เบตงพร้อมรับสนามบิน นอภ.นำทีมสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง
นายอำเภอเบตง ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานที่ก่อสร้างสนามบินเบตงแล้ว หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างเมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้งบประมาณ 1,900 ล้านบาท ยุติการรอคอยสนามบินมานานกว่าทศวรรษ
อำเภอเบตง เป็นอำเภอใต้สุดแดนสยาม แม้จะอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดยะลาเพียง 140 กิโลเมตร แต่ด้วยเส้นทางคดโค้งลัดเลาะตามไหล่เขา ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางราวครึ่งวัน เหตุนี้เองอำเภอเบตงจึงมีการบริหารราชการบางอย่างแยกเป็นอิสระ เช่น มีป้ายทะเบียนเบตงเป็นของตนเอง สำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ เป็นต้น
เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ธุรกิจการค้าขยายตัว ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวต้องการไปสัมผัสมนต์เสน่ห์ของเมืองชายแดนแห่งนี้มากกว่าเดิม ทำให้สนามบินและการขนส่งทางอากาศเริ่มมีความจำเป็น
ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้รัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างสนามบินเบตง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งก็ใกล้เคียงความจริง แต่แล้วก็ถูกเลื่อนมาโดยตลอด
ทว่าล่าสุดการรอคอยของคนเบตงก็สิ้นสุดลง เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคม อนุมัติให้ก่อสร้างสนามบินได้ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เริ่มตั้งเเต่ปี 2559 เป็นต้นไป และคาดว่าจะเเล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2561
วัตถุประสงค์ที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้แนบท้ายมติการอนุมัติให้ก่อสร้างสนามบินเบตง ก็คือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ทั้งด้านการลงทุนเเละการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ เเละใช้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน โดยมอบหมายให้กรมท่าอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ
สำหรับรายละเอียดการใช้งบประมาณ เเบ่งเป็นปี 2559 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 310 ล้านบาท ปี 2560 ใช้งบประมาณ 690 ล้านบาท เเละปี 2561 ใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท
โครงการสร้างสนามบินเบตง ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสาร รองรับได้ 3 เเสนคนต่อปี ขนาดรันเวย์ยาว 1,800 เมตร โดยเตรียมพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 900 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลยะรม ห่างจากตัวเมืองเบตงประมาณ 12 กิโลเมตร
ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม นายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยะรม ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านจันทรัตน์ ตำบลยะรม เพื่อตรวจดูสถานที่ที่จะใช้ก่อสร้างสนามบินเบตง โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ มีเพียงบางส่วนที่เป็นที่พักอาศัยของประชาชน
นายดำรงค์ กล่าวว่า การก่อสร้างสนามบินเบตง นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้แล้ว ยังสนับสนุนแผนพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ มิติความมั่นคง รวมทั้งมิติระหว่างประเทศด้วย เพราะสนามบินเบตงตั้งอยู่สุดชายแดน เป็นโอกาสขยายการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ เช่น ชาวมาเลเซียที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็สามารถมาใช้บริการเพื่อบินไปยังจังหวัดอื่นๆ ของไทยได้
นอกจากนั้นสนามบินเบตงยังอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีระยะห่างจากสนามบินอื่นมากกว่า 100 กิโลเมตร ถือว่าเป็นปัจจัยหนุนต่อการให้บริการด้านการบิน เช่น ห่างจากสนามบินนราธิวาส 219 กิโลเมตร ห่างสนามบินปัตตานี 212 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 230-270 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินปีนัง ของมาเลเซีย 150 กิโลเมตร แต่ห่างจากตัวเมืองเบตงเพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น
สนามบินเบตงที่จะสร้างขึ้นใหม่ สามารถรองรับเครื่องบิน ขนาด 50-70 ที่นั่ง เช่น ATR 72, Fokker 50 ได้อย่างสบาย ส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารมีขนาดพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 3 แสนคนต่อปี
"ที่ผ่านมาเบตงประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ คือ การเข้า-ออกอำเภอเบตงมีความยากลำบาก ถนนโค้งและคดเคี้ยว หากในอนาคตมีสนามบินแล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเบตงมากขึ้น รวมทั้งมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนเพิ่มด้วย" นายอำเภอเบตง กล่าว
อนึ่ง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำรวจและออกแบบทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จนถึงการจัดซื้อที่ดิน 920 ไร่ พร้อมค่าชดเชยพืชผลและค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในปีงบประมาณ 2552-2558 รวมใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 1,386.40 ล้านบาท
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายอำเภอเบตงนำทีมสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง หลัง ครม.อนุมัติงบประมาณให้เริ่มโครงการสนามบินเบตง