กรอง 35 ต้นแบบชุมชนจัดการตนเอง จากรากหญ้าเสนอสมัชชาปฏิรูป
พอช.เลือก 35 ชุมชนต้นแบบจัดการตนเอง เสนอเวทีสมัชชาปฏิรูป 24 มี.ค. เอ็นจีโอรางวัลสิทธิฯยกรูปธรรม อบต.สายนาวัง ดึงชาวบ้านสร้างแผนท้องถิ่น-ชูเกษตรอินทรีย์อยู่รอด-ลดสีขัดแย้ง นักพัฒนาแย้งแผนแม่บทภาคใต้ ระบุด้ามขวานอยู่รอดได้ด้วยเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดประชุม “สังเคราะห์ภูมิปัญญาชุมชน :พื้นที่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” โดย นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเป็นอีกประเด็นใหญ่ในการปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ ซึ่งจะมีการนำเสนอในเวทีใหญ่สมัชชาปฏิรูปวันที่ 24-26 มี.ค. ทั้งนี้ พอช.ได้คัดเลือกพื้นที่รูปธรรม 35 แห่งเพื่อสะท้อนกระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนในการปฏิรูปท้องถิ่นจากรากหญ้า (รายละเอียดท้ายข่าว)
นายบำรุง คะโยธา กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป และนักพัฒนารางวัลสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงรูปธรรมพื้นที่จัดการตนเอง อ.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ว่า ปัญหาสำคัญคือเกษตรกรถูกกระทบด้วยระบบทุนขนาดใหญ่ เพราะรัฐเลือกปักธงที่อุตสาหกรรม ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในอาชีพของตนเอง แห่ไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง กลไกที่นำมาใช้จัดการคือองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด
“หลักใหญ่คือ อบต.ต้องเป็นของชาวบ้าน ปลุกบทบาทให้ชัดว่าไม่ใช่แค่สร้างถนนหรือประปาหมู่บ้าน และปักธงต่อไปว่าจะสร้างกสิกรรมธรรมชาติที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น สร้างต้นแบบที่พิสูจน์ได้ว่าเกษตรลักษณะนี้อยู่รอดและมีศักดิ์ศรีเหมือนอาชีพอื่น”
นายบำรุง กล่าวต่อไปว่า เจตนาของการกระจายอำนาจคือทำให้ชาวบ้านบริหารจัดการเอง แต่ที่เกิดขึ้นจริงคือชาวบ้านมีหน้าที่เลือกผู้บริหารเข้ามานั่งรับเงิน นายกฯอบต.รวยขึ้น ขณะที่ความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่พัฒนา จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้ชุมชนมีส่วนในการสร้างแผน เช่น ใช้สวัสดิการชุมชนที่ทำอยู่เชื่อมกับประเด็นการพัฒนาพันธุกรรม เกษตรอินทรีย์ แล้วบรรจุไว้ในแผน อบต.โดยชาวบ้านเป็นผู้สนับสนุน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการลดความขัดแย้งเรื่องสี โดยนำประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นส่วนเชื่อม
“มีการตั้งกลุ่ม อปท.เพื่อประชาชนภาคอีสานเพื่อสร้าง อปท.ในฝันให้เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านสะท้อนมาว่าควรจัดการตัวเองอย่างไร ใช้เครื่องมือชนิดไหน ถามว่าวันนี้สายนาวังพึ่งตนเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ตอบว่ายังไม่ทั้งหมด แต่ความพยามให้ตำบลพึ่งตนเองได้เกิดขึ้นแล้ว” นายบำรุง กล่าว
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้แทนแผนแม่บทพัฒนาภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้มีบริบทการพัฒนาที่สุ่มเสี่ยง เพราะประเทศต้องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่ภาคใต้ทำรายได้ประชาชาติจากภาคการเกษตรได้ถึง 4 พันล้านบาทต่อปี มีสัดส่วนของคนจนน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น พึ่งพิงตนเองจากภาคเกษตรได้มากที่สุด เพราะปลูกได้ทั้งพืชเศรษฐกิจ ประมง และการท่องเที่ยว เห็นได้จากตัวเลขในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จำนวนคนตกงานและกลับมาประกอบอาชีพในพื้นที่มีมากที่สุด ขณะที่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนต่อปีเท่ากับ 15,940 บาท ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคำตอบที่โต้แย้งกับภาครัฐว่าภาคใต้ไม่จำเป็นต้องมีอุตสาหกรรม หรือหากจะพัฒนาจริงก็ควรเน้นที่อุตสาหกรรมการเกษตรไม่ใช่ปิโตรเคมี
“ชุมชนจัดการตนเองในภาคใต้จึงต้องมีส่วนในการเสนอแผนพัฒนาระดับจังหวัดและระดับภาคด้วย เพราะแผนดังกล่าวคือภาคปฏิบัติที่กำหนดทิศทางการพัฒนาในวงกว้าง อาจต้องขยายพื้นที่ทำงานร่วมกันทั้งจังหวัด ดึงระบบที่ครอบท้องถิ่นไว้ออกซึ่งชาวบ้านต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจจุดนี้แล้วโยงไปให้ถึงระดับนโยบายให้ได้” นางสาวศยามล กล่าว
ทั้งนี้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองจากพื้นที่รูปธรรม โดยในประเด็นการจัดการทรัพยากรที่ดินที่อยู่อาศัย เสนอว่าองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ ต้องอาศัยชุดข้อมูล สื่อชุมชน มีระเบียบกติกาหรือแผนการพัฒนาชุมชนที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากร กองทุนพัฒนาตนเอง สำคัญคือต้องทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้อย่างหลากหลายจากพื้นที่รูปธรรมต้นแบบ ขณะเดียวกันต้องมีแกนนำที่มีศักยภาพกระตุ้นจิตสำนึก สลายปัญหาในพื้นที่ได้ ไม่เพียงแต่อาศัยท้องถิ่นหรือรอคอยรัฐเท่านั้น
สำหรับแนวทางขยายรูปธรรมความสำเร็จสู่พื้นที่รอบข้างเพื่อยกระดับสู่นโยบาย เสนอว่าจะต้องประสานกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยอาจใช้กิจกรรมอื่นที่สอดคล้องบูรณาการร่วม เช่น บัญชีครัวเรือน สวัสดิการ และพัฒนาองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายให้เป็นหลักสูตรชุมชน ตลอดจนพัฒนาแกนนำและสร้างกระบวนการกลุ่มคนรุ่นใหม่ และมีข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญๆ เช่น ให้องค์กรชุมชนฐานรากเข้าถึงงบประมาณของรัฐได้ง่ายขึ้น แก้ไขพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนให้รัฐส่งตรงงบถึงมือมือสภาฯ โดยไม่ผ่านหน่วยงานกลาง และยกเลิกเขตป่าสงวน ป่าชายเลนต่างๆ แล้วสำรวจจัดโซนใหม่ให้เหมาะสมตามภูมิประเทศและความเป็นจริง .
รายชื่อจังหวัดจัดการตนเอง 35 พื้นที่