ประกาศแล้ว!วิธีการขอชุมนุมสาธารณะ - จนท.ใช้เครื่องมือควบคุมม็อบได้ 48 ชนิด
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศวิธีการขอชุมนุมสาธารณะ และ ประกาศสำนักนายกฯ กำหนดเครื่องมือควบคุมม็อบได้ 48 ชนิด
ราชกิจจานุเบกษา วันนี้ ( 3 พ.ย.58) เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า
โดย ที่การจัดการชุมนุมสาธารณะไม่ต้องมีการขออนุญาต แต่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะนั้น ต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย จึงสมควรกําหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ให้เกิดความสะดวกแก่ผู้แจ้ง และเป็นข้อมูลแก่ผู้รับแจ้ง เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อ ความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจน สุขอนามัยของประชาชน หรือคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบสิทธิ และเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “การแจ้ง” หมายความว่า การแจ้งความประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งผู้รับแจ้งแต่งตั้งหรือมอบหมายให้รับผิดชอบ ในการรับหรือส่งหนังสือ หรือดําเนินการเกี่ยวกับการรับแจ้งการชุมนุมสาธารณะของหน่วยงาน
ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อผู้รับแจ้งซึ่งเป็น หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะตามแบบท้ายประกาศนี้ ก่อนเริ่มการชุมนุม ไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง กรณีประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในท้องที่ของสถานีตํารวจต่าง ๆ เกินกว่าหนึ่งท้องที่ ซึ่งมีเขตต่อเนื่องกัน ให้แจ้งการชุมนุม สาธารณะต่อผู้รับแจ้งในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดก็ได้
ข้อ ๓ ภายใต้บังคับของข้อ ๒ การแจ้งให้ดําเนินการโดยวิธีหนึ่งวิธีใด ดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งโดยตรงต่อผู้รับแจ้ง (๒) แจ้งทางโทรสาร (๓) แจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ ๔ การแจ้งโดยตรงต่อผู้รับแจ้ง ให้ผู้แจ้งยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทําการของผู้รับแจ้ง ทั้งนี้ ในการแจ้งโดยตรงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่าผู้รับแจ้งได้รับแจ้งแล้ว
ข้อ ๕ การแจ้งทางโทรสาร ให้ส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะไปยังหมายเลขโทรสาร ของที่ทําการของผู้รับแจ้งตามที่กําหนดไว้ในประกาศของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ แล้วให้ส่งต้นฉบับ ของหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะไปยังผู้รับแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยพลัน เมื่อได้ส่งหนังสือทางโทรสารแล้ว ให้ผู้แจ้งโทรศัพท์แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมายเลข ที่กําหนดไว้ในประกาศของสำนักงานตํารวจแห่งชาติ
โดยเร็ว เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง การส่งตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้รับแจ้งได้รับแจ้งต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งที่ทําการของผู้รับแจ้ง ได้รับเอกสารตามโทรสารครบถ้วน
ข้อ ๖ การแจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ให้ส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะไปยัง ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของที่ทําการผู้รับแจ้งตามที่กําหนดไว้ในประกาศของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม โดยสามารถแสดงหรืออ้างอิง หรือเข้าถึงเพื่อนํากลับมาใช้ในภายหลังและยังคงความครบถ้วนของข้อความในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถระบุตัวผู้ส่งได้ เมื่อได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ผู้แจ้งโทรศัพท์แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมายเลข ที่กําหนดไว้ในประกาศของสํานักงานตํารวจแห่งชาติโดยเร็ว เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง การแจ้งตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้รับแจ้งได้รับแจ้งต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับจดหมาย อิเล็กทรอนิกส์โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ในกรณีมีข้อสงสัย ผู้รับแจ้งอาจสั่งให้ผู้แจ้งส่งต้นฉบับหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะภายใน ระยะเวลาที่เห็นสมควร
ข้อ ๗ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว ให้รีบนําเสนอ ผู้รับแจ้งเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ในกรณีที่เป็นการแจ้งโดยวิธีตามข้อ ๓ (๒) และ (๓) และพนักงาน เจ้าหน้าที่มีข้อสงสัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังผู้แจ้ง ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้ง การชุมนุมสาธารณะเพื่อตรวจสอบตัวผู้แจ้งและความถูกต้องของหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะด้วย
ข้อ ๘ เมื่อผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วส่ง สรุปสาระสําคัญในการชุมนุมสาธารณะให้ผู้แจ้งทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้งและอาจมี คําแนะนําเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลการชุมนุมสาธารณะเพื่อให้ผู้แจ้งปฏิบัติหรือแก้ไขภายในเวลาที่กําหนด ด้วยก็ได้
ข้อ ๙ ในกรณีที่ผู้แจ้งไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันกําหนดเวลาตามข้อ ๒ ผู้แจ้ง อาจขอผ่อนผันกําหนดเวลาดังกล่าวก่อนเริ่มการชุมนุม โดยยื่นคําขอผ่อนผันพร้อมแบบแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ท้ายประกาศนี้โดยตรง ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคําขอต่อผู้บังคับการตํารวจนครบาลผู้รับผิดชอบพื้นที่ ในกรุงเทพมหานคร ในจังหวัดอื่นให้ยื่นคําขอต่อผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัด
ข้อ ๑๐ ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติวางระเบียบหรือคำสั่ง กําหนดหลักเกณฑ์และการปฏิบัติ ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้
ข้อ ๑๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/279/4.PDF
ขณะเดียวกัน ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า
โดยที่เป็นการสมควรกําหนดเครื่องมือควบคุมฝูงชน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วย ความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๙ วรรคเจ็ด และมาตรา ๒๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและข้าราชการตํารวจซึ่งได้รับมอบหมาย ผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย อาจเลือกใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ ดังต่อไปนี้
(๑) หมวกปราบจลาจล หรือหมวกกันกระสุนพร้อมกระบังหน้า
(๒) โล่ใส หรือโล่กันกระสุน
(๓) ชุดป้องกันสะเก็ด ตลอดจน สนับแข้ง สนับเข่า สนับศอก อุปกรณ์ป้องกันสะเก็ด บริเวณลําตัว แขนและขา
(๔) กระบองยาง หรืออุปกรณ์ใช้ตี (Baton)
(๕) สายรัดบังคับ (สายล็อคข้อมือ) หรือกุญแจมือ
(๖) หน้ากากป้องกันแก๊สพษิ พร้อมหม้อกรองแก๊สพิษและไมโครโฟน
(๗) แก๊สน้ําตาชนิดสเปรย์ สกัดจากพืชธรรมชาติ
(๘) เสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน
(๙) เครื่องขยายเสียงพร้อมไมโครโฟน ขนาดเล็ก
(๑๐) อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลชนิดพกพา
(๑๑) เครื่องเสียงและระบบป้องกันอันตรายรถสั่งการ
(๑๒) เครื่องยิงแก๊สน้ําตาชนิดใช้แล้วทิ้ง
(๑๓) เครื่องฉีดแก๊สแบบสะพาย
(๑๔) ชุดปืนยิงแก๊สน้ําตาพร้อมอุปกรณ์
(๑๕) แก๊สน้ําตาชนิดเผาไหม้
(๑๖) แก๊สน้ําตาสําหรับผสมน้ํา
(๑๗) ลูกขว้างแบบควัน
(๑๘) ลูกขว้างแบบแสง – เสียง
(๑๙) ลูกขว้างแก๊สน้ําตา ชนิด OC
(๒๐) ลูกขว้างแก๊สน้ําตา ชนิด CS
(๒๑) ถุงลมบอกทิศทาง
(๒๒) เครื่องฉีดน้ําแรงดันสูง และสีผสมน้ํา
(๒๓) อาวุธปืนลูกซอง สําหรับยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ําตา
(๒๔) อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้า (Taser)
(๒๕) ปืนยิงตาข่าย
(๒๖) รถฉีดน้ําแรงดันสูง หรือรถดับเพลิง
(๒๗) เครื่องกีดขวางการผ่านของรถ
(๒๘) อุปกรณ์ตรวจหาอาวุธบุคคล
(๒๙) อุปกรณ์ตรวจหาอาวุธยานพาหนะ
(๓๐) แผงกั้นเหล็ก
(๓๑) กรวยยาง
(๓๒) แท่นปูน หรืออุปกรณ์สําหรับป้องกันสถานที่
(๓๓) ลวดหีบเพลงแถบหนาม
(๓๔) ถุงมือหนัง
(๓๕) รถเครนยกแท่นปูน
(๓๖) ยานพาหนะสําหรับเจ้าหน้าที่และการลําเลียงเครื่องมือ
(๓๗) รถควบคุมฝูงชน (Riot Truck) ขนาด ๖ ล้อ
(๓๘) รถควบคุมฝูงชน (Riot Truck) ขนาด ๑๐ ล้อ
(๓๙) รถที่ทําการทางยุทธวิธี
(๔๐) รถบรรทุกน้ํา
(๔๑) รถส่องสว่าง
(๔๒) อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกล ขนาดกลาง
(๔๓) อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกล ขนาดใหญ่ (๔๔) ชุดเครื่องเสียงความดังสูง พร้อมอุปกรณ์กําเนิดพลังงาน
(๔๕) โคมไฟส่องสว่างฉุกเฉิน
(๔๖) อุปกรณ์ถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว
(๔๗) เครื่องบันทึกเสียง
(๔๘) เครื่องมือวัดระดับเสียง
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี