สนช.เปิดไต่สวนถอดถอนคดี ป.ป.ช.ฟัน'เสี่ยตือ'รวยผิดปกติ
29 ต.ค. 58 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กล่าวชี้แจงว่า กรณีข้อกล่าวหาปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หรือร่ำรวยผิดปกติอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะเห็นว่า ช่วงที่ตนได้รับตำแหน่งเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยเข้าสู่ยุคไอเอ็มเอฟ ซึ่งในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ไม่เคยมีการทำโครงการขนาดใหญ่ หรือการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สักครั้งเดียว ไม่เคยไปใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์
ตนมีนโยบายคือไม่เน้นใช้เงิน แต่ใช้ปัญญาและหัวใจแก้ปัญหาการศึกษา ซึ่งตนเองเคยพยายามเสนอหลักฐาน เป็นคำให้การของอดีตผู้บริหารกระทรวง แต่ที่ประชุมสนช.ไม่อนุญาต ทั้งนี้ จะเห็นว่าการกล่าวหาเรื่องร่ำรวยผิดปกตินี้ ฯ ป.ป.ช.ไม่ได้เชิญข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการมาให้การ อีกทั้งในสมัยดำรงตำแหน่งดังกล่าว ยังไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถูกร้องเรียนในประเด็นทุจริต
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นเรื่องที่มาของบ้านนั้นได้ซื้อที่ดินปี 2539 ถมที่ดินปี 2540 ก่อสร้างเสร็จปี 2541 ช่วงที่ตนเป็นฝ่ายค้าน ก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วยซ้ำ เรื่องนี้มีภาพถ่ายทางอากาศจากกรมแผนที่ทหารยืนยันได้ รวมทั้งผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ให้การป.ป.ช. ก็ยืนยันว่า บ้านหลังนี้สร้างเสร็จ 8 เดือน
ทั้งนี้ ในส่วนใบเสร็จซื้อวัสดุก่อสร้าง 18 ใบ ช่วงปี 2543- 2544 รวม 1.4 ล้านบาท เป็นช่วงที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ต้องตกแต่งภายใน หรือในส่วนรื้อออกทำใหม่ แต่กลับถูกนำมาใช้ประกอบการชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ 16 ล้านบาท ซึ่งกรรมการป.ป.ช. เสียงข้างน้อย ยังได้มีความเห็นว่า ตนได้วางแผนการก่อสร้างตั้งแต่ซื้อที่ดินปี 2539 แล้ว ไม่ใช่หาเงินไปก่อสร้างไป โดยอาศัยหน้าที่แสวงหาประโยชน์ เพื่อสร้างบ้านดังกล่าว
“ถามว่าเงินมาจากไหน ผมไม่ใช่นายทุนพรรค การเลือกตั้งก็จะได้รับเงินสนับสนุน ซึ่งประธานกรรมการไต่สวนชี้แจงแล้วว่า เหรัญญิกพรรคชี้แจงว่าในการเลือกตั้งปี 2539 ได้จัดให้ผม กว่า 20 ล้าน ซึ่งการสนับสนุนจะแบ่งเกรดเป็น เอ บี ซี ตามโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้ง ผมเป็นคนบ้านนอก ผูกพันชาวบ้านมาตลอด ได้รับเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ 2529 ด้วยเหตุนี้ ทำให้พรรคกล้าให้งบประมาณเลือกตั้งผม ซึ่งผมเกาะติดพื้นที่ ไม่ใช่ดอกเตอร์ ไม่มียศอะไร เลือกตั้งผมก็ใช้เงิน แต่ตีตั๋วเด็ก มีเงินเหลือมาตลอด
อีกทั้ง เงินสนับสนุนไม่ได้มาจากเงินพรรคให้อย่างเดียว ต้องยอมรับว่าแต่ละพรรคมีผู้หลักผู้ใหญ่ เขาต้องการเสียงสนับสนุน ซึ่งพวกเขาก็จะดูแลสมาชิก ที่ไม่ได้เป็นนายทุนพรรค เวลาเลือกตั้งก็ช่วยเหลือกัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 อีกทั้ง การเลือกตั้งแต่ละครั้ง บางคนก็ใช้เงินสนับสนุนเยอะ บางคนก็ใช้น้อย บางคนก็ล้างสอบตก คือยอมสอบตกครั้งหนึ่งเพื่อกอดเงินไว้ ส่วนตัวจดไว้หมด ว่าใครให้เงินมาเท่าไหร่ไว้ทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2538" นายสมศักดิ์ระบุ
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นที่ป.ป.ช. ระบุว่าตนเองกลับคำให้การนั้น ไม่ใช่เพราะจำนนต่อหลักฐาน แต่เป็นเพราะความเข้าใจผิดว่าทรัพย์สินไม่ใช้ชื่อตัวเอง ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และเงินที่ได้มาให้จัดกิจกรรมการเมืองนั้นได้แยกเป็นสองส่วน เมื่อยังไม่ได้ใช้ส่วนหนึ่งจึงแยกไปให้กิจการโรงสีของภรรยาเพื่อทำธุรกรรม เพราะสำนึกกตัญญูที่ยกลูกสาวให้เพราะครอบครัวตนเองและภรรยา มีฐานะที่แตกต่างสิ้นเชิง เมื่อโอนไปแล้วจึงไม่ได้แจ้งให้ป.ป.ช. ทราบ ซึ่งต่อมาเงินส่วนนี้ ทางโรงสีได้นำกลับมาซื้อที่ดินในการสร้างบ้าน
“ผมไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการระบอบประชาธิปไตย แต่ทั้งหมดอยู่บนหลักการข้อเท็จจริง ซึ่งได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ด้วยเอกสารพยานหลักฐาน ว่าผมได้บ้านมาก่อนปี 2542 ก่อนเป็นรมช.ศึกษาธิการด้วยซ้ำ มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ส่วนจะพิจารณาถอดถอนหรือไม่ถอดถอนก็อยู่ที่ดุลพินิจ ผลออกมายังไง ก็ยอมรับทุกกรณี แต่ไม่อยากให้การตัดสินใจ ของสนช. ทำให้สังคมต้องเบี่ยงเบน เสียหลักการ สูญเสียความยุติธรรม” นายสมศักดิ์กล่าว
หลังจากนั้น นายพีระศักดิ์ พอจิตต์ รองประธาน สนช. กล่าวว่า ตนเปิดโอกาสให้ สนช.ยื่นญัตติตั้งคำถามได้จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เวลา 12.00 น. และจะนัดพิจารณาญัตติคำถามในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
ขอบคุณข่าวจาก