ที่ปรึกษารมว.ไอซีที โชว์ยุทธศาสตร์ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารอาเซียน
ที่ปรึกษารมว.ไอซีทีเผย 5 ยุทธศาสตร์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาโครงข่ายสื่อสารครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มความมั่นคงด้านการสื่อสาร ดึงนักลงทุนดิจิทัลต่างชาติ ยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารอาเซียน
เมื่อวันที่ 3 พฤจิกายน 2558 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสมาคมนักวิจัยจัดเสวนาเรื่อง "มาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ (National Data Center Standard)" โดยมี นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ICT เป็นประธานในพิธีเปิด
นายสำราญ กล่าวว่าปัจจัยในการนำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลอาเซียนภายใต้นโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลกำหนด ทำให้เกิดโครงการต่างๆ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infratructure) 2. โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) 3. โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐาน (Soft Infrastructure) 4. ด้านส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และ 5. ด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society)
อีกทั้งมีคณะทำงานในการผลักดันให้เกิดผล คือ 1. คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 2. คณะทำงานศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศ 3. คณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และ 5. คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องต่อการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวถึงการกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศที่ครอบคลุมถึงโครงข่ายการติดต่อสื่อสารทุกประเภทที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะเน้นความสำคัญในนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Hard Infratructure) เพื่อให้คนไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลในประชาคมอาเซียน (ASEAN Comunity) โดยเเผนกลยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนของยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Hard Infratructure) จัดตั้งการให้บริการสำหรับธุรกิจและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น การมาตั้งศูนย์ข้อมูลในการให้บริการ Cloud Computing การมาร่วมทุนในธุรกิจโทรคมนาคม และการพัฒนาซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่น ) หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าซึ่งต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการดำเนินการด้านมาตรฐานศูนย์ข้อมูล (Data Center) และกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
ทั้งนี้นายสำราญ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่สำคัญในการที่จะนำประเทศก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลในประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบพื้นฐานดังต่อไปนี้ 1. พัฒนาโครงข่ายในประเทศ ได้แก่ การผลักดันให้มีโครงข่ายบรอดแบนด์ทั้งแบบสายและไร้สาย ให้ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากร ให้สามารถเข้าถึงบริการต่อเชื่อมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง และครอบคลุมทั่วถึง
การเชื่อมต่อจะต้องมีระบบที่มีการรักษาความปลอดภัยที่ดี เพื่อไม่ให้ข้อมูลในโครงข่ายต่างๆ ทั้งข้อมูลของภาครัฐและประชาชนถูกโจรกรรมหรือบิดเบือนได้โดยง่าย มีการใช้โครงข่ายร่วมกันของผู้ให้บริการด้านการสื่อสารอย่างเสรี และจัดสรรให้มีการใช้คลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้บริโภค
2. พัฒนาโครงข่ายระหว่างประเทศ ได้แก่ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสร้างเครือข่ายการเชื่อมต่อกับเครือข่ายต่างประเทศอย่างเสรีพอเพียง ทั้งทางเครือข่ายเคเบิลใยแก้วใต้ทะเล (Submarine Cable) และเครือข่ายภาคพื้นดิน (Terrestrial Cable) และการกำกับดูเเลการให้บริการที่เป็นธรรมเหมาะสม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
3. พัฒนา Data Center Ecosystem ได้แก่ การพัฒนามาตรฐานข้อมูลแห่งชาติ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล Line, Alibaba เข้ามาร่วมลงทุนศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย โดยต้องร่วมมือผลักดันทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผ่านทางสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลโดยเชื่อมโยงกับหลายศูนย์ข้อมูล เพื่อเพิ่มความั่นคงทางการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของข้อมูลในภูมิภาค
นายสำราญ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ปัจจัยที่สำคัญกว่าทั้งหมดที่กล่าวมานั่นคือ เรื่องของคน "เราจำเป็นต้องพัฒนาให้คนในประเทศมีความรู้ความสามารถมากขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะมีแผนการดีอย่างไร หากขาดทรัพยกรมนุษย์ที่ดี แผนต่างๆ ก็ไม่มีวันสำเร็จไปได้" ทั้งนี้ประเทศไทยจะเริ่มมีการใช้มาตรฐานดาต้าเซนเตอร์(Data Center)ในเดือนธันวาคม 2558 นี้