ใครว่าชายแดนใต้น่ากลัว...มุสลิมส่วนกลางหลายครอบครัวหนีน้ำท่วมพำนักสามจังหวัด!
สถานการณ์น้ำท่วมที่หลายคนเรียกว่า "มหาอุทกภัย" หรือ "สึนามิน้ำจืด" ที่กำลังถล่มภาคกลางของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีพี่น้องมุสลิมหลายชุมชนได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งที่อยุธยา ปทุมธานี หรือแม้แต่ชุมชนท่าอิฐ และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
หลายครอบครัวต้องหนีน้ำขึ้นไปอยู่ชั้น 2 และชั้น 3 ของมัสยิด ไม่ต่างอะไรกับเพลง "น้ำท่วม" เพลงลูกทุ่งเก่าแก่ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่นำมาเปิดกันบ่อยครั้งตามสื่อแขนงต่างๆ ในช่วงนี้...
"น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้งให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลคลอสายชล"
แม้น้ำท่วมจะเป็นภัยธรรมชาติที่น่ากลัว แต่ก็ทำให้ได้เห็นน้ำใจของคนไทยด้วยกัน แม้จะอยู่ไกลกันคนละจังหวัด คนละภูมิภาค แต่ก็สามารถยื่นมือสัมผัสกัน ช่วยเหลือกันได้โดยไม่เกี่ยงงอน
อย่างเช่น "กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ" ที่มี มูซา วงศ์เสงี่ยม เป็นประธานโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ไทยแลนด์นิวส์ดารุสสลาม ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในย่านมีนบุรี กรุงเทพฯ ก็ได้เปิดศูนย์พักพิงเพื่อรองรับพี่น้องมุสลิมที่ประสบอุทกภัย 2 จุดด้วยกัน คือ 1.มัสยิดอัลอาลาวี โรงเรียนอิสลามศาสนพันธ์ ชุมชนบ้านม้าล่าง เขตประเวศ และ 2.มัสยิดคอยริสซุนนะห์ ถนนราษฎร์พัฒนา เขตสะพานสูง รวมทั้งเปิดครัวเคลื่อนที่ทำอาหารเลี้ยงพี่น้องมุสลิมผู้ประสบภัยที่ตัดสินใจไม่อพยพออกจากเคหะสถานด้วย
ที่น่าสนใจก็คือมีมุสลิมหลายครอบครัวตัดสินใจเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อหลบภัยน้ำท่วมชั่วคราว ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีญาติอยู่ที่ จ.ยะลา นราธิวาส หรือปัตตานี กลายเป็นว่าอุทกภัยน่ากลัวยิ่งกว่าไฟใต้เสียอีก
จากสมุทรสาครสู่ชายแดนใต้
รอกายะห์ หมาดหมั่น ซึ่งอพยพมาจากมหาชัย จ.สมุทรสาคร เล่าว่า พาครอบครัวมาอยู่ที่ จ.ยะลา หลายสัปดาห์แล้ว เพราะบ้านแม่สามีอยู่ที่นี่
"ตอนที่ลงมาน้ำยังไม่ถึงมหาชัย แต่ตอนนี้ใกล้แล้ว และคิดว่าถึงอย่างไรน้ำก็ต้องท่วมบ้านแน่นอน เพราะขนาดแค่ฝนตกปกติน้ำยังท่วมขัง พอรู้ข่าวว่าบ้านของเพื่อนที่ท่าอิฐ บางบัวทอง น้ำท่วมบ้านจนเพื่อนต้องไปอาศัยนอนที่มัสยิดในชุมชน และต้องอยู่บนชั้น 3 จึงคิดว่าไม่ไหวแล้ว พากันชวนลงมายะลาดีกว่า"
รอกายะห์ ซึ่งแทนตัวเองว่า "ก๊ะยะห์" เล่าต่อว่า ไม่ใช่มีแต่นางครอบครัวเดียวที่เดินทางมายะลา แต่เพื่อนฝูงที่กลายสภาพมาเป็นผู้ประสบภัย ต่างพร้อมใจกันลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กันหลายครอบครัว
"เพื่อนก็พาลูกๆ ลงมาอยู่บ้านแม่สามี เพราะสามีของเขาเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมกกะ (มักกะฮ์) ประเทศซาอุดีอาระเบีย ครอบครัวของก๊ะยะก็มา เรามากัน 2 คันรถ ก๊ะยะมาพร้อมกับสามี มาอยู่บ้านแม่สามี กะเอาไว้ว่าน้ำลดเมื่อไหร่ก็จะกลับ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ได้แต่โทรถามข่าวคราวจากเพื่อนบ้านทุกวัน อยากกลับไปดูสภาพบ้านเหมือนกันว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว"
"ส่วนเพื่อนที่มาจากท่าอิฐ เขาก็ถือโอกาสไปเยี่ยมลูกที่เรียนอยู่ที่รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย และเพิ่งจะกลับมาช่วงรายอ (ฮารีรายอ อีดิ้ลอัฎฮา ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.) นี่เอง" รอกายะห์ บอก
การเดินทางมายะลาในห้วงที่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเต็มไปด้วยข่าวคราวความรุนแรงย่อมเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างไม่ต้องสงสัย และรอกายะห์ก็ยอมรับว่านางรู้สึกกลัวอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อได้มาอยู่นานเข้า และสัมผัสพื้นที่อย่างแท้จริง จึงทราบว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
"จริงๆ ไม่ค่อยได้มายะลาสักเท่าไหร่ นานๆ ทีถึงจะมาครั้งหนึ่ง และเวลามาก็จะไม่ค่อยได้อยู่นาน แค่ 1-2 วันเท่านั้น แต่เมื่อมาเพราะเจอน้ำท่วมทำให้ต้องอยู่นาน ช่วงนี้ข่าวคราวยิงกันก็เกิดขึ้นทุกวัน ตอนแรกก็กลัวนะ ก็พยายามไม่ไปไหน มาอยู่ที่นี่ก็มีเพื่อนบ้านใกล้ๆ เอาของมาให้ มาเยี่ยมมาถามข่าวคราวคนที่ถูกน้ำท่วมที่โน่น ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ รู้สึกว่าคนที่นี่ใจดีกว่าที่คิดเยอะ ไม่น่ากลัวด้วย ขณะที่ตอนอยู่ที่บ้านเวลาดูข่าวยิงกัน ระเบิดกัน ก็จะรู้สึกว่าคนที่นี่ไม่ดี น่ากลัว แต่พอมาอยู่นานๆ ทำให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะเลย" รอกายะห์ บอก
ยิ่งช่วงที่นางและครอบครัวมาอาศัยอยู่ เป็นช่วงฮารีรายอด้วย ยิ่งทำให้ รอกายะห์ ตื่นตาตื่นใจ เพราะสังคมมุสลิมที่นี่มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ และเคร่งศาสนาอย่างมาก
"เป็นอะไรที่แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ไม่เฉพาะแค่สถานที่ที่แปลกตา แต่วัฒนธรรมของคนที่นี่เคร่งศาสนามากกว่า และมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ทำให้รู้สึกประทับใจ" เป็นความรู้สึกของมุสลิมจากแดนไกลที่ได้หลบภัยมาพักใจที่สามจังหวัดชายแดน
แห่กักตุนอาหารแห้ง-รัฐตั้งศูนย์รับมือน้ำท่วมใต้
การรายงานสถานการณ์น้ำท่วมของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทุกชั่วโมงตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวลามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะการกักตุนข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งน้ำดื่ม แม้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีบรรยากาศเช่นว่านี้ หลังจากมีข่าวว่าอาจเป็นคิวต่อไปที่ต้องเจอพายุฝนและอุทกภัย ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้เป็นช่วงใกล้เทศกาลฮารีรายอด้วย
นายมะ (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของร้านขายของชำในตลาดโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เล่าว่า ตอนนี้คนแตกตื่นกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่กรุงเทพฯและหลายจังหวัดในภาคกลางมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯที่ไม่เคยท่วมแต่กลับท่วมแล้ว ฉะนั้นคนจึงกลัวว่าที่ใต้อาจท่วมหนักกว่าทุกปี จึงออกมาซื้อข้าวของไปกักตุนกันใหญ่
"สินค้าในร้านลดลงมาก แม้จะซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม ส่วนสินค้าในร้านใหญ่ๆ ก็ขาด ขนาดในห้างบิ๊กซียังขาดเลย ขนมและอาหารแห้งหมดเกลี้ยง วันก่อนไปเดินดูพบว่าสินค้าบนชั้นมีน้อยมาก พนักงานบอกว่าสินค้าหมดสต็อกแล้ว" นายมะ กล่าว
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้ประสานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาให้รายงานสภาพอากาศให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกและให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
"พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังซ้ำซาก โดยเฉพาะบริเวณแนวแม่น้ำปัตตานี บริเวณ ต.บาราเฮาะ ต.ปะกาฮะรัง และ ต.ตะลุโบะ ในเขตตัวเมืองปัตตานีให้เฝ้าระวัง และจะมีการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการขุดลอกคลองและทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้อย่างสะดวก เป็นการเตรียมการป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะน้ำท่วมขังในระยะต่อไป" รองผู้ว่าฯปัตตานี ระบุ
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จ.ปัตตานี กล่าวว่า เทศบาลเมืองปัตตานีพร้อมตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่อาคารสถานีดับเพลิง ถนนปัตตานีภิรมย์ เพื่อรับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ศอ.บต.จับมือชาวบ้านต่อ "แพ" มอบผู้ประสบอุทกภัย
เมื่อสัปดาห์ก่อน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมมือกันจัดทำแพไม้ไผ่ขนาด 1.20 เมตร คูณ 2 เมตร มอบให้พี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม จะได้มีพาหนะในการสัญจรไปมาและขนสัมภาระ เพราะรับน้ำหนักได้ 200-300 กิโลกรัม โดยได้ส่งมอบแพล็อตแรก 200 ลำผ่าน ศอ.บต.ให้แจกจ่ายผู้ประสบภัยเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน นายอับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ มูซอดี ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา อาจารย์นรชัย เจริญวุฒิมงคล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคยะลา และคณะสื่อมวลชนจังหวัดยะลา ได้นำเงินและสิ่งของรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตามโครงการชาวยะลาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ถึง 26 ต.ค. ยอดเงินรวมทั้งสิ้น 391,694 บาท และข้าวสารอาหารแห้ง ตลอดจนน้ำดื่ม และเสื้อผ้าจำนวนหนึ่ง ส่งมอบให้กับ นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อนำเงินโอนเข้าบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สำนักนายกรัฐมนตรี และลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบอุทกภัยต่อไป
ไอแบงก์ควัก 7 ล้าน-แจกถุงยังชีพฮาลาลช่วยผู้ประสบภัย
ด้านความเคลื่อนไหวของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และกทม. รวม 23 จุด พร้อมเปิดโครงการ "ยิ้มสู้ ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย"
นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 7,441,468 บาท ในการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยบริจาคสมทบกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลายกองทุน เช่น ของสำนักนายกรัฐมนตรี ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พร้อมมอบถุงยังชีพฮาลาล และตั้งโรงครัวอาหารฮาลาลหลายจุดในอีกหลายจังหวัด
เพิ่มมาตรการพักหนี้-ให้สินเชื่อ "ยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพ"
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการ "ยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย" เปิดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยมีมาตรการช่วยเหลือ 3 มาตรการ คือ
1.ลูกค้ารายเดิมที่ไม่ประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อที่ได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม จะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและกำไร (พักชำระหนี้) เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นเดือนที่ 4-6 ชำระเฉพาะอัตรากำไรเท่านั้น ส่วนเดือนที่ 7-24 ชำระหนี้ตามปกติ โดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิม 1% และหลังจากเดือนที่ 25 หรือเข้าปีที่ 3 ธนาคารจะคิดอัตรากำไรปกติ
2.ลูกค้ารายเดิมที่ประสงค์จะขอสินเชื่อเพิ่มเติม สามารถแบ่งประเภทสินเชื่อได้ดังนี้
- สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อก่อสร้างทรัพย์สิน และสินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว จะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและกำไร (พักชำระหนี้) เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นเดือนที่ 4-6 ชำระเฉพาะอัตรากำไรเท่านั้น ส่วนเดือนที่ 7 เป็นต้นไปชำระหนี้ตามปกติ โดยคิดอัตรากำไร เริ่มต้นที่ SPRL -1.50% ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินทุนหมุนเวียนและเบิกถอนเงินสด วงเงินสินเชื่อเกินและไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRR -1.00% ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินอเนกประสงค์ กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและบุคคลค้ำประกัน จะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและกำไร (พักชำระหนี้) เป็นเวลา 3 เดือน เดือนที่ 4-6 ชำระเฉพาะอัตรากำไรเท่านั้น และเดือนที่ 7 เป็นต้นไปชำระหนี้ตามปกติ โดยคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ 5.00% (กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน) และเริ่มต้นที่ 1.00% (กรณีใช้บุคคลค้ำประกัน)
3.สำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อ สามารถแบ่งประเภทสินเชื่อได้ดังนี้
- สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างทรัพย์สินและสินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว สามารถปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 6 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRL - 0.50% ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินทุนหมุนเวียนและเบิกทอนเงินสดวงเงินสินเชื่อเกิน และไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ SPRR ในปีแรก
- สินเชื่อวงเงินอเนกประสงค์ กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือบุคคลค้ำประกัน สามารถปลอดระยะเวลาการผ่อนชำระเงินต้นสูงสุดได้ไม่เกิน 3 เดือน และคิดอัตรากำไรเริ่มต้นที่ 2% ใน 3 เดือนแรก ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอิสลามฯทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center โทร.1302
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 น้ำท่วมหนักจนรถบรรทุกยัง "เอาไม่อยู่" (เอื้อเฟื้อภาพจาก ไอแบงก์)
2 จังหวัดปัตตานีนำเครื่องจักรกลซ่อมแซมเส้นทางและประตูระบายน้ำเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัย
3 แพไม้ไผ่ที่ชาวบ้านช่วยกันต่อเพื่อส่งให้ผู้ประสบภัยในภาคกลาง
4 สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชนจังหวัดยะลา มอบเงินบริจาคช่วยเหนือน้ำท่วม 391,694 บาท ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
5-7 ภาพกิจกรรมของไอแบงก์