ควันหลงรายอยี...เปิดใจ"แรงงานต้มยำ"ในวันกลับบ้าน
บรรยากาศเฉลิมฉลองวันตรุษฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮา หรือ "รายอยี" ใน จ.ปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) คึกคักไม่แพ้พื้นที่อื่นในสามจังหวัดชายแดน ตามชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ ที่มีมัสยิดคลาคล่ำไปด้วยมุสลิมหญิงชายที่ไปละหมาดกันแน่น เด็กๆ หัวเราะเริงร่าเพราะได้รับเงินซอดาเกาะฮ์ (เงินบริจาค) กันถ้วนหน้า
จากนั้นจึงมีการเชือดกุรบาน (เชือดสัตว์พลี) ซึ่งส่วนมากเป็นวัวเพื่อเฉลิมฉลองวันตรุษนี้ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาทุกปี โดยจะมีการแบ่งเนื้อแล้วแจกจ่ายไปยังเพื่อนบ้าน คนยากจน เพื่อให้ได้รับประทานกันอย่างเท่าเทียม และทำกับข้าวจัดเลี้ยงให้กับญาติพี่น้องที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนหาสู่กัน
วิถีแห่งวัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องในดินแดนแห่งนี้เป็นวิถีแห่งชีวิตปกติสุขที่ดำเนินไปไม่ว่าจะพบเจอกับสถานการณ์เช่นไร รอยยิ้มยังคงมีให้เห็นและสัมผัสได้อย่างจริงใจ
สิ่งที่พบเจอได้เฉพาะเทศกาลฮารีรายออีกสิ่งหนึ่ง คือ แรงงานต้มยำกุ้งที่ไปทำงานในมาเลเซียได้โอกาสเดินทางกลับบ้านเกิด เพราะเป็นเหมือนวันรวมญาติ "แรงงานต้มยำ" ส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่นและวัยทำงานที่ข้ามไปทำงานในร้านอาหารฝั่งมาเลย์ โดยร้านต้มยำซึ่งเรียกตามเมนูเด่น "ต้มยำกุ้ง" เป็นร้านที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และคนมาเลย์มีค่านิยมกินข้าวนอกบ้าน ทำให้ธุรกิจร้านต้มยำมีเงินหมุนเวียนมหาศาล และต้องการแรงงานจำนวนไม่น้อย
"แรงงานต้มยำ" จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ของครอบครัวรากหญ้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากอาชีพกรีดยางพารา ทำไร่ดุซง (สวนผสม) และทำประมงพื้นบ้าน เรื่องราวชีวิตของพวกเขาแทบไม่ต่างอะไรกับหญิงชายชาวอีสานที่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่เพื่อหาเงินส่งกลับไปจุนเจือครอบครัว แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ "แรงงานต้มยำ" กลับถูกทางการมองด้วยความหวาดระแวง เพราะเคยเชื่อว่าธุรกิจร้านต้มยำในมาเลย์จำนวนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวพันสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนฝั่งไทย
แม้ถึงวันนี้สถานการณ์ด้านความมั่นคงจะยังไม่เปลี่ยน แต่กระแสโลกและกระแสภูมิภาคกำลังเปลี่ยนไปแล้ว กลุ่มประเทศอาเซียนรวมทั้งไทยกำลังรวมตัวกันเป็น "ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ในปี 2558 คล้ายกับสหภาพยุโรป มิติของการทำงานข้ามพรมแดนในอาเซียนกำลังเกิดขึ้น และ "แรงงานต้มยำ" เปรียบเสมือนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงที่วิ่งแซงไปก่อนแล้ว ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถ "ถอดบทเรียน" และ "ต่อยอด" ได้เยอะมาก แต่กลับยังนิ่งเฉยอย่างน่าเสียดาย...
ลุตฟี สิเดะ หรือ "ฟี" ชายหนุ่มวัย 23 ปีแห่งบ้านสิเดะ ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นวัยรุ่นมุสลิมที่ข้ามไปทำงานร้านต้มยำในประเทศมาเลเซียตั้งแต่อายุ 16 ปี เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานในร้านอาหารหลายแห่ง ไต่เต้าตั้งแต่เด็กล้างจานจนปัจจุบันขยับเป็นกุ๊ก
"ฟี" เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ตัดสันใจไปทำงานในมาเลย์ว่า ตอนนั้นเรียนจบม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ อยู่บ้านเฉยๆ เห็นว่าไม่มีอะไรดีขึ้น เงินก็ไม่มีใช้ พี่สาวที่ทำงานอยู่ที่มาเลย์โทร.มาถามว่าอยากไปทำงานไหม ก็ตกลงไปตั้งแต่นั้น ไปช่วงแรกทำอยู่ร้านเดียวกับพี่สาวในกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวงของมาเลเซีย) เป็นเด็กล้างจาน ได้ค่าแรงวันละ 180 บาท ทำอยู่ 4 เดือน จากนั้นไปเป็นคนจดออร์เดอร์ (รายการอาหารที่ลูกค้าสั่ง) และเสิร์ฟอีก 6 เดือน ค่าแรงเพิ่มเป็นวันละ 200 บาท
"ผมทำมาเรื่อยจนได้เป็นผู้ช่วยกุ๊ก ทำหน้าที่ช่วยเตรียมของในครัวและอีกหลายอย่าง ทำอยู่เกือบปี หัดสังเกตจากกุ๊ก และกุ๊กให้ทำอาหารเองด้วย เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เดือนหนึ่งมีวันหยุด 1 วัน ร้านเปิด 4 โมงเย็น ปิดตี 2 ทำอย่างนี้ทุกวัน ปิดจริงจังแค่ช่วงรายอ ตอนนั้นพี่สาวย้ายไปร้านอื่นแล้ว ผมอยู่กับเพื่อนๆ จนย้ายไปอยู่ร้านซันเวย์ในกัวลาลัมเปอร์เหมือนกัน ร้านนี้เป็นของเถ้าแก่ชาวมาเลย์ ได้เงินและประสบการณ์ดีกว่าที่เดิม ไปอยู่แผนกน้ำที่ได้หัดทำมาจากร้านแรก ที่นั่นให้ค่าแรงวันละ 400 บาท คนมาเลย์ชอบทานอาหารนอกบ้านและไม่ชอบทานรสหวาน ผมทำได้ทุกอย่าง ทำตรงนี้อีก 3 ปีจนเถ้าแก่ไว้ใจ รู้ใจ และให้เก็บเงินเอง"
"ฟี" บอกว่า อันที่จริงเขาไม่อยากย้ายที่ทำงานบ่อย แต่องค์ประกอบของร้านอาหารมีหลายอย่างที่ต้องไปด้วยกัน เช่น หากกุ๊กหยุดงานจะไม่สามารถทำอาหารได้ ร้านก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย ร้านซันเวย์ก็เช่นกัน กุ๊กหยุดงานบ่อยจนร้านอยู่ไม่ได้ และนั่นเป็นสาเหตุทำให้เขาต้องย้ายไปทำงานที่ร้านซูบังซึ่งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์เหมือนกัน โดยไปทำแผนกน้ำเหมือนเดิม และเริ่มเป็นกุ๊กในบางเวลา เขาอยู่ที่ร้านซูบังได้อีกปีกว่า กระทั่งพี่สาวไปเปิดร้านอาหารเองที่ราวัง รัฐสลังงอร์ และชวนไปอยู่ด้วยโดยให้เป็นกุ๊กเต็มตัว เขาจึงตัดสินใจย้ายตามไป
"พอพี่สาวเปิดร้านเขาก็ชวนผมไปอยู่ด้วย ให้ค่าแรงวันละ 500 บาท อยู่ฟรีกินฟรี เป็นกุ๊กเอง มีพี่สาวเป็นผู้ช่วย ถามตัวเองว่าอยากเป็นกุ๊กจริงหรือ เราจะทำได้แค่ไหน พยายามทำให้เป็นรสชาติแบบไทยแล้วถามลูกค้าว่าพอใจหรือเปล่า ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เขาบอกว่าถูกปาก เมนูฮิตคือ ‘ต้มยำ’ คนมาเลย์ชอบทานต้มยำน้ำข้น ตอนนี้ทำอาหารได้หลากหลายเมนูแล้ว"
"ฟี" บอกว่าการไปทำงานของเขาและเพื่อนร่วมชะตาเดียวกันอีกนับหมื่นคนในมาเลเซียเป็นไปอย่างผิดกฏหมาย เพราะพวกเขาใช้วีซ่านักท่องเที่ยวที่สามารถอยู่ในมาเลเซียได้ไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นต้องต่อวีซ่าใหม่เพื่ออยู่ต่อ ทว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อวีซ่าในแต่ละครั้งไม่ใช่น้อย จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขาหลบเลี่ยง และหาช่องทางต่อตอนที่กลับบ้านช่วงฮารีรายอ ซึ่งมีปีละ 2 ครั้ง
"ค่าเดินทางไปกลับในการต่อวีซ่าประมาณ 2 พันบาทต่อครั้ง ไปทุกเดือนก็ไม่ไหว เพราะต้องไปต่อที่ด่านสุไหงโก-ลก (จ.นราธิวาส) หรือด่านอื่นของไทย เมื่อไม่ไปต่อก็ต้องให้คนที่รับทำเรื่องนี้ที่สุไหงโก-ลกทำให้ จ่ายพันกว่าบาทแล้วผ่านได้ กลับไปต่ออีกทีก็เป็นช่วงที่กลับบ้านวันรายอปีละ 2 ครั้ง เวลาจะกลับรายอก็ต้องกลับมาเหมือนหนีเข้าเมืองก่อนเป็นอาทิตย์โดยการเหมารถเข้ามา เพราะจะมีด่านเยอะ ซึ่งทางด่านเขาจะรู้ว่ามีคนไทยกลับบ้านรายอกันอยู่แล้ว"
การเดินทางเข้าออกเพื่อไปทำงานของแรงงานไทยในมาเลเซียแบบเดียวกับ "ฟี" ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ต้องอยู่แบบระวังตัว เนื่องจากบางรัฐเจ้าหน้าที่เข้มงวดกับแรงงานผิดกฎหมาย โชคยังดีที่รัฐสลังงอร์ที่เขาอยู่เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยเข้มงวดนัก แต่เวลาที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามานั่งเป็นลูกค้าในร้าน "ฟี" ก็ต้องทำตัวไม่ให้มีพิรุธ มิฉะนั้นก็จะเหมือนเพื่อนของเขาบางคนที่ถูกจับกุมและถูกขังคุกมาเลย์อยู่ในปัจจุบัน
ส่วนการที่คนไทยจะขยับเป็นเจ้าของกิจการด้วยการเปิดร้านอาหารเองในมาเลเซียนั้น "ฟี" บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีบัตรประชาชนสองสัญชาติจึงจะเปิดได้ ฉะนั้นคนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ข้ามไปทำงานเกือบทั้งหมดจึงเป็น "แรงงาน" เหมือนกับ "ฟี"
"แม้จะเป็นลูกจ้างแต่ก็ได้เงินส่งกลับมาให้ทางบ้านได้ใช้จ่าย ส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสือ กลับจากรายอยีปีนี้ ผมตั้งใจว่าจะทำงานเก็บเงินอีกสักพัก แล้วค่อยวางแผนชีวิตอีกที อยู่ที่มาเลย์สามารถเก็บเงินได้ เพราะที่อยู่กับอาหารฟรี ใช้แต่ของที่จำเป็น และไปเที่ยวบ้าง ถ้าไม่ฟุ่มเฟือยก็มีเงินเก็บ"
“ชีวิตคนทำร้านอาหาร ทำงานตอนเย็นและเลิกดึกมาก เสร็จงานก็นอนพักจนเย็นแล้วก็ตื่นขึ้นมาทำอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ เพื่อนก็คบกันเฉพาะในที่ทำงาน เพราะเหนื่อยไม่อยากไปไหนแล้ว ก็รู้จักกันแค่นั้น" หนุ่มยะรังเล่าถึงสภาพชีวิตจริงที่ต้องเจอ
แม้การทำงานในมาเลเซียจะมีรายได้ดี แต่ "ฟี" บอกว่า หากแถวบ้านหรือในสามจังหวัดมีงานให้ทำและได้เงินพออยู่ได้ ก็อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดมากกว่า
"ความจริงถ้าในพื้นที่หรือแถวบ้านเรามีงานที่ทำแล้วได้เงินพออยู่ได้ ผมก็อยากกลับมาทำงานบ้านเราดีกว่า สบายใจกว่า เมืองไทยยังน่าอยู่เสมอ ยิ่งที่ปัตตานียิ่งน่าอยู่ ผมต้องกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ช้าก็เร็ว แต่ตอนนี้ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเก็บเงินอีกสักพัก จากนั้นค่อยหาทางเริ่มต้นชีวิตใหม่ อาจเป็นเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ สักร้านที่บ้านเรา"
เป็นความในใจของแรงงานต้มยำจากมาเลย์ที่ต้องไปทำงานอยู่แดนไกล แต่ก็ยังมิวายคิดถึงบ้าน ด้วยหัวใจที่รักแผ่นดินเกิด...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มุสลิมหญิงชายไปละหมาดที่มัสยิดกันอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเช้าของวันรายอญี
2 เด็กๆ ยิ้มเข้าคิวรับเงินซอดาเกาะฮ์
3-4 แบ่งเนื้อกุรบาน
5 ลุตฟี สิเดะ