แฟ้มประวัติ "ทินพันธุ์-อลงกรณ์-วลัยรัตน์" ก่อนจับมือคุมเกม "สปท."ปฏิรูปปท.
"..งานนี้ ไม่รู้ใคร "กำหนด"หรือ "ออกแบบ" ไว้ แต่ภารกิจสำคัญของสปท. ในขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลทั้งสาม ซึ่งเป็นมีองค์ประกอบมาจาก "1 อดีตอาจารย์(ทหาร) -1 นักการเมือง -1 อดีตข้าราชการ" ไปเรียบร้อยแล้ว .."
ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การทำหน้าที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นับจากนี้ไป จะมีบุคคล 3 คน เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธาน และรองประธาน เพื่อควบคุมการดำเนินงานของ สปท.
บุคคลแรก เป็น "อดีตอาจารย์(ทหาร)" คือ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธาน สปท.
สองบุคคลที่สองและสาม เป็น "นักการเมือง" และ "อดีตข้าราชการ" ตามลำดับ คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร และ นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เข้ามาทำหน้าที่เป็นรองประธาน สปท.
พลิกแฟ้มประวัติของบุคคลทั้ง 3 จะพบข้อมูลดังนี้
@ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ
เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระดับปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก ทางด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแวนดอบิลท์
ประวัติการทำงาน เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนทหารปืนใหญ่ (ยศ ร้อยตรี) เมื่อปี พ.ศ. 2501 เป็นนายทหารปกครอง กรมนักเรียนนายร้อย ในปี พ.ศ. 2505 ต่อมาโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ สังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปีที่มีการจัดตั้งสถาบัน (พ.ศ. 2509) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น "ผู้ช่วยศาสตราจารย์" ในปี พ.ศ. 2518 เป็นรองศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2521 และเป็นศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2525
ในระหว่างที่รับราชการอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ 2 สมัย และเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาองค์การนักศึกษา รวมทั้งเป็นอนุกรรมการอีกหลายคณะ เป็นนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ที่มีผลงานแต่งตำราเรียนจำนวนมาก อาทิ หนังสือปรัชญาการเมือง (พ.ศ. 2549) หนังสือประชาธิปไตยไทย หนังสือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นต้น
ส่วนงานการเมือง เคยเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 และมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2534 เคยเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ในปี พ.ศ. 2523 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2531-2534 และในปี พ.ศ. 2535-2539 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2534
ทินพันธุ์ นาคะตะ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2535 และพ้นจากตำแหน่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ว่ากันว่า อาจารย์ทินพันธุ์เป็นหัวเรือใหญ่หว่านล้อมกลุ่มยังเติร์กให้เชื่อว่าแนวทางขวาจัดเป็นอันตรายต่อประเทศ ในที่สุดคณะทหารหนุ่มก็หนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ล้มรัฐบาลธานินทร์
ต่อมา เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมารอง ผบ.ทบ. ตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้วย พล.อ.สัณห์ เคยเรียนปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่นิด้า จึงชวนอาจารย์ทินพันธุ์มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ
อาจารย์ทินพันธ์อยู่กับ พล.อ.เปรม จนถึงปี 2531 และได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้ ใน การเมือง : คอลัมน์เด็ด เรื่อง 'ทินพันธุ์ นาคะตะ'ครูการเมืองทหาร จาก http://www.komchadluek.net/detail/20151013/215039.html)
@ นายอลงกรณ์ พลบุตร
เกิดวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ที่จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อเล่นว่า " จ้อน " จบการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าประกาศนียบัตรการเรียนด้านต่างๆ อีกหลายฉบับ
ประวัติการทำงาน เริ่มต้นจากการทำงานด้านสื่อ ก่อนจะตัดสินใจลงเล่นการเมือง หลังการทำรัฐประหารของคณะ รสช. ในปี พ.ศ. 2534 เป็นนักการเมืองที่มีฐานเสียงในจังหวัดเพชรบุรี ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอลงกรณ์มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลหลายอย่าง เช่น การตรวจสอบการทุจริตในโครงการเช่าซอฟต์แวร์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ การทุจริตในสนามบินหนองงูเห่า เป็นต้นจนได้รับการคัดเลือกจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาให้เป็น"ดาวเด่นแห่งปีของรัฐสภา ประจำปี 2546"พร้อมกับได้รับฉายา"มือปราบรัฐสภา" แต่นายอลงกรณ์ก็ต้องเผชิญกับการถูกฟ้องและถูกแจ้งจับกว่า 20 คดีข้อหาหมิ่นประมาทจากคดีที่เขาเข้าไปตรวจสอบการทุจริตและโดนฟ้องทางแพ่งเกือบหมื่นล้านบาท
เคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีราชื่อ และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย
@ นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ
เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2493 จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดีมาก) สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์Post-Graduated Diploma (Development Studies), มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, สหราชอาณาจักรMaster of Art (Development Studies: Public Policy and Administration), Institute of Social Studies, The Hague , ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
ประวัติการทำงาน เป็นข้าราชการลูกหม้อในกระทรวงการคลัง เริ่มรับราชการ 18 มี.ค.2517ในตำแหน่ง นักวิเคราะห์งบประมาณตรี สำนักงบประมาณ ก่อนจะไต่เต้า ขึ้นไปจนถึงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552 ก่อนจะเกษียณราชการในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ หลังจาก ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ได้รับการโหวตให้เป็นประธาน สปท. ในช่วงเที่ยงวันที่ 13 ต.ค. 2558 ไปแบบไร้คู่แข่ง
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ระบุว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑)พุทธศักราช ๒๕๕๘ มาตรา ๓๙/๒ วรรคสาม ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนหนึ่งและเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกินสองคน ทั้งนี้ ตามมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ในคราวประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ วันอังคารที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ ที่ประชุมได้มีมติเลือก ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่สอง นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้ง
๑. ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
๒. นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
คนที่หนึ่ง
๓. นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่สอง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
งานนี้ ไม่รู้ใคร "กำหนด"หรือ "ออกแบบ" ไว้ แต่ภารกิจสำคัญของสปท. ในขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลทั้งสาม ซึ่งเป็นมีองค์ประกอบมาจาก "1 อดีตอาจารย์(ทหาร) -1 นักการเมือง -1 อดีตข้าราชการ" ไปเรียบร้อยแล้ว
และสาธารณชนคงได้เห็นผลงานเชิงประจักษ์กันในเร็วๆ นี้