ให้ สนง.ใหญ่แจง! “บีบีซีไทย”ยังไม่เคลียร์ปมอ้างจัดฉาก“บิ๊กตู่”จับมือ“โอบาม่า”
“…คำถามสำคัญในกรณีนี้คือ “บีบีซีไทย” ได้ “บิดเบือน” ข้อมูล-ข้อเท็จจริงหรือไม่ ประการใด หากเขียนภายใต้ข้อเท็จจริง อย่างน้อยก็ต้องมีการระบุถึงกระบวนการทำข่าวว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลที่ได้มาจริงเท็จแค่ไหน หากนำเสนอไปแล้วจะส่งผลอย่างไร แต่นี่กลับไม่มีการอ้างอิงอะไร เป็นเพียงการเขียนกล่าวอ้างลอย ๆ และชี้แจงผิดประเด็นว่าเป็นเรื่องของการปกปิด “ชื่อผู้เขียน”…”
ยังคงไม่กระจ่างชัด !
กรณีแฟนเพจเฟซบุ๊ก “บีบีซีไทย – BBC Thai” หนึ่งในช่องทางบริการข่าวสารทางออนไลน์ของบีบีซีเวิร์ลประเทศอังกฤษ รายงานข่าว ทำนองว่า มีการ “จัดฉาก” ให้ผู้นำไทย (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จับมือกับนายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ทั้งที่นายบารัคไม่ยินดีจะจับมือด้วย (ดูรายงานข่าวจากบีบีซีไทยประกอบ : http://on.fb.me/1jfXx23)
ทันทีทันใดที่ “บีบีซีไทย” นำเสนอรายงานข่าวชิ้นนี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อย นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วนแสดงความเห็นไม่หลายทิศทาง ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น
แต่ประเด็นหนึ่งที่ถูก “วิพากษ์วิจารณ์” กันมากที่สุดคือ การอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยพยายามจัดการให้ “บิ๊กตู่” ได้มีโอกาสสัมผัสมือกับ “โอบาม่า” เกิดขึ้นจริงหรือ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นมาให้เห็นภาพ ดังนี้
แฟนเพจ “บีบีซีไทย” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2557 ระบุที่อยู่ London, United Kingdom (สหราชอาณาจักร) ระบุถึงเป้าหมายว่า ให้บริการข่าวสารทางออนไลน์ของบีบีซีเวิร์ลเซอร์วิสสู่ประเทศไทย โดยให้ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบดิจิตัลเท่านั้นและมุ่ง “ภาคสังคม” เป็นหลัก คือข่าวทางโซเชียลมีเดีย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขณะนี้บีบีซีไทยได้รับอนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศอังกฤษและบีบีซีทรัสต์ ให้เปิดบริการข่าวสารต่อไป และจะมีการทบทวนอีกครั้งในปลายปี 2558
“บีบีซีไทยจะให้ข่าวสารที่ไม่เลือกข้างและเที่ยงตรงแก่คนไทยทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆทั่วโลก เรายินดีรับฟังความคิดเห็นและหวังว่าจะได้คุยกับท่านตามกติกาที่กำหนด”
อย่างไรก็ดีมีข้อครหาเกิดขึ้น ภายหลัง “บีบีซีไทย” นำเสนอรายงานข่าวดังกล่าว “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-การเมือง อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบุคคลที่ถูกรัฐบาลออกหมายจับเนื่องจากหลบนีคำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัว ได้แสดงความเห็นในแฟนเพจบีบีซีไทย
ระบุชัดเจนว่า การนำเสนอรายงานข่าวนี้รู้สึกแปลก ๆ และ “ไม่สมเหตุสมผล” นัก
“สมศักดิ์” อธิบายว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจาเรื่องให้ “โอบาม่า” จับมือกับ “บิ๊กตู่” แต่ประเด็นคือ “คนเขียน” รู้ได้อย่างไร เพราะปกติเรื่องนี้ต้องทำระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเงื่อนไขนี้ตั้งอยู่ว่า ห้ามเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่ทำไมจึงให้เจ้าหน้าที่ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือและแพร่ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค
“ข้อความนี้ทั้งหมดมันไม่เม้กเซ้นซ์ (Make Sense) และฟังดูชอบกลจริง ๆ” นักวิชาการชื่อดัง ระบุ (อ่านข้อความได้จาก Top Comment ในรายงานข่าวดังกล่าว)
อย่างไรก็ดี “บีบีซีไทย” ชี้แจงว่า บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนโดยผู้ที่ติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด และทราบธรรมเนียมการประชุม ทีมงานเห็นว่าบทความนี้ให้ข้อมูลที่มีคุณค่าควรแก่การนำมาเสนอแก่ผู้อ่านเพื่อให้เป็นอีกด้านหนึ่งของข้อมูลข่าวสารที่สาธารณะพึงได้รับรู้ประกอบการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับสาเหตุที่บีบีซีไทย ไม่เปิดเผยชื่อ เพราะผู้เขียนไม่ต้องการเปิดเผย ซึ่งทีมงานเคารพการตัดสินใจ รวมทั้งเห็นด้วยว่าหากเปิดเผยชื่อผู้เขียนมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบสูง เราทราบว่าการไม่ใช้ชื่อผู้เขียนเป็นเรื่องเสี่ยงต่อข้อครหา แต่ในอาชีพสื่อมีความจำเป็นบางครั้งที่ต้องปิดชื่อผู้ให้ข้อมูล ขอขอบคุณในความเข้าใจค่ะ” (ดูคำชี้แจงประกอบ : http://on.fb.me/1jfZcoi)
สรุปง่าย ๆ ตามคำชี้แจงของ “บีบีซีไทย” คือ รายงานชิ้นนี้ขอไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียนเนื่องจากอาจได้รับผลกระทบสูง และด้วย “อาชีพสื่อ” บางครั้งจำเป็นต้องปิดชื่อผู้ให้ข้อมูล
อย่างไรก็ดี พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณี “บีบีซีไทย” และเว็บไซต์มติชนออนไลน์ (ซึ่งนำข้อมูลมาจากบีบีซีไทย) นำเสนอข้อมูลและภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จับมือนายบารัค โอบาม่า โดยรายงานข่าวทำนอง “จัดฉาก” ขึ้นว่า เป็นการบิดเบือนข่าวสาร เพราะข้อเท็จจริงคือก่อนเข้าประชุมมีการถ่ายรูปโดยช่างภาพมืออาชีพ โดยผู้นำหลายประเทศมีผู้ติดตามเข้าร่วมประชุมด้วย มีการยืนรอเพื่อถ่ายภาพ ในระหว่างนั้นผู้นำแต่ละประเทศทักทายพูดคุย โดยผู้ติดตามได้ถ่ายรูปไว้ ไม่ใช่การแอบถ่าย และไม่ได้มีปัญหากัน เพราะไม่ได้มีการห้ามถ่ายรูป
“ระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยืนอยู่ด้านข้างของห้อง นายโอบามายืนอยู่กลางห้อง เมื่อนายโอบามาเห็น พล.อ.ประยุทธ์ยืนอยู่ จึงเดินเข้ามาทักทายก่อน และขอบคุณที่มาเข้าร่วมประชุมในการรักษาสันติภาพ โดยใช้เวลาไม่นาน จากนั้นนายบารัคได้ทักทายผู้นำประเทศอื่น ๆ และผู้ติดตามก็ได้มีการถ่ายรูปเช่นกัน” พล.ต.วีรชน ระบุ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า “พลิกล็อค” เช่นนี้ เว็บไซต์มติชนออนไลน์จึงได้ชี้แจงและขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทันที !
อย่างไรก็ดี “บีบีซีไทย” กลับไม่ได้ชี้แจงในประเด็นนี้แต่อย่างใด แต่กลับเขียนรายงานชี้แจงทำนองว่า จำเป็นต้องปกปิดชื่อคนให้ข้อมูลไว้ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันมีแรงกดดันต่อการแสดงความคิดเห็น และหวั่นเกรงต่อการคุกคาม
แต่ไม่มีบรรทัดไหนเลยที่ระบุว่า เรื่องที่เขียนขึ้นดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ?
แน่นอน การปกปิดชื่อแหล่งข่าว หรือผู้เขียนชิ้นงาน ย่อมสามารถทำได้ภายใต้จริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงเป็นการนำเสนอข่าวที่ถือว่าเป็น “ประโยชน์ต่อสาธารณะ” หรือเกี่ยวข้องกับการ “ทุจริตคอร์รัปชั่น-เสี่ยงชีวิต” ซึ่งหลายสำนักข่าวไม่ว่าในประเทศไทย หรือต่างประเทศ ย่อมเคยทำกันมาแล้วจนเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งคำถามสำคัญในกรณีนี้คือ “บีบีซีไทย” ได้ “บิดเบือน” ข้อมูล-ข้อเท็จจริงหรือไม่ ประการใด หากเขียนภายใต้ข้อเท็จจริง อย่างน้อยก็ต้องมีการระบุถึงกระบวนการทำข่าวว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลที่ได้มาจริงเท็จแค่ไหน หากนำเสนอไปแล้วจะส่งผลอย่างไร รวมถึงหากมีพยานหลักฐาน เช่น คำพูดของเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามรัฐไทย หรือเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หรือเจ้าหน้าที่ในที่ประชุมสหประชาชาติ ทำไมไม่นำมาประกอบข้อมูล และโต้แย้งคำพูดของ พล.ต.วีรชน บ้าง
แต่นี่กลับไม่มีการอ้างอิงอะไร เป็นเพียงการเขียนกล่าวอ้างลอย ๆ และชี้แจงผิดประเด็นว่าเป็นเรื่องของการปกปิด “ชื่อผู้เขียน”
ขณะที่ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) อดีตหัวหน้าแผนกวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ระบุว่า ข้อมูลที่นำเสนอหรือการรายงานข่าวบีบีซีต้องตรวจสอบว่าคนเขียนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงหรือไม่แม้จะไม่เปิดเผยแหล่งข่าวก็ตาม ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นคือกระบวนการเบื้องหลังการถ่ายไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ และความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับใด
“ถ้าคนเขียนไม่อยู่ในเหตุการณ์แล้วเขาเอามาจากไหน กระบวนการทำงานข่าวเป็นอย่างไร ทำไมบีบีซีไทยตัดสินใจนำเสนอข้อมูล แล้วตัดสินใจด้วยมาตรฐานหรือมาตรการที่บีบีซีเองเคยประกาศเอาไว้หรือไม่ นี่คือคำถามที่ฝ่ายบริหารกองบรรณาธิการบีบีซีไทยต้องตอบให้ได้” เป็นคำยืนยันของ “สมชัย” อดีตลูกหม้อ “บีบีซีไทย” ยุคแรกเริ่ม
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดต่อ “บีบีซีไทย” ผ่านทางกล่องข้อความ (Inbox) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่แอดมิน “บีบีซีไทย” ระบุว่า ให้ติดต่อสัมภาษณ์กับคุณ Lala Najafova (นักข่าวประจำบีบีซีเวิร์ล) ที่อีเมล์ [email protected] หรือโทรศัพท์ติดต่อตามลิงค์ http://www.bbc.co.uk/mediacentre/contacts/global-news-publicity (ดูภาพประกอบ)
เมื่อคลิกเข้าไปดู พบว่า เป็นเว็บไซต์ระบุรายละเอียดของนักข่าวประจำ “บีบีซี เวิร์ล เซอร์วิส กรุ๊ป” หรือ สำนักงานใหญ่บีบีซีที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเบอร์โทรศัพท์ทุกเบอร์จะต้องต่อสายไปยังประเทศอังกฤษ
และไม่มีเบอร์ของผู้ดูแล “บีบีซีไทย” แต่อย่างใด ทั้งที่การนำเสนอข่าวบนแฟนเพจดังกล่าว ก็เป็นภาษาไทยเกือบทั้งหมด (เว้นแต่จะนำข่าวของ บีบีซีเวิร์ล มานำเสนอบ้างเป็นบางครั้ง)
กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบที่กระจ่างชัดจาก “บีบีซีไทย” ในกรณีดังกล่าว
หรือเป็นได้ว่าจะปล่อยให้เรื่องดังกล่าวผ่านมาแล้วผ่านไปเหมือนกับ “สายลม”
เพราะคนไทยอีกไม่นานเดี๋ยวก็ลืมกันหมดแล้ว ?
อ่านประกอบ :
ผอ.ไทยพีบีเอสยัน กองบก.บีบีซีไทยต้องตอบใช้มาตรฐานอะไรนำเสนอข่าว
บีบีซีไทย ปกปิดแหล่งข่าวหรือเต้าข่าว?
แหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อของบีบีซีไทย