์การอนามัยโลก ยังย้ำให้เห็นว่า ผู้ใช้ถนนทั่วทั้งโลกไม่ได้รับการป้องกันอย่างเท่าเทียม กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยรายได้ต่อหัวของประชากรที่สูงมาก กลับมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า ทวีปแอฟริกาที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด
หลายประเทศขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนน แต่ยังต้องลงมือให้มากขึ้นไปอีก ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มี 17 ประเทศ มีการบัญญัติตัวบทกฎหมายอย่างน้อยเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเป็นปฏิบัติการเด่น อย่างการใช้เข็มขัดนิรภัย การจับดื่มแล้วขับ จำกัดความเร็ว การสวมหมวกนิรภัย และการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก
ส่วนเรื่องสำคัญที่ประกาศในรายงาน ได้แก่
• มี 105 มีกฎหมายบังคับการคาดเข็มนิรภัยทุกตำแหน่งนั่งในยานพาหนะ
• มี 34 ประเทศที่มีกฎหมายดื่มไม่ขับ ที่ดีมาก มีการกำหนดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้ต่ำกว่า 0.05 g/dl ในผู้ใหญ่ พร้อมกับจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเด็กและคนเริ่มหัดขับ ต้องไม่เกิน 0.02 g/dl
• มี 44 ประเทศ ออกกฎหมายสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน ทั้งสภาพถนนและขนาดรถยนต์ ต้องการการสวมหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐานและต้องกระชับสายคาดให้แน่น
• มี 53 ประเทศ มีกฎหมายบังคับใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในทุกตำแหน่งที่นั่งตามวัยของเด็ก ความสูง หรือน้ำหนัก และประยุกต์กับอายุ ความสูงของเด็กหากจะนั่งที่นั่งด้านหน้ารถ
ในรายงานยังระบุด้วยว่า รถยนต์ที่ขายในกว่า 80% ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำกับปานกลาง
และมีข้อเสนอแนะที่สำคัญว่า การขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมักเป็นเหตุให้กฎหมายมีประสิทธิภาพด้อยลงในการลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ดังนั้น ต้องดำเนินการให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ความต้องการของคนเดินเท้า คนปั่นจักรยาน และคนขี่จักรยานยนต์ ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 49 ของการเสียชีวิตจากอุบัติทางถนนทั่วโลก ซึ่งการทำให้ถนนทั่วโลกปลอดภัยคงไม่อาจเป็นจริงได้ ถ้าการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนไม่คำนึ่งถึงความต้องการของผู้ใช้ถนนกลุ่มนี้
DR.Liviu Vedrasco ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ประเทศไทย มีถนนหนทางดี แต่สิ่งที่ขาด คือ อุปกรณ์การควบคุมการใช้งานถนน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ถ้าหากสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้ามาติดตามข้อมูลเรื่องอุบัติเหตุอย่างจริงจัง และช่วยกันส่งสัญญาณไปยังผู้มีอำนาจในประเทศให้หยิบเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติ จะช่วยแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้
ขณะที่ นายแพทย์ วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ โรงพยาบาลขอนแก่น ชี้ว่า ข้อมูลจาก WHO เป็นการคาดประมาณซึ่งการรวบรวมจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขององค์การอนามัยโลกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่มีการจัดเก็บข้อมูลแบบดีมากเป็นระบบ (ประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ สิงคโปร์) กลุ่มถัดมาเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บข้อมูลหลายแหล่ง (ไทย อิหร่าน เวียดนาม และอินเดีย) กลุ่มประเทศที่มีประชาการน้อยกว่า 150,000 คน และกลุ่มที่มีการจัดเก็บข้อมูลแบบไม่คงที่ (กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย)
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า การประเมินขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยกับหลายๆประเทศ ยังมีปัญหาทุกเสาหลัก ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ด้านยานพาหนะปลอดภัย ด้านถนนปลอดภัย ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งประเทศไทยได้รับการยกให้การแพทย์ฉุกเฉินมีการดำเนินงานที่ดีที่สุด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระยะเวลาที่ผ่านไปครึ่งทศวรรษ หากต้องการให้บรรลุเป้าหมาย ตามปฏิญญาสากลที่ทำไว้ในกรุงมอสโคว (2009) ประเทศไทยต้องมีการทำงานมากกว่านี้ ต้องจัดการให้ครบตลอดทั้ง 365 วัน ไม่ใช่จัดการเฉพาะ 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลเท่านั้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งเราต้องมีสถาบันหรือหน่วยงานที่เกิดขึ้นมารับผิดชอบงานด้านนี้โดยเฉพาะ
สำหรับข้อมูลในประเทศไทย หากคำนวณตามข้อมูลรายงาน WHO พบว่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 2-3 คน ต่อชั่วโมง อัตราผู้เสียชีวิตเป็นชาย มากกว่าหญิง ประมาณ 4 : 1 สาเหตุการเสียชีวิตกว่า 83% มาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่ดีพอ เช่น การควบคุมความเร็ว ในเมืองไม่ควรเกิน 50 กม./ชม. การบังคับใช้เข็มขัดนิรภัย เบาะหลัง เป็นต้น มาตรฐานรถยนต์ล่าสมัย ประชาชน ไม่ตระหนักถึงสิทธิ ต้องแยกทางขับขี่จักรยานยนต์ ออกจากทางรถยนต์หลัก ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบอ่อนแอ ถูกการเมืองแทรกแซง ควรจะมีหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบเป็นหลัก ทำงานแบบ "สหสาขาวิชาชีพ" และกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ มีงบประมาณและการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอ มีการติดตาม-กำกับ และประเมินผลที่จริงจังต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ WHO เสนอแนะให้แต่ละประเทศที่มีปัญหาไปเร่งหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ แผนการทำงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริหารระดับสูงของไทย คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย จะขึ้นนำเสนอในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กรุงบราซิลเลียในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้ ใน “ปฎิญญาบราซิเลีย” (Brazillia Declaration) ที่ องค์การสหประชาชาติ และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เชิญผู้นำของทุกประเทศทั่วโลกมาประชุมกันเพื่อทบทวนและหาวิธีรับมือกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่คร่าชีวิตคนบนโลกนี้ปีละกว่า 1.25 ล้านคน (หรือ ทุก ๆ 25 วินาที จะมีหนึ่งคนเสียชีวิตบนถนน) หลังจากที่ 5 ปีก่อนหน้านี้ ได้ร่วมกันประกาศ “ปฎิญญามอสโก” เพื่อกำหนดให้มี “ทศวรรษเพื่อความปลอดภัยทางถนน” Decade of Action for Road Safety 2011-2020 โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการตายลงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ในปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ.2563
ส่วน นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า สถิติและอันดับที่ปรากฏในรายงานฯ ไทยอยู่ใน อันดับ 2 ของโลก ที่มีคนตายบนถนนปี 2015 จำนวน 24,237 คน (ปี 2013 ยอดผู้เสียชีวิต 26,312 คน ลดจากรายงานฉบับก่อนหน้า 2,075 คน) หรือคิดเป็นอัตราเสียชีวิต 36.2 ต่อประชากรแสนคน (ปี 2013 อัตราการเสียชีวิต 38.1) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกถึง 2 เท่า (เฉลี่ยอัตราตายทั้งโลก 17 ต่อประชากรแสนคน) และประเทศไทย ยังเป็น อันดับ 1 ของโลกในอัตราตายจากรถจักรยานยนต์ (คนไทยตายจากจักรยานยนต์ 26.3 ต่อประชากรแสนคน)
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลการตายที่คำนวณเชิงคณิตศาสตร์ จาก 3 ฐานข้อมูลตำรวจ สาธารณสุข และประกันภัย พบว่าจำนวนใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการตายที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกๆ วัน จะมี 40 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิก และทุกๆ วันอีก 15 ครอบครัวต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ที่สำคัญหนึ่งในสามของผู้เสียชีวิตหรือพิการเป็นผู้ที่เป็นกำลังหลักของครอบครัว ไม่นับรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่รวมกันปีละ 2.3 แสนล้านบาท องค์การอนามัยโลกบ่งบอกชัดแล้วว่า “อุบัติเหตุทางถนน” ที่ยังคงเป็นทั้งปัญหาหลักของการพัฒนา เป็นปัญหาด้านสุขภาพ (Public Health Problem) และเป็นสาเหตุการตายและการบาดเจ็บอันดับต้นของโลก โดยทุกๆ ปี อุบัติเหตุทางถนนได้คร่าชีวิตคนบนโลกไปกว่า 1.25 ล้านคน และบาดเจ็บอีก 50 ล้านคน และร้อยละ 90 ของความสูญเสียเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา
"เราตระหนักอีกว่า อุบัติเหตุทางถนน คือสาเหตุอันดับหนึ่ง ที่คร่าชีวิต “เด็กและเยาวชน” อายุ 15-29 ปี และกว่า 2 ใน 3 ของเหยื่อที่เสียชีวิตเป็นผู้ชาย ผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงแต่เป็นภาระให้กับครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริการสุขภาพ ทั้งด้านงบประมาณและภาระงานของบุคลากรที่มีจำกัด ทั้งๆ ที่ความความสูญเสียและปัญหาเหล่านี้ “ป้องกันได้” น่าตกใจที่แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บเข้ามารับบริการ (เฉพาะสถานบริการกระทรวงสาธารณสุข) กว่า 1 ล้านคนหรือวันละ 2,700 ราย"
"สิ่งที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นคือ (1) ทำให้คนสังคมไทย รับรู้และตระหนักว่า “อุบัติเหตุทางถนน” เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม และ (2) ทำให้ผู้บริหารและผู้ที่ดูแลรับผิดชอบ ต้องเน้นการพัฒนา “ระบบจัดการที่เข้มแข็ง” เพื่อแก้ไขที่ “รากปัญหา” และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ซ้ำซาก"
นายแพทย์ธนะพงศ์ ยังระบุด้วยว่า ขณะที่ 'สื่อมวลชน' มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยได้ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสารแบบเจาะลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ เพื่อส่งสัญญาณแรงๆ ให้ประชาชนรับทราบว่า การเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุที่แท้จริงซ่อนอยู่ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องโชคชะตาและเวรกรรม น่าจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้นมากกว่านี้
(ดาวน์โหลด รายงาน Global Status Report on Road Safety 2015 ได้ที่ http://who.int/violence_injury_prevention/road_safety_status/2015/en/ และสามารถติดตามข่าวสาร ความรู้ ผลการศึกษาวิจัยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ หรือผลงานทางวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนได้ที่ www.roadsafetythai.org หรือ www.thairoads.org)