กรมอนามัย เปิดข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิต สร้างขยะสูงถึง 36,000 กก.
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงขยะล้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม พบมีปริมาณขยะสูงถึง 36,000 กิโลกรัม โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาล ชวนรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกและลดปริมาณขยะ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบันมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล รวมถึงตลาดน้ำ หรือร้านอาหาร จากสถานการณ์ขยะมูลฝอย ปี 2551–2557ของสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยรวมทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 23.93–26.2 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยเกิดขึ้น แบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ เทศบาล 10.73 ล้านตัน กรุงเทพมหานคร 3.94 ล้านตัน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 11.52 ล้านตัน ซึ่งขยะที่เกิดขึ้น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน เป็นสัตว์นำโรคต่างๆ มาสู่คน เช่น โรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เป็นต้น
นายแพทย์วชิระ กล่าวถึงปริมาณขยะเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นจากแหล่งท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลที่สำคัญ จากข้อมูลสถิติของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พบว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติ ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวในวันหยุดปีใหม่ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีปริมาณขยะสูงสุดถึง 36,000 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพและดอยปุย มีขยะเกิดขึ้น 1,912 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีขยะเกิดขึ้น 15,200 กิโลกรัม รวมถึงอุทยานแห่งชาติในจังหวัดอื่นๆ เช่น อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณขยะเกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ประมาณ 10,000กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย มีปริมาณขยะ 13,000-15,000 กิโลกรัม
นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเป็นอีกแหล่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในทุกปี โดยพบว่ามีขยะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจำนวนมากเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ในปี 2552-2555 สามารถเก็บขยะในทะเลสะสมได้สูงถึง 216,691 ชิ้น เฉลี่ยปีละกว่า 54,000 ชิ้น ขยะที่พบส่วนใหญ่ เช่น ถุงพลาสติก เชือก ฝาและจุก กระดาษ ใบปลิว ขวดแก้วหลอดดูดน้ำ ถ้วย จาน ก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดทราย แนวปะการัง เป็นต้น
ขยะบางประเภทหากถูกทิ้งในป่า หรือทิ้งลงในทะเล สามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เมื่อสัตว์กินเข้าไป ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด
" นักท่องเที่ยวต้องช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและช่วยกันตักเตือนผู้ที่ทิ้งขยะอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ควรทิ้งขยะลงในภาชนะที่จัดไว้ ไม่ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ควรใช้ภาชนะที่ย่อยสลายง่ายทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือนำขยะของตนเองกลับไปทิ้งนอกแหล่งท่องเที่ยว เพื่อช่วยลดปริมาณการกำจัดขยะ และไม่ควรนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง หากนำเข้าไป ให้เก็บคืนออกมาให้มากที่สุด ไม่ควรก่อไฟเผาขยะในบริเวณอุทยานฯ หรือที่พัก นอกจากก่อเกิดมลพิษแล้วยังอาจทำให้เกิดไฟไหม้อีกด้วย” นายแพทย์วชิระ กล่าวในที่สุด