นักวิชาการแขวะวัฒนธรรมร่างรธน."กั๊กประชาธิปไตย"
นักวิชาการแขวะวัฒนธรรมร่างรธน."ฉี่ไม่สุด-กั๊กประชาธิปไตย" อ้างความไม่พร้อม-ความมั่นคง หนุนเขียนรธน.กระจายอำนาจสู่ประชาชน
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการสาธารณะ หัวข้อ “รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ” โดยนายวรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราต้องดูว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มีเรื่องการกระจายอำนาจหรือไม่ ซึ่งแนวคิดการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาค เป็นเรื่องความฝัน เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นการกระจายอำนาจ เราต้องมองหาประชาชนที่รวมกลุ่มกันว่าเขาจะเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจในระดับล่างได้อย่างไร ถึงจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งนี้ตนไม่คาดหวังกับการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และที่บอกว่าเรากำลังจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นตนไม่เห็นว่าวิธีการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถเป็นไปได้อย่างไร และหากเป็นเช่นนี้ความขัดแย้งอาจเหมือนเดิมหรือมากกว่า อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เพราะประชาชนมีส่วนร่วมเป็นพลวัต
ด้านนายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาวัฒนธรรมการร่างรัฐธรรนูญของไทยเหมือนฉี่ไม่สุด ซึ่งจะเห็นจากการอ้างว่าประชาชนไม่พร้อม อ้างเรื่องความมั่นคง กั๊กไว้ไม่ให้เป็นประชาธิปไตย ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญมีความซับซ้อน กฎเกณฑ์มากขึ้น แต่ประชาชนยังด้อยโอกาสในการเรียกร้องต่างๆ ซึ่งเราน่าจะนำบทเรียนที่สำคัญที่ผ่านมาแก้ไขปัญหา ส่วนข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขออย่ามองเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเพียงมิติเดียว แล้วทำลายพื้นที่ทางการเมืองและการมีส่วนร่วม แต่ขอให้มองที่การมีส่วนร่วม การถ่ายโอนอำนาจไปยังประชาชน ขณะนี้เข้าสู่การเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ของชาติ แต่ต้องมีนโยบายสาธารณะที่ดีคือคนมีพื้นที่ต่อรอง โวยวายได้
ด้านนายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของสองสายพันธุ์ชนชั้นกลางไทย ว่า ขณะนี้เราอยู่วัฒนธรรมการเมืองที่แตกต่าง ตนเห็นว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรให้เห็นทั้งสองขั้วการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญต้องสะท้อนโจทย์ของสังคมไทย 2 อย่าง คือการโค่นล้มนักการเมืองที่โกง และการกระจายอำนาจ รวมถึงสะท้อนความกังวลของคน 2 กลุ่มให้มีความสมดุลเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ขณะที่นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมาย ไม่ใช่เป็นเพียงคำประกาศหรือปรัชญา ซึ่งจะต้องเขียนขึ้นมาเพื่อสร้างและรับรองกระบวนการใช้อำนาจที่เกิดขึ้นภายหลัง รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือการปรับแต่งอำนาจที่มีอยู่แล้วแล้วเปลี่ยนมาเป็นระบอบใหม่ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจะ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ สุดท้ายไม่ใช้นักกฎหมายที่ทื่อ แต่ปัญหาของนักนิติศาสตร์คือไม่คำนึงหลักการทางรัฐธรรมนูญเลยมากกว่า.
ขอบคุณข่าวจาก