ส่องขั้นตอนอนุมัติเงินกองทุนฯสตรีหมื่นล.ก่อน 'สตง.'ชงสอบทุจริตทั่วปท.
"...การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากยังไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า บางส่วนเกิดความสูญเปล่าที่ชัดเจน เช่น มีการนำเงินไปใช้ส่วนตัวหรือในครัวเรือนเป็นเงินไม่น้อยกว่า 0.23 ล้านบาท และนำเงินไปให้กู้ยืมแสวงหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย หรือไปใช้จ่ายในกิจการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามแบบเสนอขอโครงการที่คำนวณเป็นเงินได้จำนวน 5.87 ล้านบาท ที่สำคัญการจัดสรรเงินในสัดส่วนข้างต้นทำให้ปัญหาของสตรีและองค์กรสตรี เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกกดขี่ข่มเหง ความไม่เสมอภาค ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ได้รับการแก้ไข.."
กำลังเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ สำหรับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หนึ่งนโยบายสำคัญในยุคสมัย รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงานช่วงที่ผ่านตั้งแต่ปี 2555-2557 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 10,111.06 ล้านบาท อย่างเป็นทางการ และแจ้งเรื่องให้สํานักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (สกพส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งพบว่าการดำเนินงานมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ โดยเฉพาะในการใช้จ่ายงบประมาณไปดำเนินการโครงการต่างๆ ที่ส่อว่าจะไม่เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินการงาน
แถมบางพื้นที่ การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดทำโครงการ ยังถูกตรวจสอบพบว่า มีปัญหาเรื่องอนุมัติงบประมาณ การใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือพวกพ้องอีกด้วย พร้อมเสนอขอให้มีการยุบเลิกกองทุนแห่งนี้ไป
(อ่านประกอบ : สตง.ชงยุบเลิกกองทุนฯสตรีหมื่นล.ยุค'ปู' พบพฤติการณ์เอื้อปย.มุ่งนโยบายหาเสียง)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ มากขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณมาใช้ทำโครงการต่างๆ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลมานำเสนออีกครั้ง ดังนี้
@ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ
วิสัยทัศน์
“สร้างสรรค์พลังสตรีให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”
วัตถุประสงค์
(1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ย หรือ ปลอดดอกเบี้ย
(2) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรี และเครือข่ายสตรี
(3) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรม ในการพัฒนาบทบาทสตรี
(4) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรี
การเป็นสมาชิก
มี 2 ขั้นตอน คือ
1. การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกขั้นตอนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
ประเภทบุคคลธรรมดา
-สมัครด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ พร้อมแสดงสาเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที
สำนักงานพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด
สำนักงานพัฒนาอำเภอ
องค์การบริหารส่วนตำบล
ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน
- สมัครทางเว็บไซต์ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี www.womenfund.in.th
2. รอการตรวจคุณสมบัติการเป็นสมาชิก
เมื่อสมัครสมาชิกใหม่ สถานะสมาชิกจะระบุเป็น “รอการตรวจสอบ” ซึ่งกองทุนฯ จะทำการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ และกองทุนฯ จะปรับสถานะให้เป็น “ผ่านการตรวจสอบ” หรือ “ไม่ผ่านการตรวจสอบ” สมาชิกทีมีสถานะ “ไม่ผ่านการตรวจสอบ” จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ/จังหวัด หรือสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กทม. เพื่อดำเนินการปรับปรุงข้อมูลสมาชิกให้ถูกต้องขั้นตอนที 3 การอนุมัติการเป็นสมาชิก
ผู้สมัครสามารถตรวจสอบรายชื่อการขึ้นทะเบียนสมาชิกทางเว็บไซต์ www.womenfund.in.th
การขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
สมาชิกและองค์กรสตรีที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และประสงค์จะขอรับการสนับสนุนเงินทุน จากกองทุนฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
มีภูมิลำเนา หรือสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในท้องทีที่จะยี่นคำขอไม่น้อยกว่า 6 เดือน
มีบุคลากร อาสาสมัครในการปฏิบัติงานประจำ หรือที่ปรึกษา ที่มีความรู้เกี่ยวกับ การช่วยเหลือคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี
ดำเนินงาน และมีผลงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี หรือมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสตรี
ไม่ดำเนินกิจการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ขั้นตอนการขอยืนกู้เงินจากกองทุนฯ
กรุงเทพมหานคร
•สมาชิกกองทุนฯ (บุคคลธรรมดาหรือองค์กรสตรี) จำนวนไม่เกิน 5 คน ยื่นแบบฟอร์มเสนอโครงการขอรับเงินสนับสนุน ณ คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกรุงเทพมหานคร (คกส. กทม.)
•คกส.กทม. ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐาน และพิจารณาเห็นชอบโครงการ
•คกส. กทม. แจ้งผลการพิจารณาอนุมัติโครงการกับสมาชิกและนัดวันที่จัดทำสัญญากับสมาชิก พร้อมชี้แจงรายละเอียดต่างๆ
76 จังหวัด
•สมาชิกกองทุนฯ (บุคคลธรรมดาหรือองค์กรสตรี) ยื่นแบบฟอร์มเสนอโครงการขอรับเงินสนับสนุน ณ คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกสจ.) หรือคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล (คกสต.)
•คกส.ต. ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐาน และพิจารณาเห็นชอบโครงการ
•คกส.ต. นำส่งโครงการให้สานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพื่อรวบรวมเสนอต่อ คกสจ.
•คกส.จ. พิจารณาอนุมัติโครงการ
•คกส.จ. แจ้งผลอนุมัติต่อสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และแจ้งอนุมัติโครงการพร้อมโอนเงินให้ คกส.ต. เพื่อมอบอานาจให้จัดทำสัญญากับสมาชิก
ประเภทเงินสนับสนุนโครงการเงินอุดหนุน
วงเงินอนุมัติสูงสุด 200,000 บาท
เป็นแหล่งเงินอุดหนุนกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพสตรี หรือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยไม่ต้องชาระเงินคืน
คุณสมบัติสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
1. สมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา
เป็นสตรีผู้มีสัญชาติไทยอายุ 15ปี ขึ้นไป
เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขต/ตำบล/จังหวัด ที่ขอขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2.สมาชิกประเภทองค์กรสตรี
เป็นองค์กรสตรีมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม
มีที่ตั้งอยู่ในเขต/ตำบล/จังหวัดที่ขอขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 6 เดือน
@ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ขณะที่ สตง.ระบุในรายงานผลการตรวจสอบว่า การดำเนินงานกองทุนฯ มีปัญหาหลายประการดังต่อไปนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การจัดสรรเงินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่เป็นเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
จากการตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนฯ พบว่า การจัดสรรเงินของกองทุนฯ ไม่ตอบสนองหรือไม่สอดคล้องต่อการแก้ไขสภาพปัญหาของสตรีที่ใช้เป็นเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนฯ
กล่าวคือจัดสรรเป็นเงินกู้ยืมหรือเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้พัฒนาอาชีพ ร้อยละ 80.00 แต่จัดสรรเงินอุดหนุนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพหรือแก้ไขปัญหาสตรี การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรีเพียงร้อยละ 19.40
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
จากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในการดำเนินโครงการตามกิจกรรมและรายการใช้จ่ายเงิน
ตามแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก คกส.จ. 13 จังหวัด ของกลุ่มสมาชิกสตรี จำนวน 133 กลุ่ม/โครงการ จำนวนเงิน 14.25 ล้านบาท ปรากฏว่าการดำเนินโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรีส่วนใหญ่จำนวน 132 กลุ่ม/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 99.25 ของโครงการที่ตรวจสอบ ไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่มีความยั่งยืน
เช่น กลุ่มสมาชิกสตรีใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามแผนงานกิจกรรมหรือรายการใช้จ่ายที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 76 กลุ่ม/โครงการ กลุ่มสมาชิกสตรีนำเงินอุดหนุน (จ่ายขาด) ไปใช้ตามกิจกรรมหรือรายการที่กำหนดไว้แต่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงใดใดระหว่างก่อนกับหลังดำเนินโครงการ จำนวน 22 กลุ่ม/โครงการ กลุ่มสมาชิกสตรีนำเงินอุดหนุน (จ่ายขาด) ไปใช้จ่ายนอกเหนือจากรายการหรือกิจกรรมตามแผนงานที่กำหนดไว้ตามแบบเสนอขอโครงการ จำนวน 6 กลุ่ม/โครงการ
ข้อตรวจพบที่ 3 การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดหรือตำบล ไม่สอดคล้องตามระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้องหรือไม่รัดกุม
จากการตรวจสอบการดำเนินงานของ คกส.จ. จำนวน 13 จังหวัด และ คกส.ต. จำนวน 48
ตำบล พบว่า
3.1 การพิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุนโครงการที่สมาชิกขอรับการสนับสนุนไม่เหมาะสม
หรือไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยการพิจารณาและอนุมัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือพวกพ้อง
3.2 การใช้จ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การส่งคืนเงิน มีข้อบกพร่อง เช่น การส่งใช้เงินคืน
คกส.จ. ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กำหนด ไม่จัดทำบัญชีกองทุนฯ หรือจัดทำแต่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันยอดการรับจ่ายเงินกองทุนฯ กับหลักฐานการรับจ่ายได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่มีการจัดเก็บหลักฐานหรือไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายเงินให้ตรวจสอบ
3.3 การจัดการข้อมูลหนี้และสัญญา การติดตามทวงถามหนี้ยังไม่เป็นระบบ เช่น ไม่มีการ
จัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ หรือจัดทำแต่ไม่ครบถ้วนเป็นปัจจุบันและไม่เป็นระบบที่สามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือทวงถามหนี้ได้
3.4 ขาดการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานในทุกระดับ คกส.ต. ไม่มีการติดตาม ควบคุมกำกับดูแลสมาชิกที่ดำเนินโครงการในพื้นที่จริงอย่างต่อเนื่องจริงจัง
จากผลการตรวจสอบข้างต้น ทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากยังไม่เกิดประโยชน์
อย่างคุ้มค่า บางส่วนเกิดความสูญเปล่าที่ชัดเจน เช่น มีการนำเงินไปใช้ส่วนตัวหรือในครัวเรือนเป็นเงินไม่น้อยกว่า 0.23 ล้านบาท และนำเงินไปให้กู้ยืมแสวงหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย หรือไปใช้จ่ายในกิจการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามแบบเสนอขอโครงการที่คำนวณเป็นเงินได้จำนวน 5.87 ล้านบาท ที่สำคัญการจัดสรรเงินในสัดส่วนข้างต้นทำให้ปัญหาของสตรีและองค์กรสตรี เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกกดขี่ข่มเหง ความไม่เสมอภาค ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้การใช้วิธีการเขียนโครงการและขอเงินสนับสนุนให้มากไว้ก่อนแต่เมื่อได้รับเงินแล้วกลับนำไปใช้ในกิจการอื่นยังเป็นการเสียวินัยทางการเงิน และก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้
การจัดสรรเงินของกองทุนฯ ไม่เหมาะสมเกิดจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ให้ความสำคัญ
กับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ มากกว่าการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทสตรีและเครือข่าย สำหรับโครงการที่ดำเนินการส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ สาเหตุสำคัญเกิดจาก ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการของ คกส.จ. และคกส.ต. ขาดระเบียบหรือหลักเกณฑ์กลางที่ใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ความเหมาะสม ความสมเหตุสมผลความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าของโครงการ และขาดข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญและเป็นปัจจุบันในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ ประกอบกับ คกส.จ. ขาดประสบการณ์หรือมีระดับความมากน้อยของประสบการณ์ที่แตกต่าง อีกทั้งการเสนอขอโครงการส่วนหนึ่งมิได้เกิดขึ้นจากความจำเป็นและความตั้งใจของสมาชิกสตรีอย่างแท้จริง แต่รวมกลุ่มกันเพื่อให้ได้เงินไปใช้จ่ายในครัวเรือนจึงไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
ประการสำคัญการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ยังมีข้อบกพร่องเกิดจาก คกส.จ. คกส.กทม.คกส.ต. ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำระบบฐานข้อมูลโครงการ การจัดทำบัญชีและทะเบียนคุมต่าง ๆ การจัดทำหนังสือสัญญาและรายละเอียดแนบท้าย รวมทั้งไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำหลักฐานในการใช้จ่ายเงิน ตลอดจนขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนฯ ประกอบกับขาดระเบียบกลางที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการประเมินผลโครงการในทุกระดับที่ชัดเจน
สตง.ยังระบุ ข้อสังเกต ปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินจำนวนมากให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาหญิงและชายให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
ที่สำคัญ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นระเบียบภายในของหน่วยราชการโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการกองทุนฯ ทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับตำบล หากมีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่มิชอบ และเกิดความเสียหายการดำเนินการจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการกับบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายในการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมาก
ที่สำคัญงบประมาณแผ่นดินที่กองทุนฯ ได้รับการจัดสรรมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทแต่การพิจารณาจัดสรรมิได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาโดยรัฐบาลที่ผ่านมาใช้จ่ายจากงบกลางซึ่งกระทำได้ง่าย การใช้จ่ายเงินจึงมีความเสี่ยงที่อาจถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง มากกว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพของสตรีให้ได้รับความเป็นธรรม ให้มีความเท่าเทียมกันในโอกาส ให้ได้รับการพิทักษ์คุ้มครองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้แสดงความเห็นและข้อสังเกต ที่สำคัญเช่น 1) ที่มาของเงินที่ตั้งเป็นกองทุนฯ ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมจึงเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่จำเป็น เพราะมีช่องทางขององค์กรและสถาบันการเงินจำนวนมากที่จัดให้สตรีที่มีความยากลำบากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้กู้ยืมหลายช่องทางให้สตรีสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นอยู่แล้ว 2) กระบวนการของการจัดการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีความชัดเจน แทนที่จะเป็นไปตามหลักการ “ทั่วถึงและเท่าเทียม” ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกภาคส่วนเข้าถึงกองทุนฯ ได้อย่างเสมอภาค แต่กลับสร้างช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ เท่านั้น
ประกอบกับจากการเสวนาของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมีข้อสังเกตว่า เงินที่จ่ายให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะถูกฝังในระบบงบประมาณของประเทศ จะคล้ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รัฐบาลจะต้องอุดหนุนให้เรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดเป็นภาระด้านงบประมาณ และการที่วัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเน้นให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ มีลักษณะเอาเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา ขณะที่มิติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็ง ความมั่นคงของสตรี อาศัยเงินอย่างเดียวไม่ได้ ควรให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ ด้วย เช่นประเด็นการสร้างเครือข่ายน่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาบทบาทสตรี สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้ง บทบาทอำนาจหน้าที่ วัตถุประสงค์
แนวการดำเนินงาน และสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ปรากฏว่าการดำเนินงานของกองทุนฯ มีความคล้ายคลึงกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีการจัดตั้งมาก่อนแล้ว ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(ปัจจุบันยกฐานะเป็นกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยปัจจุบันมีองค์กรสตรีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รวมจำนวน 78,906 คณะและทั้งหมดเป็นสตรีอาสา
สำหรับโครงการที่ส่อว่าจะมีปัญหาเรื่องการอนุมัติงบประมาณ สตง. ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง 2 โครงการ คือ โครงการบ้านพักริมน้ำ หมู่ 9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี และโครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก
โดยตรวจสอบพบว่า คกส.จ. บางรายมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรีบางกลุ่ม/โครงการ มีการนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ได้นำเงินไปใช้ตามแผนงาน กิจกรรมหรือรายการที่กำหนดไว้
การดำเนินการทั้งสองส่วนนี้ ขอให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ สั่งการให้มีการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน โดยอาจมีบทลงโทษที่เหมาะสม เพื่อให้มีสภาพบังคับและบังเกิดผลในเชิงป้องปราม และต้องประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มสมาชิกสตรีทราบอย่างทั่วถึง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2558 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตามที่สตง.ระบุ
ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งว่า การขออนุมัติงบประมาณส่วนนี้ เป็นไปตามขั้นตอน ผ่านการพิจารณาทั้งจากคณะกรรมการกองทุนฯ ระดับตำบล ระดับจังหวัดแล้ว แต่ในส่วนรายละเอียดโครงการฯ คงต้องรอให้สำนักงานฯ ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบจาก สตง. เข้ามาเป็นทางการก่อน จากนั้นจะมีการสรุปเรื่องนำเสนอข้อมูลให้ทางจังหวัดรับทราบอีกครั้ง
เมื่อถามว่า สตง.ระบุว่า การขออนุมัติโครงการถูกระบุว่ามีลักษณะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์
เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายนี้ ระบุว่า ขอรอดูข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสตง.อีกครั้งก่อน ถึงจะให้ข้อมูลได้
อ่านประกอบ :
เอื้อปย.บ้านพักอุดรฯ-ร้านกาแฟพิษณุโลก โดนก่อน! สั่งสอบทุจริตกองทุนฯสตรีทั่วปท.
เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรียุค'ปู' ผลาญงบหมื่นล.