12 ปีไฟใต้ ยังห่างไกล"สันติสุข"
ประเทศไทยคงมีปัญหาเยอะ จนไม่มีความสามารถในการตั้งสมาธิจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ให้ลุล่วงไป
ข้อสังเกตนี้สะท้อนชัดจากปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจนถึงป่านนี้ผ่านมาเกือบ 12 ปีแล้ว (นับจากความรุนแรงรอบล่าสุดที่เริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ เมื่อ 4 มกราคม 2547) ก็ยังไม่มีวี่แววชัดเจนนักว่าจะสถาปนาความสันติสุขขึ้นในพื้นที่อย่างถาวรได้อย่างไร
สถานการณ์ที่ดีขึ้นบ้าง ดูจะมาจากความเบื่อหน่ายของประชาชนและกลุ่มผู้ก่อการบางส่วนเองมากกว่าเป็นผลจากการปฏิบัติงานของภาครัฐ
ประชาชนในพื้นที่เบื่อหน่ายกับความรุนแรงจนแทบสิ้นหวังว่าแผ่นดินเกิดของพวกเขาจะกลับมาสงบสันติเช่นเดิม เบื่อหน่ายจนไม่กลัว จนกลายเป็นความเคยชิน และใช้ชีวิตปกติ ทว่าเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบแรงทั้งจากสถานการณ์ และราคายางพาราตกต่ำ ทำให้กิจกรรมการลงทุนและการค้าขายซบเซา ซ้ำเติมชาวบ้านให้สิ้นหวังหนักขึ้นไปอีก
กลายเป็นว่าชาวบ้านเองก็ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนภาครัฐหรือรัฐบาล เพราะไม่ได้มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือแนวทางการเอาชนะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนกลุ่มผู้ก่อการรุ่นแรกๆ ก็เริ่มเซ็ง คนพวกนี้เป็นผู้ก่อการที่จัดว่ามีอุดมการณ์ (ส่วนจะถูกหลอก ถูกทำให้เข้าใจผิดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เพราะสู้มานานแต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะแยกดินแดนได้ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากสงครามประชาชนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ (เพราะประชาชนเบื่อหน่ายอย่างที่บอก)
สถานการณ์มันก็เลยดูมึนๆ ทรงๆ เดี๋ยวเงียบ เดี๋ยวระเบิดอยู่แบบนี้...
กิจกรรมที่คึกคักเป็นที่สุด ด้านหนึ่งกลายเป็นกิจกรรมของกลุ่มอิทธิพลผิดกฎหมาย ทั้งยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี ถือเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้หลายชีวิตในพื้นที่ยังดำรงอยู่ได้ และบางส่วนก็ไหลไปหล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่ โดยมีการเมืองท้องถิ่นเป็นตัวจัดสมดุล
อีกด้านหนึ่ง ก็คือการที่มีกำลังพลและบุคลากรของรัฐจากนอกพื้นที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมๆ แสนคน (อัตราตามกรอบ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ล่าสุดอยู่ที่ 8 หมื่นกว่านาย) ทำให้มีงบประมาณลงไปหมุนหลายรอบในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมพื้นฐานตั้งแต่ทหารจ่ายกับข้าว ไปจนถึงโครงการก่อสร้างต่างๆ
แน่นอนว่าก็มีการเมืองและอิทธิพลท้องถิ่นแทรกเข้ามาขอแจมบริหารจัดการและจัดสมดุลเช่นกัน โดยมีการใช้ความรุนแรงเป็นเงื่อนไขต่อรอง
สถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่เป็นแบบนี้ โอกาสแห่งสันติสุขจึงอยู่ห่างไกล...
แม้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในนาม "มารา ปาตานี" แต่ในรายละเอียดก็พบว่ายังมีอุปสรรคปัญหามากมาย เหตุผลสำคัญก็เกิดจากปัจจัยที่เกริ่นไว้ในตอนต้น คือ ประเทศไทยมีปัญหาเยอะ จนผู้นำหรือคณะผู้บริหารประเทศไม่สามารถตั้งสมาธิจัดการกับปัญหาให้ลุล่วงไปได้
ที่อ้างว่ากระบวนการพูดคุยเป็น "วาระแห่งชาติ" ก็เป็นเพียงในนามหรือความเชื่อของฝ่ายรัฐบาลไทย เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว หากเทียบกับฟิลิปปินส์ที่มีปัญหามินดาเนา กรณีของรัฐบาลฟิลิปปินส์แก้ปัญหาในลักษณะ "วาระแห่งชาติ" ชัดเจนมากกว่าไทยมาก
ส่วนของบ้านเรา ผู้นำประเทศจะพูดถึงปัญหาภาคใต้เมื่อถูกนักข่าวถาม ซึ่งนักข่าวก็มักถามเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ หรือมีข่าวจะพูดคุยรอบใหม่ หรือมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องใหม่ๆ ของกลุ่มผู้เห็นต่างฯ
คำตอบที่ได้จึงเป็น "ท่าที" ที่ไม่ได้หนุนเสริมการพูดคุย เช่น ดูแคลนผู้เห็นต่างว่าเป็นโจร (ความจริงจะเป็นหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่เมื่อเลือกที่จะพูดคุย ก็ต้องยอมรับอีกฝ่ายให้มากกว่านั้น และต้องยอมรับอย่างจริงใจด้วย) หรือแม้แต่การปฏิเสธข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องแบบไร้เยื่อใย ไม่ได้มีกระบวนการหารือเพื่อตอบข้อเรียกร้องอย่างมียุทธศาสตร์ มีชั้นเชิง หรือเพื่อสร้างอำนาจต่อรองใดๆ
ท่าทีเหล่านี้ กลายเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มากขึ้น แทนที่จะลดลงหรือสร้างความหวังไปด้วยกันเมื่อมีการพูดคุย
ขณะที่คณะพูดคุยนั้นเล่า ก็มีกรรมการเพียง 8-9 คน และไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากเท่าทีควร ส่วนภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการพูดคุย ได้มีการตั้ง "องค์กร" นำไปแล้ว แต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ โดยภาครัฐไม่ได้เข้าไปพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับกระบวนการพูดคุยที่รัฐบาลวางโรดแมพเอาไว้หรือไม่
ความเคลื่อนไหวบางครั้งของภาคประชาสังคมที่ว่า จึงกลายเป็นการไปเพิ่มน้ำหนักและเงื่อนไขต่อรองให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯมากกว่า ดังเช่นการตั้งองค์กรที่รับเงินช่วยเหลือจากชาติตะวันตก แล้วเชื่อมประสานไปยังผู้เห็นต่างฯบางกลุ่มเพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารให้คนเหล่านั้น โดยที่หลายๆ ครั้งก็ไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุยในนามของรัฐบาลไทย หนำซ้ำยังเป็นการ "ดิสเครดิต" อีกด้วย
ภาคประชาสังคมบางองค์กรจึงถูกโจมตีว่าเป็น "กองเชียร์โจร" หรือสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง จนสร้างประเด็นขัดแย้งขึ้นอีกชั้นหนึ่งในพื้นที่
เมื่อผนวกกับการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ที่ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ หรือ "วาระแห่งชาติ" จริงจังอะไร ไม่ได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างดีพอ วันนี้จึงเห็นทัศนคติของผู้คนจำนวนไม่น้อย หรือแม้แต่พระภิกษุที่ยุให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำนองถ้าฆ่าพระ ก็ต้องเผามัสยิด
12 ปีไฟใต้ 12 ปีปล้นปืนที่กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งในอีก 2 เดือนข้างหน้า จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการนับวาระครบรอบของความรุนแรง และเตรียมรับมือกับความรุนแรงระลอกใหม่...เท่านั้นเอง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ กรณีระเบิดรถหุ้มเกราะรีว่า ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อกลางเดือนตุลาคม
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์คอลัมน์ แกะรอย ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ด้วย