เจาะถุงเงิน 'บขส.'ก่อนย้าย'หมอชิต'-ลุยสู้ศึกชิงรายได้'นกแอร์-แอร์เอเชีย' หมื่นล.
"...สิ่งที่น่าจับตามอง คือ แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันของ บขส. ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. ให้ดำเนินการจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะหากเปรียบเทียบรายได้ระหว่าง บขส. กับ บริษัทเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างนกแอร์หรือแอร์เอเชียในปัจจุบัน ถือว่าห่างไกลกันมากนัก..."
นับจนถึงขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงแล้ว ที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) จะย้ายไปตั้งใหม่อยู่แถวบริเวณพื้นที่ติดถนนพหลโยธินด้านเหนือ เริ่มจากแยกถนนรังสิต-ปทุมธานี ฝั่งขาออกจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) เนื่องจากผลการวิเคราะห์ล่าสุด ที่กระทรวงคมนาคม นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบไป เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา
ระบุชัดเจนว่า เป็นจุดที่มีความเหมาะสมสูงสุด
ขณะที่ ภาพรวมโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ แห่งใหม่ มีการระบุรายละเอียดโครงการไว้ชัดเจน ว่า ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ อยู่บนถนนสายหลัก หรือมีทางเชื่อมต่อสู่ถนนสายหลัก ตั้งอยู้ใกล้โครงการข่ายทางด่วน และทางขึ้น-ลงทางด่วน ตั้งอยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้า เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 28 ล้านคนต่อปี
รายละเอียดโครงการก่อสร้างประกอบไปด้วย สถานที่รองรับรถโดยสารประจำทาง จำนวน 138 ชานชาลา รองรับรถตู้โดยสารประจำทาง จำนวน 45 ชานชาลา มีพื้นที่จอดรถสำรองวิน ที่พักพนักงานประจำรถ และอาคารซ่อมบำรุงเบาพื้นที่ประมาณ 24,600 ตารางเมตร ตัวอาคารสถานีขนส่งฯ และมีพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้โดยสารและสำนักงานประมาณ 57,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่จะมีความทันสมัยครบครัน ทั้งในด้านสาธารณูปโภค ร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐาน
(อ่านประกอบ : เปิดแผนย้าย'หมอชิต' คมนาคม ชงพื้นที่ริมถนนแยกรังสิตถึงมธ.เหมาะสมสูงสุด!)
คำถามที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ ผลประกอบการล่าสุดของ 'บริษัท ขนส่ง จำกัด' ผู้บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ตามแผนในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด นำส่งผลประกอบการล่าสุดปี 2557 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 แจ้งว่า มีรายได้รวม 4,960,038,563.54 บาท แยกเป็นรายได้จากการเดินรถ 3,582,224,222.63 บาท รายได้จากการเดินรถสาธารณะ 1,036,124,548.11 บาท ดอกเบี้ยรับ 124,476,746.91 บาท และรายได้อื่น 217,213,045.89 บาท
ส่วนรายจ่ายรวมเป็นเงิน 4,495,334,729.70 บาท แยกเป็นต้นทุนในการเดินรถ 3,361,259,162.22 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,134,075,567.48 บาท กำไรสุทธิ 342,305,342.03 บาท
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2490 ทุนปัจจุบัน 64,010,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 999 ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขนส่ง
ปรากฎชื่อ นาย สุทธิชัย สังขมณี และ พลโท สมชาย ชัยวณิชยา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ขณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล เป็นประธานกรรมการ นายสุทธิชัย สังขมณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรนุช สูงสว่าง พลตำรวจเอกอำนาจ อันอาตม์งาม พลเอกปรีชา จันทร์โอชา (น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ศาสตราจารย์วิโรจน์ รุโจปการ นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รวมเป็นกรรมการ กระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่สุด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตามอง คือ แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันของ บขส. ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. ให้ดำเนินการจะออกมาเป็นอย่างไร
เพราะหากเปรียบเทียบรายได้ระหว่าง บขส. กับ บริษัทเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างนกแอร์หรือแอร์เอเชียในปัจจุบัน ถือว่าห่างไกลกันมากนัก
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นกแอร์ ของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการล่าสุดปี 2557 มีรายได้รวมอยู่ที่ 12,295,557,852.00 บาท แยกเป็นรายได้ค่าโดยสาร 11,229,268,679 บาท รายได้จากการบริการ 914,007,970 บาท รวมรายได้อื่น 152,281,203 บาท
ส่วนสายการบินแอร์เอเชีย ของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด แจ้งผลประกอบการล่าสุดปี 2557 มีรายได้จากการขายและบริการ 25,355,514,917 บาท
ขณะที่รายได้ของ บขส. ในปัจจุบันอยู่ที่ 4,495,334,729.70 บาท เท่านั้น
จากข้อมูลตัวเลขรายได้ที่ปรากฎออกมาแบบนี้
เห็นที่ว่า บขส. น่าจะต้องใช้ "ฝีมือ" และ "ความพยายาม" อย่างมาก หากคิดจะไปแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำตามที่ ครม. คาดหวังไว้