สานต่อปฏิรูป สู่อนาคตประเทศ ผลักดันแนวคิด “พลเมืองเป็นใหญ่”
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประสบความ สำเร็จ รวดเร็ว และยั่งยืนได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ สปท. จำนวน 200 คน แต่อยู่ที่คนไทยทั้งประเทศ
แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานจะตกไป เพราะไม่ผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.
และแม้ว่า สปช. จะสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนด
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแนวคิดการ “ปฏิรูป” โจทย์สำคัญที่ สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการมาจะศูนย์เปล่า
เพราะนอกเหนือไปจากรายงานของ สปช. “วาระปฏิรูป 37 วาระ และ วาระพัฒนา 6 วาระ” ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.สามารถที่จะหยิบยกมาพิจารณาต่อแล้ว ยังมีอดีตสมาชิก สปช. และ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สปท. ต่อด้วย
นั่นหมายความว่าแนวทางการ “ปฏิรูป” ที่ สปช.ได้วางไว้จะได้รับการสาน ต่อจาก สปท. โดยที่ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล สมาชิก สปท. หนึ่งในอดีต สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สปท.จะนำรายงานของ สปช. มาพิจารณา โดยข้อเสนอบางอย่างรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จที่ได้รับการผลักดัน แต่ในขณะเดียวกัน สปท.จะต้องมีกระบวน การติดตามต่อไป ว่าภายหลังจากหน่วยงานต่างๆ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล มีความคืบหน้าในเรื่องนั้นอย่างไร
ส่วนประเด็นที่ยังไม่มีการดำเนินการจะต้องทบทวนและศึกษาต่อ โดยจัดลำดับการ พิจารณาว่าประเด็นใด คือ วาระเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการทำทันที และประเด็นใดที่จะต้องใช้ ระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ สปท. ยังจะต้องเดินหน้าพิจารณาในประเด็นใหม่ๆ ด้วย โดยเฉพาะทิศทางของโลก และกำหนดจุดว่าจะให้ประเทศไทยก้าวไปในทิศทางใด รวมไปถึงความเห็น จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย
ดร.ถวิลวดีฯ ย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประสบความ สำเร็จ รวดเร็ว และยั่งยืนได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ สปท. จำนวน 200 คน แต่อยู่ที่คนไทยทั้งประเทศ ที่จะต้องเดินไปด้วยกันในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง และไม่ให้เกิดความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับความก้าวหน้าที่ได้มาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ดร.ถวิลวดีฯ เห็นว่า มีหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น
ภาคที่ 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน ที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะแนวคิด “พลเมืองเป็นใหญ่” ซึ่งจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและบริหารบ้านเมืองมากขึ้น
แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ที่รัฐต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังและงบประมาณ ภาครัฐ โดยยึดหลักการรักษาวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง และการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างคุ้มค่า จัดให้มีระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม มีระบบภาษีอากรที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ และความเสมอภาคด้านอื่น มีกลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว และมีกลไกตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
การตรวจสอบถ่วงดุล ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม ถูกร่างขึ้นโดยคำนึงถึงกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค การใช้เงินของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด งบประมาณแบบ บูรณาการในระดับพื้นที่ ความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจ ฐานราก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ธรรมาภิบาล
ที่สำคัญที่สุด คือ ธรรมาภิบาล การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะอนุมัติโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมโลกมีกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรถูกนำมาพิจารณาต่อ
ขณะที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น การดูแลตัวเอง การจัดการนโยบายสาธารณะให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น
“ประชาชนดูแลตัวเอง เป็นการดูแลพื้นฐานวิถีชุมชน และในบริบทพื้นที่ ได้รู้สิทธิของพวกเขา ดูแลบ้านดูแลเมือง ไม่ได้รอคอยอนาคตจากส่วนกลางเท่านั้น ประชาชนจะดูแลตัวเองได้ดีกว่า” ดร.ถวิลวดี ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นใหม่ๆ ที่ได้มีวางแนวทางและเตรียมความพร้อม โดยมองอนาคตของประเทศ เช่น การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จัดระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชรา การเตรียมความพร้อมในกองทุนต่างๆ
ดร.ถวิลวดีฯ กล่าวด้วยว่าอีกหนึ่งจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือ การรับฟังความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งประชาชนระบุชัดเจนว่าต้องการให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินก่อนเข้าสู่อำนาจรัฐ
สิ่งเหล่านี้ คือ หลักการในการปฏิรูป ที่ผู้เคยเป็นทั้งอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีต สปช. ตั้งใจที่จะผลักดันให้แนวคิดเหล่านี้ถูกนำไปพิจารณาอีกครั้งเพื่ออนาคตของประเทศ