เผยแพร่แล้ว! พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมปี 58 หลักเกณฑ์ช่วยเหลือ ปชช. 3 ข้อ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงาน ว่า ราชกิจจานุเบกษา 27 ต.ค.58 เผยแพร่ พระราชบัญญัติ กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มีเนื้อหา 43 มาตรา สาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสํานักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกว่า “กองทุนยุติธรรม” มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสําหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับ การช่วยเหลือประชาชนในการดําเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
มาตรา ๙ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
(๑) การช่วยเหลือประชาชนในการดําเนินคดี
(๒) การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลย
(๓) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
(๔) การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
(๕) การดําเนินงานกองทุนหรือการบริหารกองทุน และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับ การจัดกิจการของกองทุน
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนสํานักงบประมาณ ผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้แทนสํานักงาน ศาลยุติธรรม ผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก ผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จํานวนหกคน เป็นกรรมการ ให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นกรรมการ และเลขานุการ และให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสํานักงานกองทุนยุติธรรมจํานวนสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หมวด ๓ การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน
มาตรา ๒๖ บุคคลอาจขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนในการดําเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราว การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจน การสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคําขอ แบบคําขอ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด
มาตรา ๒๗ การช่วยเหลือประชาชนในการดําเนินคดี ประกอบด้วยค่าจ้างทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดําเนินคดี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด
มาตรา ๒๘ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดําเนินคดี และการให้ความช่วยเหลือ ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือ หรือคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจําจังหวัดต้องคํานึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) พฤติกรรมและข้อเท็จจริงของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน
(๒) ฐานะของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน
(๓) โอกาสที่ผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนจะได้รับการช่วยเหลือหรือบรรเทาความเสียหาย ตามกฎหมายอื่น
มาตรา ๒๙ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลย ให้คํานึงถึงว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวแลว้ ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการใดหรือไม่
มาตรา ๓๐ การขอปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจําเลย กองทุนอาจมอบอํานาจให้แก่ พนักงานของกองทุนหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นคําร้องขอปล่อยชั่วคราวและเป็นผู้ลงนาม ในสัญญาประกันก็ได้
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กองทุนยุติธรรมตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๓ มีงบประมาณที่จํากัด ประกอบกับไม่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทําให้กองทุนไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนในการดําเนินคดี และให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้อย่างทั่วถึง เสมอภาค และเป็นธรรม ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ดังนั้น สมควรกําหนดให้ กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสําหรับช่วยเหลือประชาชนในการดําเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจําเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน จึงจําเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้
อ่านฉบับเต็ม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/102/1.PDF