พระครูมงคลคุณาธาร...ไฟใต้ สถานการณ์ กับประเพณีชักพระที่เปลี่ยนไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังวันออกพรรษา 1 วัน จะมีประเพณีสำคัญของคนปักษ์ใต้ นั่นก็คือ "ประเพณีลากพระ" บางท้องถิ่นเรียก "ประเพณีชักพระ"
ประเพณีพื้นเมืองนี้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล น่าคิดไม่น้อยว่าในห้วงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยสถานการณ์ความไม่สงบนั้น เหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ส่งผลกระทบต่อประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาบ้างหรือไม่
พระครูมงคลคุณาธาร ผู้ช่วยอาวาสวัดนพวงศาราม หรือวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ให้ทัศนะเรื่องนี้กับ "ทีมข่าวอิศรา"
"ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลง มันก็มีบ้างนิดหน่อยตามสภาพเหตุการณ์บ้านเราที่ไม่ปกติ ทำให้อุบาสก อุบาสิกา หรือญาติโยมไม่กล้าออกมาทำบุญ เพราะกลัวอันตรายจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เรือพระในแต่ละวัดมีอุบาสก อุบาสิกาน้อยลง ถือแม้ว่าคนเหล่านั้นจะมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าก็จริง แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นตัวบังคับไม่ให้คนออกมาทำหน้าที่ สิ่งนี้คือความเปลี่ยนแปลงอย่างที่หนึ่ง"
"ประการที่สอง ช่างที่ชำนาญในการประกอบเรือพระนั้น มีไม่มากแล้วในปัจจุบัน จึงทำให้การทำเรือพระลดน้อยลง เรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นถ้าทางหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเพณีชักพระให้การสนับสนุนช่างใหม่ๆ รวมไปถึงอนุรักษ์ของดีที่มีอยู่แล้ว เรือพระก็คงไม่ขาดหายไปจากบ้านเราชาวปักษ์ใต้"
"ประการที่สาม ขาดการสนับสนุน หมายถึงภายในวัด ถ้าเจ้าอาวาสไม่เห็นดีเห็นงามกับสิ่งเหล่านี้ ก็อาจทำให้เรือพระหายไปได้เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะบางวัดก็ไม่สามารถทำเรือพระได้ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าอาวาส"
พระครูมงคลคุณาธาร ผู้รับบทเป็น "ช่างจำเป็น" ในการประดิษฐ์เรือพระ บอกต่อว่า ถึงแม้อาตมาไม่มีฝีมือในการประดิษฐ์เรือพระให้ออกมาวิจิตรพิสดารเหมือนกับช่างที่มีความชำนาญ แต่อาตมาก็ทำเพื่อรักษาประเพณีที่ดีงามเอาไว้ และเพื่อน้อมรำลึกถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า น้อมนำเป็นพุทธบูชา คือทำเท่าความสามารถที่จะทำได้ พอดูว่าเป็นลักษณะเรือพระที่สามารถให้เยาวชน หรือว่าอุบาสก อุบาสิกา ในเขตพื้นที่ได้ร่วมทำกิจกรรมตรงนี้ ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธที่นับถือพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่อยากให้ประเพณีลากพระสูญหายไปจากปักษ์ใต้บ้านเรา ก็ต้องอาศัยอุบาสก อุบาสิกา อาศัยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนงบประมาณก็ดี หรือจัดให้บุคคลที่มีความรู้เรื่องทางศิลปะ จัดฝึกอบรมให้กับเยาวชนในบริเวณวัดใกล้ๆ ให้มาฝึกทำเรือพระก็ดี เพราะสิ่งนี้จะเป็นการส่งเสริมอย่างหนึ่ง ถ้าเราทำได้ ประเพณีลากพระคงไม่สูญหายไปอย่างแน่นอน
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนพวงศาราม กล่าวอีกว่า นอกจากการร่วมทำบุญกันแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเรือพระ นั่นก็คือ การแขวนต้ม (ข้าวต้มมัด ห่อด้วยใบกะพ้อ) บูชาพระ ซึ่งชาวบ้านที่มาร่วมงานแทบทุกครัวเรือนจะพยายามนำต้มไปแขวนบูชาตามคติความเชื่อให้ครบถ้วนเท่าจำนวนพระ (ซึ่งจะเท่ากับจำนวนวัดที่ร่วมขบวนลากพระ)
"ขนมต้มนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนา เพียงแต่ว่าชาวบ้านต้องการให้พระได้เก็บไว้ฉัน (รับประทาน) เพราะขนมต้มนี้เก็บไว้ได้นาน และสามารถนำไปทอดหรือย่างเพื่อฉันได้ เนื่องจากช่วงออกพรรษาของทุกๆ ปี มักมีฝนตกลงมา ทำให้พระสงฆ์ไม่สะดวกต่อการออกบิณฑบาต ชาวบ้านเลยเตรียมอาหารเก็บได้นานไว้ถวาย"