จาก BRN ถึงมาราฯ...ฟังความเห็นปวงประชาสามจังหวัด
แถลงการณ์ที่อ้างว่ามาจากฝ่ายข้อมูลข่าวสาร หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น แสดงท่าทีที่มีต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นกันไปพอสมควร แต่ยังจำกัดอยู่แค่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาสังคมบางส่วน
ยังแทบไม่มีใครไปสอบทานความคิดเห็นของชาวบ้านในฐานะประชาชนเต็มขั้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับสถานการณ์ความไม่สงบมานานเกือบ 12 ปี
"ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ส่งทีมลงพื้นที่เพื่อรวบรวมความเห็นของพี่น้องประชาชนต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เฉพาะแถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็น แต่ยังรวมถึงคลิปวีดีโอที่ออกมาก่อนหน้านี้ และการแถลงเปิดตัวเปิดหน้าของ "มารา ปาตานี" องค์กรร่วมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย
"แนวร่วม-ผู้เห็นต่างฯ" ขานรับแถลงการณ์ BRN
นายบือราเฮง (สงวนนามสกุล) ที่อ้างตัวว่าเป็นอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นซึ่งเคยเคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สันติภาพคือสิ่งที่เรียกร้องมาตลอด วันนี้บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่เลย เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดกันอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะเวทีพูดคุยเจรจาที่ต้องการความจริงใจ ต้องการ "คนกลาง" ที่เป็นกลางจริงๆ นี่คือสิ่งที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้องมาตลอด
การที่บีอาร์เอ็นออกมาตอกย้ำ ถือเป็นเรื่องดี และถือเป็นเรื่องที่รัฐไทยควรนำมาให้ความสำคัญ ไม่ใช่พูดตามอารมณ์ เพราะปัญหาความเดือดร้อนของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
นายอิสมะแอ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นแนวร่วมผู้เห็นต่างจากรัฐ พำนักอยู่ที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า สันติภาพในความหมายของบีอาร์เอ็น กับความหมายของรัฐไทยไม่เหมือนกัน การที่บีอาร์เอ็นออกมาแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องตลกที่รัฐไทยจะยังนิ่ง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต้องการความสงบ เนื่องจากเดือดร้อนจากปัญหามานาน
นางมีเนาะ สาแม ชาวบ้านจากจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าอะไรก็ได้ที่จะทำให้บ้านเราสงบ จะเป็นบีอาร์เอ็น พูโล หรือคนอื่นๆ ที่ร่วมกัน ก่อเหตุ จะมาแสดงจุดยืนและทำให้สามจังหวัดไม่มีระเบิด ไม่มียิง ไม่มีคนตาย ไม่มีคนเดือดร้อน ก็เห็นด้วยทั้งนั้น ชาวบ้านจะได้อยู่อย่างมีความสุขเสียที
คลิป BRN สะท้อน "คิดต่าง" ในองค์กร
สำหรับคลิปวีดีโอที่อ้างว่ามาจากแผนกข้อมูลข่าวสาร หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 นั้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า คลิปคำแถลงที่ออกมาเป็นการตอกย้ำจุดยืนเดิมของบีอาร์เอ็น แต่ก็เป็นการสะท้อนสถานการณ์ภายในของบีอาร์เอ็นว่า ในกลุ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แต่ภาพรวมเชื่อว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อกระบวนการพูดคุยฯ หรือแนวทางสันติภาพ โดยเฉพาะฝ่ายที่ยังสนับสนุนเชื่อมั่นแนวทางของบีอาร์เอ็น การออกคลิปมาก็เพื่อเป็นการตอบสนองความรู้สึกของคนในส่วนนี้
ขณะที่ "มารา ปาตานี" เองก็ยอมรับว่า ไม่ได้มีตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งหมดเข้าร่วมกับมารา ปาตานี ส่วนตัวอยากขอให้ทุกฝ่ายอดทนกับอุปสรรคปัญหา พยายามสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจให้เกิดขึ้นให้ได้ อาจต้องใช้เวลา เพราะอาจมีสิ่งที่ท้าทายเกิดขึ้นได้ตลอด ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ
จี้ "รัฐ-BRN" ทำเพื่อชาวบ้านจริงๆ เสียที
นายการียา (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า คลิปคำแถลงของบีอาร์เอ็น เป็นความพยายามที่แสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นทำเพื่อประชาชนในพื้นที่ พยายามบอกว่ารัฐไทยไม่ดี หลอกหวงประชาชน
ส่วนตัวมองว่า ใครจะเห็นอย่างไรไม่สำคัญ ขออย่างเดียวให้พื้นที่สงบ รัฐไทยจะเป็นอย่างไรทุกคนรู้ ขณะที่บีอาร์เอ็นคือกลุ่มขบวนการที่รัฐพยายามบอกมาตลอดว่าเป็นฝ่ายที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ แต่บีอาร์เอ็นก็ไม่เคยออกมายอมรับ
ปีนี้เป็นปีที่ 12 ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็อยากให้ทุกฝ่ายทำอะไรจริงๆ เพื่อประชาชนบ้าง เพราะประชาชนที่นี่ต้องการมีกินมีใช้ ต้องการให้ลูกมีการศึกษา โดยไม่ต้องไปโดนพวกผู้นำทั้งหลายในพื้นที่หลอก สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีคนจูงจมูกอย่างที่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอยู่ตอนนี้
แนะมาราฯ ส่งสัญญาณถึงนักรบปาตานี
ด้านการแถลง "เปิดตัว-เปิดหน้า" ของกลุ่ม มารา ปาตานี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 พร้อมข้อเรียกร้องเบื้องต้น 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลไทยยกเรื่องการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ, ให้ยอมรับ มารา ปาตานี เป็นองค์กรบนโต๊ะพูดคุย และให้คุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยฯของมารา ปาตานี นั้น
พันเอกอิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 41 กล่าวว่า การเปิดตัวของ มารา ปาตานี ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องเกิดจากความจริงใจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่หยั่งเชิงกัน และต้องมีสัญญาณส่งให้ถึงเหล่านักรบปาตานีในพื้นที่ด้วย
ส่วนเรื่องข้อเสนอ 3 ข้อ คิดว่าฝ่ายรัฐบาลไทยน่าจะทำได้ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพูดคุย เพราะพี่น้องประชาชนเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์ความรุนแรงเต็มที คิดว่าขั้นตอนต่อไปแต่ละกลุ่มใน มารา ปาตานี คงต้องส่งสัญญาณไปยังสมาชิกในกลุ่มให้เลือกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่ มารา ปาตานี กำลังทำ
ชม "มารา ปาตานี" กล้าเปิดตัว
นางอาอีเสาะ เมาะกาแจ อายุ 45 ปี ชาวบ้านจังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อมีการพูดคุย ความเข้าใจต้องเกิด การแก้ปัญหาก็จะตามมา แม้ 3 ข้อเสนอของมารา ปาตานี จะไม่มีอะไรใหม่ที่ประชาชนต้องการหรือร้องขอ แต่ก็ถือว่าการพูดคุยมีความคืบหน้า ไม่ได้หยุดนิ่ง เมื่อมีการพบปะมีการพูดคุยกัน ก็ย่อมหาทางออกของปัญหาได้ เชื่อว่าเวลาจะช่วยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
ส่วนการเปิดตัว มารา ปาตานี ถือว่าเป็นเรื่องดีที่กล้าสื่อสารกับคนพื้นที่ ส่วนจะใช่ตัวจริงหรือไม่นั้น มั่นใจว่าการเปิดตัวคือทางออกของกลุ่มขบวนการในพื้นที่ ขอให้มีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องรีบ เพราะมีเวลามากพอในการสร้างความสงบสุข
หนุนรัฐเสนอกำหนด "เซฟตี้ โซน"
นายดัลยาล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ หรือ Dream South กล่าวว่า การพูดคุยมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น เพราะต่างฝ่ายเริ่มเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะการยื่นข้อเสนอ แม้ข้อเสนอส่วนใหญ่จะไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ข้อเสนอของฝ่ายรัฐนับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะการกำหนด "เซฟตี้โซน" หรือ "พื้นที่ปลอดภัย" คือกำหนดพื้นที่ๆ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ถือเป็นมิติใหม่ในการยื่นข้อเสนอระดับต้น
ส่วนข้อเสนอของ มารา ปาตานี ที่สนใจที่สุดคือ การให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับแกนนำมาราฯ ที่เข้าร่วมพูดคุย เพราะรัฐไทยเป็นรัฐที่มีความแข็งกร้าวในข้อกฎหมายด้านความมั่นคง จึงน่าจับตาว่ารัฐไทยจะรับข้อเสนอนี้อย่างไร
ถ้ารัฐไทยยอมรับสถานะของมาราฯ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ชัดขึ้นมากกว่าตัวแสดง (actor) ที่เป็นรัฐ (state) กับกลุ่มองค์กร (organization) ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงความสัมพันธ์ ส่วนจะสำเร็จไหมต้องมองยาวๆ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตราประทับท้ายแถลงการณ์ล่าสุดที่อ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็น
2 แกนนำมารา ปาตานี โบกมือหลังจบการแถลงข่าวเมื่อปลายเดือนสิงหาคม