มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เรียกร้องการถ่วงดุลตรวจสอบ
เนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 58 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่314/2558 เรื่องกำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี กรณีที่ระบุว่าเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษ ที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น โดยสถานที่คุมขังดังกล่าว เป็นเรือนจำที่อยู่ในพื้นที่ พัน.ร.มทบ. 11 ถนนพระรามที่ 5 กรุงเทพ มีพื้นที่อยู่ในค่ายทหาร แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 58 พบว่า พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ได้รับตัวไว้ควบคุม ตามหมายขังของศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 58 เสียชีวิตจากการผูกคอตัวเองกับลูกกรงห้องขังภายในเรือนจำชั่วคราวดังกล่าว
การดำเนินกระบวนการยุติธรรมในคดีที่มีความผิดร้ายแรงและมีลักษณะพิเศษมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ระบบยุติธรรมของไทยที่ได้พัฒนาปรับปรุงให้มีความทัดเทียมสากล และเคารพหลักนิติรัฐมาตลอดนั้น กลับถูกทำลายโดยข้ออ้าง“กรณีพิเศษ” โดยการแจ้งความ จับกุม ควบคุมตัว และการพิจารณาคดีโดยหน่วยงานเดียวกัน ความเป็นอิสระขององค์กรในการอำนวยความเป็นธรรมได้รับการพัฒนา เพื่อให้การทำงานของตำรวจ อัยการ ศาล มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน มีกลไกสิทธิมนุษยชน ทั้งในตัวบทกฎหมายและในทางปฏิบัติ โดยเน้นเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อนำมาซึ่งการพิจารณาคดีเป็นธรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติอื่นหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 ซึ่งมีข้อห้ามเด็ดขาดในเรื่องการทรมาน ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งการก่อการร้าย การปราบปรามยาเสพติด การก่อความไม่สงบ ทั้งนี้หมายรวมถึงคดีที่มีความอ่อนไหวในสังคมไทย เช่น ในกรณีมาตรา 112
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นและข้อเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ขอให้ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เนื่องจาก ไม่มีความพร้อมและไม่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ขอให้ควบคุมตัวบุคคลในคดีการเมืองในเรือนจำปกติ โดยจัดให้มีแดนควบคุมเฉพาะ แม้จะมีคำสั่งให้เป็นสถานที่คุมขังตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม แต่การบริหารจัดการที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ ความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งสถานที่ตั้งเรือนจำอยู่ในเขตทหาร จนทำให้มีเหตุกังขาถึงสาเหตุการตายของผู้ต้องขังคนสำคัญรายนี้
2. ปรากฏในการแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์ว่า มีการขังเดี่ยวผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าว ซึ่งขัดกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน โดยห้ามไม่ให้มีการขังเดี่ยวผู้ต้องขังใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
3. กรณีดังกล่าวตามที่ระบุว่า จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีความเป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือ เพื่อตรวจสอบการเสียชีวิตให้กระจ่าง รวมทั้งจัดให้มีการผ่าชันสูตรศพ เพื่อหาสาเหตุการตายทางนิติเวช การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และมีการไต่สวนการตายอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบว่า เป็นการกระทำความผิดทั้งทางอาญาหรือวินัยของผู้ใด ต้องมีการนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
4. ทางราชการต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่ง โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศเช่น OHCHR และ ICRC ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและต้องปฏิบัติตาม
5. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่จะลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามพิธีสาร OPCAT เพื่อตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้ เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม
ภาพประกอบ : google.com