กระตุ้นหน่วยงานรัฐ “ไม่กินหวาน” ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม
ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กลดการบริโภคน้ำตาลประเภท free sugar ลงเหลือไม่เกิน 10% จากปริมาณที่บริโภคในแต่ละวัน และแนะนำเพิ่มเติมให้ลดปริมาณลงอีกเหลือเพียงไม่เกิน 5% จากปริมาณที่เคยบริโภค หรือไม่เกิน 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อให้มีผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น
ที่น่าตกใจ คือ สถานการณ์การบริโภคน้ำตาลของคนไทยที่เกินมาตรฐานของกรมอนามัยโลกไปมาก เพราะบริโภคสูงสุดถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
แหล่งที่มาของน้ำตาลอันดับแรกมาจากเครื่องดื่มและน้ำผลไม้เติมน้ำตาล ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำตาลที่ใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มนับว่าสูงสุดในบรรดาน้ำตาลที่บริโภคทางอ้อม โดยกลุ่มเป้าหมายหลังที่บริโภคน้ำตาลในปริมาณมากคือ กลุ่มคนวัยทำงานซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มด้วยตัวเอง น้ำชา กาแฟและอาหารว่าง คือสิ่งที่กลุ่มคนวัยทำงานไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กลายเป็นกระแสฮิต “คอกาแฟ” ที่ต้องดื่มทุกเช้า-บ่าย แม้กระทั่งการประชุมต่างๆ ที่เห็นจนชินตา ช่วงพักเบรกจะมีการจัดชา กาแฟ และอาหารว่างให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ดื่มและรับประทาน
จากการสำรวจปี 2556 พบว่า มีผลิตภัณฑ์น้ำตาลซองวางจำหน่าย 17 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มีขนาดบรรจุภัณฑ์ 8 กรัม รองลงมาขนาด 6 กรัม
ขณะที่การผลิตน้ำตาลซองเพื่อใช้ในโรงแรมจะมีขนาด 8 กรัมเป็นส่วนใหญ่
และเมื่อดูพลังงานในการทานอาหารว่างและกาแฟช่วงพักเบรกการประชุม พบว่า สูงถึง 150-350 กิโลแคลอรี่ ทั้งๆ ที่นักโภชนาการแนะนำว่า อาหารว่างไม่ควรมีพลังงานไม่เกิน 100 กิโลแคลอรี่
ขณะที่กรมอนามัยก็มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัยของคนไทย จึงร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทานน้ำตาลแต่พอดี อันเป็นการขับเคลื่อนมาตรการ "คนไทยอ่อนหวาน" ให้สำเร็จ
เริ่มจากการณรงค์ทั้งภาคประชาชน ส่วนราชการ และยังขอความร่วมมือไปยังโรงแรมที่รับจัดเลี้ยง การจัดประชุม ร้านอาหาร ร้านกาแฟต่างๆ ให้เปลี่ยนไปใช้น้ำตาลซองในปริมาณที่เหมาะสม คือ 4 กรัม (เท่ากับ1 ช้อนชา) ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานงานจัดประชุมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Meeting และการขอความร่วมมือผู้ผลิตให้หันมาผลิตน้ำตาลซองขนาด 4 กรัมให้มากขึ้น ตลอดจนเสนอมาตรการ “คนไทยอ่อนหวาน” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกด้วย
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการอาหารว่างเพื่อสุขภาพ หรือเฮลท์ตี้มีทติ้ง (Healthy Meeting) เน้นอาหารว่างที่ให้พลังงาน ต่ำกว่า 150 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เช่น ผลไม้ ขนมที่ไม่หวานจัด และใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม
“ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามไปทั่วประเทศแล้วขณะนี้ รวมทั้งกทม.ไปปรับอาหารว่างระหว่างประชุมเป็นผลไม้ ถ้าเสิร์ฟผลไม้โดยใช้น้ำตาล 4 กรัมเติมในชา กาแฟจะให้พลังงาน 150 กิโลแคอลรี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว และว่า หลังจากนี้จะร่างหนังสือไปถึงปลัดทุกกระทรวงเพื่อขอความร่วมมือ
นอกจากนี้กรมอนามัยยังได้จัดทำคู่มือ เฮลท์ตี้มีทติ้ง ที่รวมเมนูอาหารอาหารว่าง สามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของกรมอนามัย หรือโหลดได้ที่ www.ebook.in.th/anamaibook/
ทั้งนี้มีคู่มือแนะอาหารว่างหลากเมนู อาทิ น้ำมะตูม เสิร์ฟพร้อมส้มโอให้พลังงาน 107. กิโลแคลอรี่ น้ำฝรั่ง เสิร์ฟพร้อมกับฟักทองนึ่ง ข้าวโพดต้ม กล้วยน้ำว้าต้ม ให้พลังงาน 192.7 กิโลแคลอรี่ กาแฟเสิร์ฟกับเค้กผลไม้ ส้มเช้ง ให้พลังงาน 166 กิโลแคลอรี่ เป็นต้น
ส่วนภาคเอกชนที่ขานรับกับแคมเปญน้ำตาล 4 กรัม ได้แก่ ร้านกาแฟแบล็คแคนยอน 200 กว่าสาขา และร้านค่าเฟ่ อเมซอน กว่า 1,000 สาขา โดยเริ่มต้นที่สาขาแรกในกรมอนามัย พร้อมจะขยายไปทั่วประเทศในปี 59
นอกจากนี้ยังมีบริษัทน้ำตาลมิตรผล ห้างแม็คโคร ผลิตน้ำตาล 4 กรัมขายอีกด้วย
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการปรับลดน้ำตาลซอง 4 กรัม ทำให้ข้าราชการมีสุขภาพดีขึ้น ปัจจุบันไทยมีข้าราชการพลเรือ 358,735 คนทั่วประเทศ หากลดการบริโภคหวานลงได้จะช่วยยืดระยะเวลาให้กลุ่มผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้อีก
"ในสังคมคนมี 3 กลุ่มคือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ใกล้จะเป็นเบาหวาน และกลุ่มที่เป็นแล้ว ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นยังมีพฤติกรรมการทานหวานมากเกินอยู่เป็นประจำ จึงมีโอกาสเป็นเบาหวานเร็วขึ้น"
เพราะฉะนั้นแคมเปญจำกัดลดน้ำตาลเหลือ 4 กรัม ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับน้ำตาลแต่ละวันลดลง ดังนั้นถ้าขับเคลื่อนในกลุ่มราชการและขยายไปสู่กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีอีกประมาณ 80,000 คนรวมกับเกือบ 2 แสนคน ซึ่งในคนกลุ่มนี้แทนที่จะเป็นเบาหวานภายใน 2-3 ปีอาจจะชะลอไป 5-7 ปี และยังช่วยลดปัญหาไขมันในหลอดเลือดสูงได้ด้วย
ที่สำคัญ ความหวานนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการตายร้อยละ 63 ของการตายทั้งหมดของประชากรโลก