แอมเนสตี้ฯ จี้ประเทศอาเซียนจัดการค้ามนุษย์ไม่กระทบสิทธิมนุษยชน
วันที่ 21 ตุลาคม 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงการณ์ เรื่อง ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาถูกทารุณจากเมียนมาร์ ต้องมาเผชิญความทุกข์ยากกลางทะเล โดยเปิดเผยรายงานล่าสุดมีข้อมูลระบุว่า ผู้หญิง ผู้ชายและเด็กชาวโรฮิงญาที่พยายามหลบหนีจากความทารุณโหดร้ายในเมียนมาร์โดยอาศัยเรือออกมาเมื่อต้นปีนี้ ต้องตกเป็นเหยื่อการสังหารหรือถูกทุบตีอย่างทารุณจากผู้ค้ามนุษย์ ถ้าครอบครัวของพวกเขาไม่ยอมจ่ายเงินค่าไถ่ตัว และถูกบังคับให้อยู่ในสภาพที่เหมือนตกนรกอย่างไร้มนุษยธรรม
รายงานหัวข้อ Deadly journeys: The refugee and trafficking crisis in Southeast Asia (“การเดินทางที่เสี่ยงตาย: ผู้ลี้ภัยและวิกฤตการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”)เกิดจากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่าร้อยคน โดยส่วนใหญ่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และหลายคนเป็นเด็ก ซึ่งเดินทางหลบหนีจากเมียนมาร์หรือบังคลาเทศข้ามทะเลอันดามันไปจนถึงอินโดนีเซีย
ในช่วงที่ฤดูมรสุมกำลังสิ้นสุดลง และ “ฤดูเดินเรือ” ใหม่กำลังมาถึง คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยทางเรือเพิ่มขึ้นอีกหลายพันคน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้
แอนนา เชีย (Anna Shea) นักวิจัยด้านผู้ลี้ภัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า จากประสบการณ์การทำร้ายร่างกายที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญทุกวันระหว่างที่ติดอยู่ในเรือที่อ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน เป็นเรื่องที่เลวร้ายเกินกว่าจะบรรยายได้ พวกเขาหลบหนีจากเมียนมาร์ แต่ต้องมาเผชิญกับฝันร้ายอีก แม้แต่เด็กก็ไม่รอดพ้นจากการกระทำเหล่านี้
“ความจริงที่น่าตกใจคือ คนที่เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ถือว่าเป็น “ผู้โชคดี” เพราะสามารถเดินทางขึ้นฝั่งได้ แต่ยังมีคนอีกนับไม่ถ้วนที่ต้องเสียชีวิตอยู่กลางทะเลหรือถูกบังคับใช้แรงงาน รัฐบาลแต่ละประเทศต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อมนุษย์ซ้ำซาก”
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 เริ่มต้นขึ้นจากการปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเป็นเหตุให้ผู้ค้ามนุษย์ทิ้งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลางทะเล ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นหลายพันคนถูกทอดทิ้งเป็นเวลาหลายสัปดาห์กลางทะเลในสภาพที่แทบไม่มีอาหาร น้ำ และยารักษาโรคเพียงพอ
ในขณะที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 370 คนระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2558 แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าสูงกว่านี้มาก ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า พวกเขาเห็นเรือขนาดใหญ่หลายสิบลำเต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นที่มีสภาพคล้ายๆ กัน แต่มีเรือเพียงห้าลำที่สามารถขึ้นฝั่งที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เป็นเหตุให้มีบุคคลหลายร้อยคน หรืออาจถึงหลายพันคนที่ไม่อาจยืนยันสถานะได้ และอาจเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง หรือไม่ก็ถูกขายเป็นแรงงานบังคับ
ความตายและการถูกทุบตีเพื่อเรียกเงิน
ชาวโรฮิงญาหลายคนบอกว่า พวกเขาเห็นกับตาตอนที่ลูกเรือสังหารคนในเรือเมื่อครอบครัวของพวกเขาปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าไถ่ตัว บางคนถูกผู้ค้ามนุษย์ยิงระหว่างอยู่ในเรือ บางคนถูกโยนทิ้งทะเลและปล่อยให้จมน้ำตาย อีกหลายคนเสียชีวิตเพราะขาดอาหารและน้ำ หรือเพราะเจ็บป่วย
ผู้ลี้ภัยบอกว่าพวกเขาถูกขังในเรือลำใหญ่มากเป็นเวลาหลายเดือน และถูกผู้ค้ามนุษย์รุมซ้อมอย่างทารุณโดยระหว่างนั้นมีการติดต่อกับสมาชิกครอบครัวเพื่อเรียกค่าไถ่ตัว เด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญาอายุ 15 ปีคนหนึ่งกล่าวว่า ลูกเรือได้โทรศัพท์ไปหาพ่อของเธอในบังคลาเทศ บังคับให้พ่อต้องฟังตอนที่เธอร้องไห้ระหว่างถูกทุบตี และบอกให้เขานำเงินมาไถ่ตัวประมาณ 1,700 เหรียญสหรัฐ
ผู้หญิง ผู้ชายและเด็กชาวโรฮิงญาแทบทุกคนบอกว่า พวกเขาต่างเคยโดนซ้อม หรือเคยเห็นคนอื่นถูกทารุณทางร่างกายถ้ามีใครพยายามขออาหารกิน พยายามเคลื่อนที่หรือขอไปเข้าห้องน้ำ จะมีการใช้แท่งเหล็กหรือแท่งพลาสติกทุบตี บางครั้งเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลายคนมีแผลเป็นทั้งทางร่างกายและทางจิตใจโดยเป็นผลมาจากความรุนแรงเหล่านี้
การซ้อมมักเกิดขึ้นเป็นประจำและเป็นระบบ เด็กผู้ชายชาวโรฮิงญาอายุ 15 ปีคนหนึ่งบอกว่า “ในตอนเช้าและตอนบ่าย ผมจะถูกตีคราวละสามครั้ง ส่วนในตอนกลางคืนจะถูกตีอีกเก้าครั้ง”
ถูกทารุณที่บ้านเกิดตนเอง
ที่ชาวโรฮิงญาจำเป็นต้องหลบหนี เกิดจากการถูกทารุณและถูกเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษในเมียนมาร์ พวกเขาไม่มีสิทธิได้รับสัญชาติตามกฎหมายที่เป็นอยู่ กระแสความรุนแรงที่กระทำต่อชาวโรฮิงญาล่าสุดที่ปะทุขึ้นในปี 2555 ส่งผลให้พวกเขาหลายหมื่นคนต้องหลบหนีไปอยู่ในค่ายที่มีคนอยู่อย่างแออัดและมีสภาพที่เลวร้าย
บางคนบอกว่า พวกเขาถูกผู้ค้ามนุษย์ลักพาตัวจากในเมียนมาร์หรือบังคลาเทศ บางคนบอกว่ายอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับการเดินทางไปถึงมาเลเซียอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผู้ค้ามนุษย์ใช้ล่อเหยื่อเพื่อให้พวกเขากลายเป็นแรงงานบังคับในภายหลัง
“ชาวโรฮิงญารู้สึกสิ้นหวังมาก และพร้อมจะเสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล หากยังไม่มีการแก้ไขวิกฤตที่รากเหง้า รัฐบาลเมียนมาร์ต้องดำเนินการโดยทันทีเพื่อยุติความทารุณต่อชาวโรฮิงญา” แอนนากล่าว
สภาพเหมือนอยู่ในนรก
ระหว่างการเดินทางชาวโรฮิงญาถูกขังในสภาพที่ไร้มนุษยธรรมและถูกย่ำยีศักดิ์ศรีเรือแต่ละลำแออัดยัดเยียด ผู้โดยสารถูกบังคับให้ต้องนั่งอยู่ในสภาพที่แออัดอย่างมาก บางครั้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน ชายคนหนึ่งซึ่งช่วยเหลือมนุษย์เรือให้ขึ้นสู่ชายฝั่งที่จังหวัดอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซียบอกว่า กลิ่นที่อยู่บนเรือแรงมากจนทำให้ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือแทบไม่สามารถขึ้นเรือได้
ในเรือมีการขาดแคลนอาหารและน้ำอย่างมาก และมักต้องมีการแบ่งปันข้าวกินเป็นถ้วยเล็ก ๆ ต่อวัน ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่สามารถเดินทางขึ้นฝั่งในอินโดนีเซียอยู่ในสภาพที่อิดโรยอย่างมาก แทบจะไม่สามารถเดินได้หลังจากที่ต้องนั่งอย่างยัดเยียดเป็นเวลานาน และต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการขาดน้ำ ขาดอาหาร มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจและเป็นไข้หวัดใหญ่
สภาพชีวิตในอินโดนีเซีย
ในเดือนพฤษภาคม 2558 ในตอนแรก รัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยต่างผลักดันเรือที่แออัดยัดเยียดเหล่านี้ออกไปจากชายฝั่งประเทศของตน มีการขัดขวางไม่ให้ผู้โดยสารหลายพันคนที่อยู่ในสภาพที่สิ้นหวังได้ขึ้นฝั่ง แต่ภายหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ อินโดนีเซียและมาเลเซียจึงยอมให้ผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนหนึ่งขึ้นฝั่ง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีประเทศที่สามรับตัวพวกเขาไปภายในเดือนพฤษภาคม 2559
อินโดนีเซียได้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อจัดที่พักให้กับผู้เปราะบางเหล่านี้หลายร้อยคนในจังหวัดอาเจะห์ และพยายามตอบสนองความต้องการพื้นฐานของพวกเขา โดยทำงานร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมในประเทศและหน่วยงานระหว่างประเทศ แต่ยังหาคำตอบมาแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ได้ชี้แจงว่าจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้พำนักอาศัยต่อภายหลังเดือนพฤษภาคม 2559 หรือไม่
ข้อเสนอแนะ
“ถ้าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลหลายประเทศเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่เกิดขึ้น การถูกปฏิบัติโดยมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจะเกิดขึ้นต่อไป และส่งผลกระทบต่อพวกเขาที่เป็นกลุ่มคนที่เปราะบางและไร้ความหวังที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แอนนากล่าว
“รัฐบาลหลายประเทศต้องรับประกันว่า มาตรการที่ใช้จัดการกับผู้ค้ามนุษย์จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหรือสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงเหล่านี้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 รัฐบาลยังต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้รัฐต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการโดยทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดภัยพิบัติด้านสิทธิมนุษยชนกลางทะเลขึ้นอีกครั้ง