“ปฏิวัติเหมือนโยนหินลงจอกแหน” เสวนาทำอย่างไรให้ไทยไร้โกง-รอดทั้งชาติ?
“เมื่อเราเห็นประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลว แล้วเราต้องรู้สึกทนไม่ได้ ต้องคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องต่อสู้ ร่วมจิตร่วมใจกัน ผมเชื่อว่า ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองอยู่ คนไทยเก่ง มีสติปัญญา ไม่อย่างนั้นคงรักษาบ้านเมืองไม่ได้จนบัดนี้ แต่จะเอาตัวรอดแบบแต่พอตัวไม่ได้ ต้องรอดทั้งชาติ ต้องขอฝากการเปิดตัวของมูลนิธิครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้มเข็งจนกว่าลมหายใจสุดท้ายของพวกเรา”
นอกเหนือไปจากการเปิดตัว “มูลนิธิต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ” นำทีมโดย “วิชา มหาคุณ” กระบี่มือหนึ่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานมูลนิธิฯ และมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พร้อมกับอธิการบดีรวม 10 สถาบัน และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เซ็นสัญญาร่วมมือกันเป็นเครือข่ายต่อต้านการทุจริต หวังเห็นประเทศไทย “โปร่งใส-ไร้คอร์รัปชั่น”
ในการเปิดตัวดังกล่าว มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทำอย่างไร…ประเทศไทยไร้ทุจริต” ที่มี “วิชา” พร้อมด้วย “จุรี วิจิตรวาทการ” กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย (ACT) ถกกันเพื่อหาทางออกเรื่องนี้
เป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้เห็น ดังนี้
“จุรี” เปิดฉากอธิบายว่า การทำให้ไม่โกงมีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่
1.การใช้กฎหมายและระเบียบบังคับ ซึ่งกฎหมายเรามีเยอะแต่สิ่งเหล่านี้เป็นการบังคับภายนอก เพราะไทยเรานั้นมีเรื่องของการท้าทายกฎหมาย ขนาดเขาให้เดินข้ามทางม้าลาย แต่ ปรากฏว่าสะดวกตรงไหนก็ข้ามเลย นี่คือการไม่เคารพกฎหมาย หรือต่อมามีการเอาจริงเอาจัง มีการเสียค่าปรับก็กลัวกันแค่ระยะสั้น เพราะเราไม่ได้เคารพกฎหมายจากจิตวิญญาณ
2.เรื่องบทลงโทษทางสังคม คนที่ทำผิดเรายังยกมือไหว้ หรือถ้าเขาร่ำรวยเราก็กลัวเขา เพราะการลงโทษทางสังคมไม่เข้มข้น บางประเทศนักการเมืองโกงต้องลาออกทันที นี่คือบทลงโทษทางสังคม เพราะเขาละอาย สิ่งเรานี้เรายังไม่มี ยังอ่อนด้อยอยู่
3.การปลูกฝั่งจิตสำนึก แม้ทำยากแต่ต้องทำ โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่ พ่อแม่ต้องชี้ให้ลูกเห็นว่าอะไรผิดอะไรถูก ถ้าพ่อแม่มักง่ายเด็กจะถูกปลูกฝังแบบนั้น เราต้องทำอย่างไรให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี ต้องพูดซ้ำๆ จนลูกจำ ให้เด็กรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพราะวันหนึ่งถ้าเขาเผชิญสถานการณ์ที่ล่อแหล่มเขาจะไม่ทำมัน
“กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทยดีหลายฉบับ แต่ถ้าจิตใจคนไม่ดีก็จะหาทางซิกแซกกัน มูลนิธิต่อต้านการทุจริตจะช่วยสังคมอย่างแท้จริงในหลักวิชา การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคล” เป็นความเชื่อมั่นของ “จุรี” ต่อการก่อตั้งมูลนิธิฯแห่งนี้
ขณะที่ “ประมนต์” ยอมรับว่า ประเทศไทยถูกตีตราว่า “ห่วย” ในเอเชียในเรื่องคอร์รัปชั่น !
ก่อนอธิบายว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยมีสูง เทียบกับเพื่อนบ้านด้วยกันเราสูงมาก เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเจ็บช้ำเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งตนยังยินดีว่า หลายปีที่ผ่านมา มีกระบวนการรณรงค์ออกมาต่อสู้กับการทุจริต มีภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตนอยากเน้นเรื่องป้องกันว่า ในระหว่างรอเยาวชนที่กำลังปลูกฝังให้เขามีจิตสำนึก แต่ก็จะปล่อยให้ประเทศเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ต้องหาทางป้องกันรวมถึงปราบปรามด้วย
“สำหรับภาคเอกชนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา การทุจริตเกิดขึ้นเพราะเป็นการสมยอมระหว่างคนให้กับคนรับ ซึ่งเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องทำให้กระบวนการต่าง ๆ ระหว่างรัฐกับเอกชนมีความโปร่งใส การทุจริตก็จะเกิดขึ้นได้ยาก”
“ประมนต์” เห็นว่า ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์) เข้ามา และตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีเรื่องหนึ่งที่ทำแล้วมีผลคือ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ในอดีตมีปัญหาสมยอมกันระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ต่อไปต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปสังเกตการณ์ว่า กระบวนการประมูลนั้น ๆ มีความโปร่งใสหรือไม่ มีการเขียน TOR อย่างไร และกระบวนการจัดประมูลสมบูรณ์หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ราคากลางมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะในอดีตมีการตั้งราคากลางสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งตอนนี้มีมาตรการแล้ว โครงการใหญ่ที่อยู่ในความสนใจประชาชนต้องมีกระบวนการเหล่านี้ และต่อไปจะมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างออกมา
“ทุกคนจะต้องถามตัวเองว่า เราจะมีส่วนร่วมกันได้อย่างไร ขอฝากไว้ว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ข้าราชการ เอกชน หรือประชาชน เราต้องตั้งใจมีส่วนร่วมแล้วบอกไม่ยอมรับทุจริต บอกคนอื่นไม่ให้ไปร่วมสังฆกรรมการกับทุจริต เพราะการลงโทษทางสังคมคือ พลังที่สูงที่สุด” ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ยืนยัน
ปิดท้ายที่ “วิชา” ระบุว่า การทุจริตมีทุกหย่อมหญ้า เป็นปัญหามหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่จะแก้ปัญหา แต่เราต้องไม่ท้อแท้หรือสิ้นหวัง เวลาลงพื้นที่จะมีชาวบ้านบอกว่า ท่านอย่าทิ้งงานนี้ อย่าปล่อยให้บ้านเมืองกลับสู่รอยเดิม จึงเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เข้าสู่รอยเดิม
“การปฏิวัติเหมือนโยนหินลงจอกแหน แต่จอกแหนไม่ได้หายไปไหน เพราะเราไม่ได้เก็บมัน ไม่ได้ทำให้น้ำใสสะอาด โจทย์นี้คำตอบจึงอยู่ที่ชุมชน ผมได้บอกกับนายกฯไปว่า เราจะทำจากข้างล่างเพื่อขึ้นไปข้างบน ตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญมาก เพราะสิ่งที่จะหล่อหลอมจิตสำนึกสังคมก็มาจากคอบครัว โรงเรียน และศูนย์กลางของศาสนาต่าง ๆ ซึ่งตามยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตในการศึกษาและศาสนาที่รับผิดชอบ”
“วิชา” เห็นว่า ยังมีเส้นทางเดินอีกยาวไกล บ้านเมืองมีปัญหามานานต้องแก้ไขอีกเยอะ มูลนิธิต่อต้านการทุจริตหรือองค์กรต่าง ๆ จะจับมือกันแบบหลวม ๆ คงไม่ได้ แต่ต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ต้องเป็นเครือข่ายแท้จริง ไม่ใช่แบบเทียม ต้องผนึกด้วยจิตวิญญาณของนักต่อสู้
“เมื่อเราเห็นประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลว แล้วเราต้องรู้สึกทนไม่ได้ ต้องคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องต่อสู้ ร่วมจิตร่วมใจกัน ผมเชื่อว่า ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองอยู่ คนไทยเก่ง มีสติปัญญา ไม่อย่างนั้นคงรักษาบ้านเมืองไม่ได้จนบัดนี้ แต่จะเอาตัวรอดแบบแต่พอตัวไม่ได้ ต้องรอดทั้งชาติ ต้องขอฝากการเปิดตัวของมูลนิธิครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้มเข็งจนกว่าลมหายใจสุดท้ายของพวกเรา”
ทั้งหมดคือปัญหาการทุจริตในมุมมองของ “ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้เกี่ยวข้อง” ที่เห็นว่า ปัญหาทุจริตคงจะหมดไปจากไทยได้ยาก แต่จะทำยังไงให้น้อยลงมากที่สุด
ไม่ให้วันหนึ่ง “ชาติ” จะถึงคราว “ล้มละลาย” แบบหลาย ๆ ประเทศที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว !