‘ดร.เศรษฐพุฒิ’ ติง กทม.จัดการเมืองขาดประสิทธิภาพ
รายการ 24 HRS โลกเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนโลก จัดเวทีเปิดจินตนาการใหม่กรุงเทพฯ ดร.เศรษฐพุฒิ เผยปัญหา กทม. รถติดน่าห่วง เหตุจัดการขาดประสิทธิภาพ ติง ผู้บริหารใช้งบฯ สูง พีอาร์องค์กร แนะใช้เฉพาะผลรูปธรรม นักสถาปนิก หวังเกิดพื้นที่ ปชช.แสดงความเห็นมากขึ้น
วันที่ 26 ตุลาคม 2558 รายการ 24 HRS โลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเสวนา จินตนาการใหม่กรุงเทพฯ REIMAGINING BANGKOK ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ปัญหาหลักของกรุงเทพฯ โดยยกตัวอย่าง การจราจรติดขัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ 37 หน่วยงาน และประชาชนเดินบนทางเท้าไม่ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้กรุงเทพมหานครจะอ้างว่า มีงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอ คงไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะมีบุคลากรจำนวน 9.7 หมื่นคน มากกว่ากรุงโซล ประเทศเกาหลี 2 เท่า ฉะนั้นปัญหาสำคัญจึงเกิดจากการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ
อีกปัญหาหนึ่ง พบว่า กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์สูง ทำให้เราเห็นสโลแกนและแผ่นป้ายติดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่ควรใช้งบประมาณส่วนนี้ในการดำเนินงานให้ผลรูปธรรม ทั้งนี้ เสนอแนะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมหรือพื้นที่เก่าแก่ โดยเฉพาะ ถ.ราชดำเนิน ซึ่งมีความสวยงาม โดยทำอย่างไรให้รักษาเอกลักษณ์ เกิดประโยชน์ และวิญญาณมากขึ้น
ด้าน น.ส.สุดารา สุจฉายา นักประวัติศาสตร์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 14 กม.ว่า ผู้ขี่จักรยานมีความต้องการเส้นทางกว้างขนาดนั้นหรือไม่ หรือความจริงต้องการเรียนรู้เรื่องราวของคนในชุมชนมากกว่า ดังนั้น ควรพัฒนาเส้นทางในตรอกซอกซอย ให้สามารถขี่จักรยานได้
ส่วนจะแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดอย่างไรนั้น นักประวัติศาสตร์ มูลนิธิเล็กฯ กล่าวว่า สาเหตุดังกล่าวทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องพึ่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เนื่องจากเข้าตรอกซอกซอยได้ อย่างไรก็ตาม ควรฟื้นคืนระบบสัญจรทางน้ำขึ้น โดยปรับให้เชื่อมต่อกับขนส่งมวลชนสาธารณะอื่น อาทิ รถไฟฟ้า
ขณะที่นายยรรยง บุญ-หลง สมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน กล่าวเสริมว่า นอกจากปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต้องแก้ไขแล้ว ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาเมือง ซึ่งภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญแตกต่างจากประเทศอื่น อาทิ บราซิล ที่มีการติดตั้งระบบตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่น่าจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น
สุดท้าย นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก กล่าวว่า เราอยากให้กรุงเทพฯ เหมือนเมืองในทวีปยุโรป แต่ไม่เคยทราบความหมายของเมืองเลย และปัจจุบันเชื่อว่า มีประชากรไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน แต่ผู้บริหารยังนำวิธีการจัดการเมือง 5 ล้านคน มาจัดการเมือง 10 ล้านคน อยู่ พร้อมเห็นควรให้ผู้นำเมือง ไม่ว่าระดับใด ต้องมีภาวะผู้นำ คือ ฟังเสียงประชาชน และรับผิดชอบ ถึงแม้สิ่งนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ทำก็ตาม .