สปสช.ประชุมคัดเลือกบอร์ด-ควบคุมคุณภาพ 29-30 9 ต.ค.นี้
สปสช.เผยองค์กรเอกชน 9 ด้าน จำนวน 1,020 องค์กรขึ้นทะเบียนเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการ 2 ชุดตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ บอร์ด สปสช.และบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ และจะประชุมระดับประเทศเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการ 30 ต.ค.นี้ ส่วนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้แทนผู้ประกอบโรคศิลปะ จะประชุมคัดเลือกกันเอง 29 ต.ค.นี้ ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะคัดเลือกภายใน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาแต่งตั้ง ธ.ค.
นพ.วิทยา ตันสุวรรณนนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการและมอบหมายผู้รับผิดชอบการคัดเลือกกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสมัยวาระที่ 3 จะครบวาระของการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้มีการคัดเลือกกันเองในส่วนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะ และขึ้นทะเบียนองค์กรเอกชน เพื่อคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการ โดยเป็นไปตามเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุขกำหนด ซึ่งได้กำหนดให้ สปสช.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องคือ
ในช่วง ส.ค.-ก.ย. 58 สปสช.ได้ดำเนินการคัดเลือกเพื่อเป็นผู้แทนกลุ่มระดับจังหวัด และได้จำนวนผู้แทนระดับจังหวัดเพื่อมาคัดเลือกกันเองในระดับประเทศเพื่อเป็นกรรมการ ดังนี้
1.ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 163 คน
2.ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพ ได้แก่ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทันตกรรม เภสัชกรรม จำนวน 111 คน
3.ผู้แทนผู้ประกอบโรคศิลปะ ได้แก่ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขารังสีเทคนิค สาขากิจกรรมบำบัด สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และสาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย และให้รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด และผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จำนวน 204 คน
นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนระดับจังหวัดทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวนั้น หลังจากได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับจังหวัดแล้ว ก็จะคัดเลือกกันเองเป็นผู้แทนระดับประเทศในวันที่ 29 ต.ค.นี้ ซึ่งสปสช.จะจัดให้มีการประชุมผู้แทนทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อคัดเลือกกันเองเป็นผู้แทนระดับประเทศ
นพ.วิทยา กล่าวว่า ในส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านเด็กหรือเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช ด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ด้านผู้ใช้แรงงาน ด้านชุมชนแออัด ด้านเกษตร และด้านชนกลุ่มน้อย หลังจากที่ สปสช.ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.-15 ก.ย.เพื่อใช้สิทธิคัดเลือกกันเอง เป็นผู้แทน 9 ด้านนั้น ผลสรุปว่ามีจำนวนองค์กรเอกชนมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด 1,020 องค์กร และทั้งหมดจะทำการคัดเลือกกันเองให้เหลือ 5 ด้านในวันที่ 30 ต.ค.นี้
“สำหรับผู้แทน รพ.เอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคม รพ.เอกชนนั้น สปสช.จะดำเนินการจัดประชุมให้มีการคัดเลือกกันเองภายในวันที่ 5 พ.ย.นี้ และกรรมการในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ตำแหน่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ตำแหน่ง ในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ นั้น จะดำเนินการคัดเลือกภายในวันที่ 1-30 พ.ย.นี้ ซึ่งในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว จะมีการเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยจะดำเนินการภายในเดือน ธ.ค.นี้” นพ.วิทยา กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน นั้น ประกอบด้วยกรรมการ 30 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 9 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรเอกชน 5 ตำแหน่ง กรรมการผู้แทนหน่วยงาน 5 ตำแหน่ง (จาก แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา และ รพ.เอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ตำแหน่ง (ประกันสุขภาพ, การแพทย์และสาธารณสุข, การแพทย์แผนไทย, การแพทย์ทางเลือก, การเงินการคลัง, กฎหมาย และ สังคมศาสตร์)
ขณะที่ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีกรรมการ 35 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 4 ตำแหน่ง กรรมการผู้แทนหน่วยงาน 6 ตำแหน่ง (จาก แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา, สภาทนายความ และ รพ.เอกชน) กรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ตำแหน่ง กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพ 3 ตำแหน่ง กรรมการจากราชวิทยาลัย 4 ตำแหน่ง กรรมการจากองค์กรเอกชน 5 ตำแหน่ง กรรมการจากผู้ประกอบโรคศิลปะ 3 ตำแหน่ง กรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ตำแหน่ง