ศูนย์วิจัยกสิกรเผย กองทุนการออมแห่งชาติคลอด เม.ย.นี้ หากการเมืองไม่สะดุด
หลังสภาฯ มีมติ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ผ่านฉลุย 3 วาระ ศูนย์วิจัยกสิกรคาดไม่เกิน เม.ย. ประกาศใช้ เผยสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ แต่ กม.ผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับอนาคตรัฐบาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ได้เสนอหลักการและร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ภายใต้กรอบความคิดของภาครัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้มีระบบการออมในยามชราภาพของแรงงานทั่วประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว จนกระทั่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากกรรมาธิการในวาระที่ 1 และผ่านกระบวนการพิจารณารายมาตรา และการลงคะแนนเสียงวาระที่ 2 และ 3 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 ก.พ.54
ขณะนี้เป็นขั้นตอนเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะสามารถผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายรวดเร็วเพียงใดนั้น ยังขึ้นกับการจัดลำดับความสำคัญของการพิจารณาร่างกฎหมายหรือญัตติอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย รวมทั้งอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตามหากร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามแผนงานเดิม สศค.คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายใน เม.ย.54 เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสังคมที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นความตั้งใจของภาครัฐเพื่อดูแลประชาชนโดยมุ่งเน้นไปยังแรงงานนอกระบบผ่านช่องทางระบบการออมในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสวัสดิการใดที่ถูกจัดตั้งขึ้นมารองรับ แม้ว่าจะมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง รวมทั้งเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคนก็ตาม ซึ่งหากพิจารณาถึงข้อดีและผลประโยชน์ของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลจากการร่วมส่งเงินสะสมของสมาชิก และช่วยลดปัญหาเชิงสังคมเพื่อไม่ให้ส่งผลไปยังปัญหาเศรษฐกิจต่อไปเมื่อเทียบกับการไม่จัดตั้งกองทุนดังกล่าว
นอกจากนี้ หากมองถึงการเชื่อมโยงของขนาดกองทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นจากมิติเศรษฐกิจแล้ว กล่าวได้ว่าเงินลงทุนของกองทุนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนและ พัฒนาตลาดทุนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของขนาดกองทุนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในประเทศเมื่อเทียบจำนวนแรงงานในระบบกับจำนวนแรงงานนอกระบบ ซึ่งจะมีความเกี่ยวพันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจประเทศด้วย
รวมทั้งในช่วงแรกของการจัดตั้ง กอช.นั้น จะได้รับการตอบรับมากน้อยเพียงใด คงต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแรงงานนอกระบบที่จะเล็งเห็นถึงข้อดีและผลประโยชน์ที่จะได้รับหากสมัครเป็นสมาชิก รวมถึงการประชาสัมพันธ์ของรัฐ นอกเหนือจากจังหวะการบังคับใช้ว่าจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งย่อมจะมีผลกับความเพียงพอของรายได้ของแรงงานนอกระบบในการดำรงชีพ ตลอดจนความสมัครใจในการสมัครเป็นสมาชิกของ กอช.ด้วย .