ความจริงที่เขตศก.พิเศษ แม่สอด? 'ชาวบ้าน'ถูกไล่ที่ - 'นายทุน' ผุดคอนโด
"..13 ลักษณะอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่จะเข้ามาแม่สอดมีบางประเภทที่จะส่งผลกระทบ และเชื่อว่าเขตอุตสาหกรรมแท้จริงแล้วส่งประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าชาวบ้าน ตอนนี้มีนายทุนจากไต้หวันเตรียมมาสร้างคอนโดมิเนียมขนาดยักษ์เพื่อรองรับกว่า 5-6 หมื่นยูนิต ทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่มากและชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้มาก่อน.."
เมื่อวันที่ 15-17 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะผู้สื่อข่าวจากส่วนกลาง 10 สำนัก ลงพื้นที่ติดตามข้อเท็จจริงตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีหลายประเด็นน่าสนใจ
เมื่อกล่าวถึงนโยบายการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ย้อนกลับไปตามคำสั่งที่ 17/2558 ลงวันที่ 15พ.ค.2558 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ซึ่งเป็นเฟสแรกที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะ1-2 ปีนี้ เฉพาะตามแผนที่แนบท้ายคำสั่ง ได้แก่ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด มีคำสั่งให้เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 803 ไร่ พื้นที่ป่าถาวร 2,182ไร่ และพื้นที่สาธารณประโยชน์อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อรองรับ
ที่สำคัญคือให้กรมธนารักษ์ทำการรังวัดที่ดินที่จะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เข้ามาบริหารโดยแบ่งสัดส่วนให้ กนอ.เข้ามาบริหารจำนวน 813 ไร่ และอีก 1,287 กรมธนารักษ์จะปล่อยให้เอกชนเช่าลงทุน ซึ่งปัญหาคือในพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่มาตั้งแต่อดีต
(ภาพพื้นที่จะนำมาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
อนึ่ง การกำหนดขอบเขตของเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มี 3 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอแม่สอดในพื้นที่ 8 ตำบล ได้แก่ ต.แม่สอด ต.แม่ตาว ต.ท่าสายลวด ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่กาษา ต.แม่ปะ ต.แม่กุ ต.มหาวัน 2.อำเภอพบพระ 3 ตำบล ได้แก่ ต.พบพระ ต.ช่องแคบ และต.วาเล่ย์ 3.อำเภอแม่ระมาด 3ตำบล ได้แก่ ต.แม่ระเรา ต.แม่ระมาด และต.ขะเนจื้อ
ในการลงพื้นที่พบว่า เฉพาะที่บ้านวังตะเคียน หมู่ 4 และหมู่ 7 มีชาวบ้านจำนวน 950 ครัวเรือน หรือ 2,297 ราย ที่ประกอบอาชีพบนที่ดินดังกล่าว อาทิ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ทำสวน ทำไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ
แต่ปัญหาคือ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ซึ่งเป็นปัญหาหมักหมมในเรื่องที่ดินทำกินมายาวนาน ซึ่งแม้จะครอบครองมาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่สาธารณะ แต่ด้วยการขาดโอกาสในเรื่องการเข้าถึงระบบการออกเอกสารสิทธิ์ ที่ดินบริเวณดังกล่าวซึ่งชาวบ้านอาศัยทำกินอยู่นั้น จึงเกิดปัญหาขึ้นมาทันที
เมื่อภาครัฐต้องการที่ดินเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ความหวังที่รอการออกเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้านริบหรี่ไปโดยปริยาย
เช่นกรณีที่ดินของ “ยายเพ็ญ วงศ์กาด” อายุ 71 ปี ซึ่งสืบตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่วันนี้ที่ดิน 37 ไร่ของยายเพ็ญถูกประกาศใช้ที่ดินเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหลือให้ยายทำกินเพียง 2 ไร่ ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์ สค.1 มาตั้งแต่ปี 2498
จากการพูดคุยกับชาวบ้านและหลายภาคส่วนในพื้นที่อำเภอแม่สอด ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพียงแต่ว่าในการดำเนินการบางส่วน ต้องควบคุมและระวัง และไม่เห็นด้วยหากจะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพ้นที่
เนื่องจากกังวลผลกระทบซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งเรื่องการยึดที่ดินชาวบ้านซึ่งจะให้ค่าเยียวยาเพียงไร่ละ 7,000-12,000 บาท ขณะที่ราคาที่ดินที่อำเภอแม่สอดพุ่งสูงถึง 800%
นอกจากนี้ยังกังวลถึงปัญหามลภาวะและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะใน 13 ประเภทอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนในนิคมนั้น มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับปิโตรเคมี อีกทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ซึ้งมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต อาจสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค
“สุทธิชัย พะโกล” ชาวปกากะญอ จากอำเภอพบพระซึ่งได้รับผลกระทบในเรื่องที่ดินเช่นกัน บอกว่า ชาวปกากะญอไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก่อน จู่ๆรัฐก็บอกว่าจะเอาที่ดินคืน ทั้งที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลจากรัฐเลยว่าผลดีผลเสียมีอะไรบ้าง และถ้าประชาชนได้รับผลกระทบ จะเยียวยาอย่างไร และที่ดินที่จะเอาไปให้เอกชนเช่าถึง50 ปีต้องคิดดีๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับข้อมูลน้อยมากแต่ก็มีความพยายามให้มีการทำประชาคม เมื่อชาวบ้านไม่มีข้อมูลแล้วจะตัดสินใจบนพื้นฐานใด และเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านอย่างเราจะได้เข้าไปทำงานในส่วนไหน เพราะหลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ
เช่นเดียวกับ “ชนกานต์ ชาญประเทศ” ชาวบ้านจากอำเภอแม่ระมาด ที่บอกว่า 13 ลักษณะอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่จะเข้ามาแม่สอดมีบางประเภทที่จะส่งผลกระทบ และเชื่อว่าเขตอุตสาหกรรมแท้จริงแล้วส่งประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าชาวบ้าน
"ตอนนี้มีนายทุนจากไต้หวันเตรียมมาสร้างคอนโดมิเนียมขนาดยักษ์เพื่อรองรับกว่า 5-6 หมื่นยูนิต ทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่มากและชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้มาก่อน"
ด้วยศักยภาพการค้าชายแดนของอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กรุงย่างกุ้งของเมียนมาร์มากที่สุด ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในบรรดาชายแดนฝั่งตะวันตก อีกทั้งยังตั้งอยู่บนแนวเส้นทางการพัฒนาการค้า การลงทุน East West Economic Corridor เชื่อมต่อกับท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ที่มีประชากรมากถึง 89.71 ล้านคน มูลค่าการส่งออกผ่านทาง อำเภอแม่สอด ในปีงบประมาณ 2558 จึงสูงถึง 64,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 14.8% หลายฝ่ายประมาณการตรงกันว่า จะเพิ่มอีกเป็นเท่าตัวเมื่อกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แต่ทว่าท่าทีของนักธุรกิจท้องถิ่น อาทิ หอการค้าจังหวัด หรือแม้แต่สภาอุตสาหกรรมจังหวัด กลับมองต่างออกไป แน่นอนแม้จะเห็นด้วยในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายชายแดน การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 2 เพื่อลดความแออัด แต่ภาคธุรกิจในพื้นที่กลับเห็นตรงกันกับชาวบ้านในเรื่องไม่เอานิคมอุตสาหกรรม
“ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวยืนยันจุดยืนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ได้แก่ 1.ไม่เอานิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับของกนอ. 2.อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนต้องใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ช่วยแก้โรคระบาด อาชญากรรม ใช้แรงงานโดยการลงนามความร่วมมือแรงงานแบบเช้าไปเย็นกลับ 3.อุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม 4.อุตสาหกรรมที่เข้ามาได้และยั่งยืนในอนาคต คือ อุตสาหกรรมที่ต่อยอดผลิตผลทางการเกษตร เพราะ5อำเภอชายแดนรวมถึงเพื่อนบ้านเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้ง ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง
“ชัยวัฒน์” บอกอีกว่า หัวใจของเขตเศรษฐกิจพิเศษ น่าจะเน้นการส่งเสริมการค้าชายแดน คือขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นและส่งเสริมมากกว่า แต่กลับมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบเรื่องที่ดินชาวบ้าน ทั้งที่ในคำสั่งการใช้พื้นที่ 3 อำเภอ ก็ควรกระจายอุตสาหกรรมให้ทั่วพื้นที่ ไม่ควรใช้วิธียึดที่ดินเพื่อมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมแบบกระจุกตัว ที่สำคัญคือผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์ด้วย เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ไม่เข้าใจว่าทำไมส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมในนิคม และถ้าเป็นนิคมภายใต้กนอ. ประชาชนจะเข้าไปยุ่งหรือตรวจสอบไม่ได้เลยเพราะมีกฎหมายของกนอ.ดูแลเป็นการเฉพาะ
“ไม่เข้าใจว่าจะเร่งรัดทำไม ทำไมไม่ปล่อยไปตามกลไก ความจริงคือตอนนี้ในเนื้องานมันไม่มีอะไรคืบหน้าเลย มันมีแต่ภาพออกไป แต่ยังไม่มีใครมาลงทุน เพราะเรื่องที่ดินก็ยังไม่จบ นักลงทุนไม่มีใครอยากมีปัญหากับชาวบ้านหรอก สิทธิพิเศษก็ยังไม่ออกมา ต้นทุนค่าแรง ฯลฯ ผังเมืองก็ยังไม่ออก ตอนนี้ใครที่ไหนจะกล้ามาลงทุน ผมจึงสงสัยว่าในความเร่งรีบนี้มีอะไรผิดปกติหรือไม่”“ชัยวัฒน์” บอก
(การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 2)
ขณะที่ “ภราดร กาญดา” รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ในพื้นที่มีการผลักดันเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมากว่า 10 ปีแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการเพิ่มจากรัฐ คือ สิ่งอำนวยความสะดวก และการขจัดอุปสรรคในเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่แม่สอดมีความพิเศษในตัวอยู่แล้วไม่ต้องไปแต่งเติมมาก เข้าใจว่ารัฐบาลมีความหวังดี แต่หวังดีกับจัดการเป็นคนละเรื่อง เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องดูแลผลประโยชน์ของคนในพื้นที่มากกว่าทุนจากที่อื่น รัฐต้องดูแล ไม่รุกล้ำคนในพื้นที่มากจนเกินไป
คำที่รัฐบอกว่าชาวบ้านรุกที่มันเจ็บปวด ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนมีอำเภอแม่สอดด้วยซ้ำ มันน่าจะมีทางออกมากกว่าการยึดพื้นที่ไปให้เอกชนเช่า ทำไมไม่ทำเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดชุมชน แบ่งรายได้ให้ชุมชน ต้องให้ชุมชนอยู่ในความเจริญนั้นด้วย ความขัดแย้งก็จะลดลงไป ถ้าไล่เขาออกจากความเจริญ การบุกรุกพื้นที่ป่าก็จะมากขึ้น
วันนี้ที่แม่สอด ความเจริญกำลังรุกคืบจนยากที่จะทัดทาน แต่กระนั้นสิ่งที่ได้พบ คือ ความร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและภาคเอกชนในพื้นที่ ที่เริ่มจับมือกันเพื่อปกป้องและสร้างภูมิต้านทานต่อการพัฒนาขนาดมหึมา
ที่คนในพื้นที่กำลังถูกรุกไล่และไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายสวยหรูนี้?