ชุมชนต้นแบบ 'สันติพัฒนา' สุราษฎร์ฯ ต่อสู้เข้าถึงทรัพยากรที่ดินรัฐอย่างสงบ
เปิดชุมชนต้นแบบสันติพัฒนาสุราษฏร์ธานี สู่การต่อสู้ในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินของรัฐอย่างสันติ พร้อมชูแนวทางการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอย่างยั่งยืน
คำว่า “สันติ” กลายเป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยในเรื่องการต่อสู้ด้วยความสงบ ไร้ซึ่งความรุนแรง ซึ่งไม่ต่างไปจากการต่อสู้ของชาวบ้านใน ชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี ที่ใช้ระยะเวลากว่า 9 ปีในการสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างสงบ เน้นไปที่การหาหลักฐานการถือครองทางกฎหมายไปสู้กันในชั้นศาลจนได้รับชัยชนะ
ทั้งนี้ หากเทียบอัตราส่วนการถือครองที่ดินของคนไทยทั้งประเทศทั้งหมด 320 ล้านไร่ พบว่า เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องจำนวน 130 ล้านไร่ และในจำนวนนี้อยู่ในมือคนไทยเพียง 15 ล้านคนจากทั่วประเทศเท่านั้น ยังมีคนไทยอีกกว่า 7 ล้านคนที่ไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินใด ๆ เลย สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องสิทธิที่ดินทำกินในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน
มนัส กลับชัย แกนนำชาวบ้านสันติพัฒนา เผยถึงแนวทางการต่อสู้ว่า พวกเราเริ่มต่อสู้ในเรื่องของสิทธิที่ดินทำกินมาตั้งแต่ปี 2549 จากการรวมตัวของชาวบ้านที่ยากจน ไร้ที่ทำกินจำนวน 85 ครัวเรือน หรือกว่า 200 คน เมื่อเราทราบว่า รัฐมีนโยบายในการนำที่ดินของรัฐมาให้เอกชนเช่าเพื่อทำประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินราชพัสดุ หรือที่รกร้างว่างเปล่า ที่ดินของรัฐก็ควรถูกจัดการในฐานะที่เป็นทรัพยากรส่วนร่วมที่ประชาชนจะมีอำนาจบริการจัดการร่วมกัน และรัฐเองก็ต้องจัดที่ดินเหล่านั้นให้เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้
เรายึดถือแนวทางต่อสู้นี้เป็นหลักด้วยความหวังที่คนยากคนจนอย่างพวกเราจะต้องมีสิทธิในที่ดินทำกินกับเขาบ้าง ใน ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี มีที่ดินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือ สปก.ที่ถูกปล่อยให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในพื้นที่เช่าทำสวนปาล์ม
แต่บริษัทเอกชนเหล่านั้นก็ได้บุกรุกพื้นที่เกินกว่าสัญญาเช่าโดยอ้างถึงกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินในการครอบครองพื้นที่อย่างถูกต้อง โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่ ชาวบ้านใช้อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพและครอบครัวมาก่อนหน้านี้แล้ว
"ในช่วงระหว่างที่เราต่อสู้นั้นพวกเราถูกข่มขู่คุกคามในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำการขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาที่เรียกเงินกันเป็นหลักล้าน แต่สุดท้ายเราก็ยืนหยัดที่จะต่อสู้ในรูปแบบของสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง หรือต่อสู้กันเฉพาะในข้อของกฎหมาย การหาพยานหลักฐานมายืนยันในสิทธิทำกินของประชาชนตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเรา” แกนนำชาวบ้านสันติพัฒนากล่าว
(ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา)
การต่อสู้ของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 โดยบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจน้ำมันปาล์ม ระบุว่าบริษัทของตนเองนั้น มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ครอบคลุมพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินอยู่และได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่เพื่อทำการขับไล่ชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่ทำกิน ต่อมาในปี 2549 ชาวบ้านได้ ทำคำร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ ที่บริษัทครอบครองทั้งหมดผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่นั้นครอบครองที่ดินทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านก็ทำคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมายแต่ หน่วยงานเหล่านั้นไม่ยอมดำเนินการ ชาวบ้านก็ทำคำร้องถึงหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม
โดยทุกหน่วยงานให้ข้อสรุปเหมือนกันว่าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ครอบครองที่ดินมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้ข้อเท็จจริงอย่างนี้ แต่หน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่ ชาวบ้านก็ยกระดับการเรียกร้องโดยการเข้าครอบครองพื้นที่โดยตั้งเป็นชุมชนชื่อว่า ชุมชนสันติพัฒนา เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550
ปัจจุบันนี้ศาลได้มีคำสั่งให้คดีความเรื่องโฉนดที่บริษัทใช้อ้างสิทธิครอบครองเป็นเอกสารที่ถูกจัดทำขึ้น หรือเป็นเอกสารปลอมซึ่งออกโดยหน่วนงานของรัฐ ถือเป็นชัยชนะในส่วนหนึ่งที่สำคัญของการต่อสู้ของชาวบ้าน
(พื้นที่ทำกินของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา)
แววนฤมล คุมไพรันย์ หรือ พี่สาว อายุ 40 ปี ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ร่วมสะท้อนถึงความรู้สึกในการต่อสู้ให้เราฟังว่า ตอนที่ถูกนายทุนฟ้อง พี่เสียใจมากและคิดท้อ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาบ้านที่ไหนอยู่ และจะเอาที่ดินที่ไหนทำกิน แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตัดสิน ให้เราชนะ ก็ทำให้พี่มีกำลังใจมากขึ้น
สมัยก่อนบ้านพี่เคยมีที่ดิน แต่เจ้าหน้าที่บอก เป็นการบุกรุกป่า จนต้องย้ายออกมา ซึ่งพวกเราไม่ขออะไรมาก ขอเพียงสิทธิที่ดินทำกินของตัวเองเท่านั้น อยากให้ชาวบ้านทั่วประเทศที่ต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน อย่าท้อถอยให้เข้มแข็ง และอยากให้คนที่ร่ำรวย หันมามองและเห็นปัญหาของคนจนบ้าง เพราะทุกวันนี้คนจนกับคนรวยห่างกันเหลือเกิน
ส่วน ทองเหรียญ โยธาภักดี หรือ พี่ทองเหรียญ อายุ 49 ปี ตัวแทนชาวบ้านอีกหนึ่งครอบครัว เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า แต่ก่อนพี่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง จึงได้ตัดสินใจมาร่วมต่อสู้ กับพี่น้องชุมชนสันติพัฒนา โดยเมื่อตอนที่เราถูกฟ้องหลายคดี ใหม่ ๆ นั้น พี่และเพื่อนๆ หนักใจมาก เพราะเราเป็นเพียงชาวบ้านตัวเล็ก ๆ เมื่อถูกฟ้องทางด้านกฎหมาย เราก็ไม่รู้ว่าจะไปสู้เขาได้อย่างไร แต่ก็ยังดีที่มีหลายหน่วยงานมาช่วยพวกเรา ทำให้เรามีความหวังจนถึงทุกวันนี้
คนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จะไม่เข้าใจปัญหาของคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย ควรจะได้สิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งนโยบายของรัฐที่มีอยู่เดิม เป็นนโยบายที่ดี ที่จะมีการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน ทุกวันนี้พวกเราจะสู้ต่อไปในผืนดินแห่งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนทุกคนควรได้รับสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการต่อสู้ด้านกฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ดินทำกิน จนประสบความสำเร็จแล้ว กระบวนการจัดการในชุมชนแห่งนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยผู้ใหญ่มนัส ได้เผยว่า นอกจากระเบียบข้อบังคับในการจัดสรรปันส่วนที่ดิน ที่ทุกครอบครัวต้องได้คนละ 11 ไร่ แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ที่เหลือใช้ในการปลูกพืช รวมไปถึงการทำปฏิญญา ร่วมกันที่จะไม่ขายที่ดินทำกินแล้ว
ยังมีการบริหารจัดการในรูปแบบของ“สิทธิชุมชน”เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครอง และใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มาบริหารจัดการในชุมชนด้วย อาทิ พื้นที่ปลูกพืช ต้องแบ่งสรรไปปลูกพืชอาหารด้วย เพื่อลดต้นทุน สร้างความมั่นคงในส่วนของอาหาร รวมไปถึงการปลูกป่าต้นน้ำทดแทน เพื่อเกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 100 ไร่ เป็นต้น รวมไปถึงการจัดประชุมร่วมกันภายในหมู่บ้าน เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อระบุถึง ปัญหา และวิเคราะห์ปัญหา ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อหนุนเสริมการอยู่ร่วมกันยั่งยืนในชุมชน
(ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา)
จุดเด่นอีกอย่างในส่วนของสิทธิชุมชน บ้านสันติพัฒนา คือ “การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์”เพื่อความมั่งคงของชีวิตในวันข้างหน้า มีทั้งเก็บรายเดือน เดือนละ 100 บาท ที่เมื่อฝากเงินไว้แล้ว หากมีความจำเป็นหรือเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็สามารถทำการกู้เงินไปใช้ได้ ดีกว่าไปกู้เงินจากนอกระบบ รวมไปถึง สวัสดิการเงินออมเก็บวันละ 1 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ โดยสามารถนำใบรับรองแพทย์ มาเบิกเพื่อขอรับเงินคืนได้ ซึ่งส่วนนี้ชาวบ้านต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นความมั่งคงในคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง
ขณะที่แผนงานและนโยบายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน จะการแบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว อย่างระยะเร่งด่วน จะเน้นไปที่การปลูกสร้างบ้านถาวรให้แล้วเสร็จทุกคนภายใน 3-6 เดือน ส่วนระยะกลางจะเน้นไปที่ การขอเลขที่บ้านเพื่อยกสถานะเป็นเขตการปกครอง และระยะนาว จะเน้นไปที่สนามกีฬาชองชุมชนจำนวน 7 ไร่ เพื่อส่งเสริม ให้เยาวชนได้ออกกำลังกายและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ด้าน สุรพล สงฆ์รัก กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เสริมว่า แม้ชาวบ้านที่นี่จะต่อสู้จนชนะในแง่ของกฎหมายแล้ว หากแต่สิ่งที่พวกเรากังวลคือ หลังกรณีข้อพิพาทกับบริษัทเอกชนได้จบลง ทางสปก.ยังไม่ได้มอบสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งที่สปก.สามารถดำเนินการได้เลย แต่ทุกวันนี้กลับนิ่ง เรื่องการถือครองที่ดินของชาวบ้านเพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินทำกินอย่างเต็มรูปแบบจึงล่าช้าและมีความชัดเจนผมจึงอยากเรียกร้องให้สปก.เข้ามาดำเนินการเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินให้ชาวบ้านอย่างชัดเจนด้วย
บ้านสันติพัฒนา นับเป็นชุมชนเข้มแข็งอีกแห่ง ที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถเอาชนะนายทุนเรื่องสิทธิที่ดินได้ แบบสันติ ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ โดยใช้หลักที่ว่า ยืนอย่างมั่นคงบนความถูกต้อง พร้อมสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ผ่าน สิทธิชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นแบบการต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินของรัฐและเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศสามารถดำเนินการต่อสู้และจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างยืนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องห่างระหว่างชนชั้นของประเทศไทยอย่างชัดเจนได้ !!!!!!!