ร่วมเปลี่ยนเมือง พลิกโฉมเจ้าพระยา The River Project 14 KM
ภาคประชาสังคมเปิดเวทีถกผลดี-ผลเสีย โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา 'รองอธิการบดี มธ.' ไม่ปฏิเสธ เเต่ไม่สบายใจ ขาดการรับฟังความเห็น ปชช. 'โตมร ศุขปรีชา' ถามกลับกระบวนการนี้มาจากอำนาจเเบบใด ด้านปธ.มูลนิธิสืบฯ ชวนคนไทยนั่งเรือล่อง สัมผัสชีวิตสองฝั่งเเม่น้ำ ก่อนตัดสินใจ
แม้ทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ เพราะจะทำให้ความสวยงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตสองฟากฝั่งแม่น้ำ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ต้องจางหายไปด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบได้ดังเส้นเลือดใหญ่ของประเทศที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนคนไทยไม่ค่อยตระหนัก จึงทำให้มีขยะลอยเกลื่อนให้เห็นจนชินตา จากแม่น้ำที่เคยใช้อุปโภคบริโภคต้องเน่าเสีย กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ดูเหมือนความบอบช้ำจะส่อเค้าทวีมากขึ้น เมื่อรัฐบาลคิดจะทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. เพียงเพื่อเป็นทางจักรยานและคนเดินทั้งสองฝั่ง โดยลืมคำนึงถึงการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม นำมาสู่ข้อกังวลของหลายภาคส่วน
บทความ เรื่อง อย่าด่วนสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา! ซึ่งเขียนโดย ‘วิชัย ตันตราธิวุฒิ’ นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย เผยแพร่ในวารสารสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2558 ถูกแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม The River Project 14 KM "We change the city คน เปลี่ยน เมือง" ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
(รู้หรือไม่ อาจมีคลองเเสนเเสบขนาดใหญ่ใต้ทางเดิน)
เนื้อหาตอนหนึ่งในบทความชิ้นนี้ อ้างถึงผลงาน เรื่อง ‘บทเรียนแสนแพงเมื่อพัฒนาเมืองผิดพลาด’ ซึ่งเขียนขึ้นเผยแพร่เมื่อกันยายนปีที่แล้ว ใจความตอนหนึ่ง ระบุถึงตัวอย่างความผิดพลาด กรณีการสร้างทางหลวงลอยฟ้าที่ตัดผ่านใจกลางเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซท สหรัฐฯ
กระทั่งต่อมารัฐต้องรื้อทางหลวงดังกล่าวทิ้ง และสร้างทางหลวงในอุโมงค์ใต้ดินแทน
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการถมคลองในกรุงเทพฯ เพื่อขยายถนน เมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่คลองที่เป็นทั้งทางระบายน้ำ ที่สัญจรทางน้ำ บริเวณเปิดโล่ง และพักผ่อน ส่งผลให้ปัจจุบันเกิดน้ำท่วมได้ง่าย เพราะระบายน้ำไม่ทัน ทำให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครต้องใช้งบประมาณมหาศาลแก้ไข โดยได้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ยังเขียนไว้อีกว่า การรีบเร่งก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบทเรียนแสนแพงในอนาคตได้ หากรัฐบาลไม่ได้ศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการและสอดคล้องกับแผนระยะยาว เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่เกิดจากระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้นอันเกิดจากภาวะโลกร้อน
พร้อมยืนยันไม่ได้คัดค้านการสร้างทางจักรยานและที่พักผ่อนริมแม่น้ำ เพราะทั้งสองสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่อาศัยในมหานครเช่นกรุงเทพฯ
แม้จะเป็นความปรารถนาดีของรัฐบาล แต่ข้อมูลจากการจัดงานและแสดงนิทรรศการ The River Project 14 KM ครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า หากออกแบบโครงการไม่ดี มีหวังเกิดปัญหาไม่จบสิ้น
โดยหนึ่งในข้อกังวล คือ เสาขนาดใหญ่ที่ปักลงไปในแม่น้ำนั้น จะทำให้กระแสน้ำที่ไหลผ่านบริเวณด้านใต้เคลื่อนที่ช้าลง ขยะและตะกอนอาจถูกกักระหว่างประตูน้ำกับโครงสร้าง แม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีโอกาสเป็นคลองแสนแสบขนาดใหญ่ใต้ทางเดิน
นอกจากนี้หากโครงสร้างทางเดินริมน้ำรุกล้ำจะทำให้แม่น้ำแคบลง 20% ส่งผลให้มวลน้ำในแม่น้ำถูกยกตัวสูงขึ้น มีความเสี่ยงที่น้ำจะไหลเอ่อล้นเขื่อนและทางเดิน อีกทั้ง กระแสน้ำจะไหลแรง สร้างความเสียหายบริเวณคุ้งน้ำ จนรัฐอาจต้องสูญเสียงบประมาณในการสร้างเขื่อนกันตลิ่งเพิ่ม ส่วนช่วงพ้นจากแนวโครงสร้างก็ต้องรับแรงกระแทกจากความเร็วของกระแสน้ำพร้อมกับมวลน้ำมาก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในระยะยาว
แล้วเราจะมีส่วนเปลี่ยนกรุงเทพฯ อย่างไร เมื่อโครงการขณะนี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ‘รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงให้ทีมงานแจกกระดาษโน้ตแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ทุกคนเขียนสิ่งที่สามารถช่วยเหลือได้ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่เลือกจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านโลกสังคมออนไลน์
ก่อนย้ำว่า “เราไม่คัดค้านโครงการ แต่ไม่สบายใจที่รัฐไม่ถามประชาชน เพราะผู้จะเปลี่ยนเมืองไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นคนไทยทุกคน”
(รู้หรือไม่ เเม่น้ำเเคบลง 20% จะเกิดอะไรขึ้น)
นักวิชาการ มธ. บอกอีกว่า ความหลากหลายคือเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ดังนั้น การก่อสร้างในรูปแบบเหมือนกันทั้งหมดตลอด 14 กม. ถือเป็นการทำลายกรุงเทพฯ จึงอยากให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของคนไทยทุกคน
ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งตกไป ผ่านมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะทำให้มีการเลือกตั้งกลางปี 2559 นั่นหมายความว่า โครงการไม่มีทางก่อสร้างเสร็จทัน พอมีเวลาแก้ไข แต่เมื่อต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปกลางปี 2560 ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรเลย โครงการนี้ก็มีโอกาสเสร็จ
ขณะที่มุมมองของ ‘โตมร ศุขปรีชา’ นักเขียนมีชื่อ แสดงความเห็น คนไทยจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอบโจทย์ บางช่วงบางตอนเขายอมรับตอบไม่ได้ว่าต้องทำอะไร เพราะส่วนตัวไม่ทำอะไรอยู่แล้ว ไม่ค่อยสนใจกับประเทศนี้เท่าไหร่ อยากจะเป็นอะไรก็เป็น
ถึงกระนั้น หากวันนี้มีการทำประชามติ มีผลสรุปว่า เราอยากได้แม่น้ำที่มีถนน ก็สร้างไป ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่คำถาม คือความพยายามก่อสร้างสถานที่แห่งนี้มาจากกระบวนการทางอำนาจแบบไหน จึงต้องย้อนกลับไปถาม และเรายอมรับได้หรือไม่ แต่ถ้าคนทั้งประเทศอยากได้อำนาจแบบนี้ ผมก็ตกลง ไม่ได้มีปัญหาอะไร
"เราอยากอยู่อย่างไรก็อยู่ อยากมีวัฒนธรรม จริต ชาตินิยมอย่างไร ขอให้อยู่ไปเลย ผมมีความสุขและดีใจ เพราะผมอยู่ได้กับทุกคนอยู่แล้ว"
(โตมร ศุขปรีชา นักเขียนมีชื่อ)
ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อให้มีเสียงสะท้อนออกมา นักเขียนผู้นี้บอกว่า บางเรื่องตะโกนจนคอแตกก็ไม่เกิดผลอะไร บางครั้งอยากก่อสร้างก็ทำ อีก 20 ปีข้างหน้า ค่อยรื้อก็ได้ เหมือนบางโครงการในเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ แต่แม่น้ำต้องการพื้นที่สำหรับหายใจ หมายถึง มีฤดูน้ำบวม น้ำแห้ง จำเป็นต้องเหลือพื้นที่เผื่อไว้
“ผมเพ้อเอาเองว่า แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในที่ราบลุ่ม การมีแผ่นดินงอกเงยไปเรื่อย ๆ เพราะในอดีตปล่อยให้น้ำท่วมได้ เมื่อน้ำท่วมไปในทุ่งจะพัดพาตะกอนมาทับถม ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันมีเขื่อนกั้นกักเก็บตะกอนไว้ ส่งผลให้ตะกอนมีน้อยลง และพยายามดันน้ำออกสู่อ่าวไทยเร็วที่สุด ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเสมือนท่อระบายน้ำเท่านั้น”
โตมร ยังแสดงทัศนะต่อคนไทย ชอบบอกเป็นชาวน้ำ และมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดหลัก ยืนยันทั้งหมดไม่จริง เพราะเราไม่เคยเห็นคุณค่า ชอบหลอกตัวเอง ไม่เฉพาะปัญหาที่จะเกิดจากโครงการนี้ แต่ปัญหามีมาตั้งแต่การสร้างพนังกั้นน้ำ
เขามองว่า เราไม่เคยรู้จักตนเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีสภาพแวดล้อมอย่างไร แต่เราอยากได้เมืองแห้งเหมือนนิวยอร์ก ซึ่ง อ.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา บอกว่า คนตะวันตกเป็นเมืองชาวเขา มิใช่เมืองชาวน้ำ ฉะนั้นเมื่อไม่ยอมรับความจริง ปัญหาจึงเกิดขึ้น
เลยไม่แปลกใจที่มีความพยายามผลักดันโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. เพราะไม่รู้ว่าเรามีชีวิตอยู่ในความเป็นจริงแบบไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ช่วยไม่ได้
(รู้หรือไม่ เป็นทางจักรยานที่มีโครงสร้างเท่ากับทางด่วน)
ด้านนักอนุรักษ์อย่าง ‘ศศิน เฉลิมลาภ’ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง โดยเฉพาะกรณีการคัดค้านก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ทุกเช้าจะโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยามาทำงาน และต้องมนต์เสน่ห์หลงใหลในบรรยากาศริมน้ำสองฟากฝั่ง
“ผมอยากมีบ้านริมน้ำมากที่สุด ถ้าขายให้ได้ ผมจะหาเงินไปซื้อ แต่หากมีใครปิดทางน้ำ ผมจะไปสู้กับมัน แม้ลูกผมอาจไม่เห็นด้วย เพราะไม่ชอบนั่งริมน้ำ แต่ผมจะไม่ยอม” เขาสะท้อนออกมาด้วยรอยยิ้ม
ศศิน ยังบอกว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบใต้ถุนริมน้ำแฉะ ๆ แม้จะสกปรก เต็มไปด้วยโคลน แต่ในแง่นิเวศวิทยาแล้ว ถือเป็นความเชื่อมโยงระหว่างน้ำกับพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งทำให้ลำน้ำมีพื้นที่วางไข่ของปลา น้ำขึ้นเป็นที่อยู่ของกบ เขียด กำจัดแมลง ดังนั้น ในฐานะนักสิ่งแวดล้อมคาดหวังให้แม่น้ำเจ้าพระยามีฟังก์ชั่นนี้ มิใช่ใช้ระบายน้ำอย่างเดียว
“จะให้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนเมืองได้ ต้องลองนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาแบบผม จะสัมผัสได้ถึงความสวยงาม แต่ไม่รู้ว่า จะมีใครเห็นความสวยงามเหมือนผมหรือไม่” เขากล่าว และว่าทุกครั้งที่นั่งเรือมาทำงาน จะตื่นเต้นทุกครั้ง และทุกวันผมจะมีความสุข สนุกสนาน”
(ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
อย่างไรก็ตาม เขาไม่เห็นด้วย หากจะใช้เสียงข้างมากมาตัดสินโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จะใช้วิธีดังกล่าวได้ต่อเมื่อมีการนำข้อมูลทั้งหมดมารู้เท่า ๆ กัน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และลงคะแนน ซึ่งผมก็ต้องสู้ให้ข้อมูลมากที่สุด ทั้งนี้ โครงการพัฒนาของไทยส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นเพียงเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น
"ไม่ได้ก่อสร้างท่าเรือปากบารา เพราะอยากได้ท่าเรือ แต่อยากให้มีเมกะโปรเจค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" เขาระบุ เเละว่าทุกรัฐบาลก็ทำเหมือนกันหมด แม้กระทั่งโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม.
ก่อนทิ้งท้ายคำถามว่า “เราอยากได้โครงการนี้จริงหรือไม่ ซึ่งอาจไม่ใช่ก็ได้ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ โดยทำในสิ่งที่อยากได้จริงและมีความจำเป็นเท่านั้น”
****************************************************
ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปฏิเสธการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการออกแบบที่ไม่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อม ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องช่วยกันส่งเสียงให้ดังไปถึงผู้นำประเทศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมืองที่ตรงเป้าประสงค์อีกครั้ง .