ป.ป.ช.ส่อวืดเอาผิดจัดซื้อ"จีที 200" – ศาลฎีกายกฯ คดี"จักรทิพย์"ฟ้องพยานปล้นปืน
ช่วงปักษ์แรกของเดือนตุลาคม 2558 มีความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายคดี
ป.ป.ช.รับยากเอาผิดจัดซื้อ "จีที 200"
เริ่มจากคดีไต่สวนการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งถูกพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเป็นแค่อุปกรณ์ลวงโลก ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงตามที่โฆษณาสรรพคุณ ที่ผ่านมาประเทศอังกฤษดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายจนผู้บริหารติดคุกไปแล้ว แต่ในประเทศไทยคดียังไม่ชี้มูล
เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่กล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับพวก จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 โดยมิชอบ กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีว่า การไต่สวนคดีนี้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องลึกลับ แน่นอนว่าประสิทธิภาพของจีที 200 ไม่ได้เรื่อง แต่การจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ ยังต้องการอะไรมากกว่าเรื่องของประสิทธิภาพ เพราะเรื่องการตัดสินใจและเจตนาการจัดซื้อของเจ้าหน้าที่พิสูจน์ลำบาก
ส่วนการแสวงหาพยานหลักฐาน ก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษ ก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม จะพยายามอย่างเต็มที่ คาดว่าต้นเดือนพฤศจิกายนจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องได้หรือไม่
ไต่สวนการตายเหยื่อวิฯ 4 ศพทุ่งยางแดง
ส่วนความคืบหน้าปฏิบัติการทางทหารที่หมู่ 6 บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ซึ่งทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ (ไม่มีประวัติต้องคดีความมั่นคง) ถูกวิสามัญฆาตกรรมไปถึง 4 คนนั้น
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้ไต่สวนคำร้องคดีหมายเลขคำที่ ช.11/2558 คดีชันสูตรพลิกศพ ไต่สวนการตายของพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี จากกรณีปฏิบัติการทางทหารที่บ้านโต๊ะชูด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ นายสุไฮมี เซ็น ว่าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน ประจำอำเภอทุ่งยางแดง, นายซัดดัม วานุ, นายคอลิด สาแม็ง และ นายมะดารี แมเราะ นักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี
โดยภายหลังเกิดเหตุ มีการให้ข่าวจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทำนองว่า ผู้ตายเป็นอาร์เคเค หรือแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบที่ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ก่อน แต่ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และสรุปว่าทั้ง 4 คนไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบ และอาวุธที่พบข้างศพผู้ตาย ก็ไม่ใช่อาวุธของผู้ตาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีชันสูตรพลิกศพ หรือคดีไต่สวนการตาย เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.11/2558 โดยศาลได้ส่งสำเนาคำร้องของพนักงานอัยการผู้ร้องให้แก่ญาติผู้ตายแล้ว และนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 12 ตุลาคมดังกล่าว
ในการนี้ ญาติของผู้ตายทั้ง 4 คน ได้ตั้งทนายความเพื่อซักถามพยานผู้ร้อง และนำพยานหลักฐานฝ่ายญาติผู้ตายเข้าสืบในคดี โดยศาลได้ทำการไต่สวนพยานไปแล้ว 4 ปาก คือ พันตรีลิขิต กระฉอดนอก เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41, จ่าสิบตำรวจอัมพร เลี่ยเห้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.), อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) วิรัตน์ชัย บือซา สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 และ นายแพทย์อรัญ รอกา แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ
โดยเจ้าหน้าที่ 3 รายได้ยืนยันต่อศาลว่า ถูกอีกฝ่ายยิงออกมาก่อน จึงต้องยิงออกไปเพื่อตอบโต้ ส่วนแพทย์ให้การกับศาลว่า ผู้ตายส่วนใหญ่ถูกยิงจากด้านหน้า ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 4 นาย ศาลได้นัดไต่สวนเพิ่มเติมในวันที่ 9 พฤศจิกายน
นายปรีดา นาคผิว ทนายความของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 7 นายที่ขึ้นเป็นพยาน มีชื่ออยู่ในขั้นของการสืบสวนสอบสวนและพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
ศาลฎีกายก "จักรทิพย์"ฟ้องพยานคดีปล้นปืน
อีกคดีหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ พลตำรวจตรีจักรทิพย์ ชัยจินดา (ยศขณะฟ้อง) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายซูดีรือมัน มาเละ เป็นจำเลยต่อศาลอาญา เมื่อปี 2552 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษอาญา
คดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าตำรวจชุดจับกุมในคดีปล้นอาวุธปืนกว่า 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น มีพฤติการณ์ซ้อมทรมานผู้ต้องหาให้รับสารภาพ โดยคดีนี้ในชั้นดีเอสไอสรุปว่ามีมูล แต่ในชั้น ป.ป.ช.ให้ยกคำร้อง เป็นเหตุให้ พลตำรวจตรีจักรทิพย์ (ยศในขณะนั้น) ยื่นฟ้องต่อศาลว่า นายซูดีรือมัน แจ้งความเท็จ
ทว่าสุดท้ายศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง หมายความว่านายซูดีรือมัน ไม่มีความผิด
ปัจจุบัน พลตำรวจตรีจักรทิพย์ มียศ พลตำรวจเอก เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เครื่องจีที 200 สมัยที่ยังมีใช้อย่างกว้างขวางในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (แฟ้มภาพอิศรา)