สำนักผังเมือง กทม.คลอด 7 แนวทาง แผนแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียว
สำนักผังเมือง กรุงเทพฯ จับมือจุฬาฯ เปิดเวทีจัดทำแผนแม่บทพื้นที่สีเขียว หวังสร้างจุดเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม ควบคู่มิติสิ่งแวดล้อม-นิเวศวิทยา สร้างเส้นทางจักรยาน ทางเดินเท้า สร้างนครหลวงเป็นเมืองเดินได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุม “โครงการจัดทำแผนแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพ ครั้งที่ 1" ณ หอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพมหานคร โดยเชิญหน่วยทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เข้ารับฟังปัญหา แนวคิด และข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดแนวทางให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนำเสนอโครงการและการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพ ที่มีนายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานผังเมืองกรุงเทพ เป็นประธาน และผศ. ดร. พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ และผศ.ดร พนิต ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง และ อ.ภาวิณี อินชมภู ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม เป็นผู้นำเสนอมีกรอบแนวคิด 7 แนวทาง ดังนี้
1.การเชื่อมต่อ (Connectivity) ถือเป็นกรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาโครงการพื้นที่สีเขียว เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีความซับซ้อนในด้านเครือข่ายการคมนาคม ทั้งในระบบราง ระบบถนน และระบบคลอง ที่มีถนนและคลองจำนวนมาก การเชื่อมต่อจึงควรเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมเหล่านี้เข้าด้วยกัน
โดยพิจารณาจุดเชื่อมต่อและเปลี่ยนถ่ายสำคัญ และเพิ่มศักยภาพของการเชื่อมต่อของโครงข่ายคมนาคมเหล่านี้ในมิติทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา รวมทั้งส่งเสริมการเชื่อมต่อของระบบทางจักรยานและทางเดินทางเท้าทั้งในระดับพื้นดินและทางยกระดับ เพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพเป็นเมืองเดินได้และเมืองน่าอยู่
2. การบริการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure Service) การบริการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่นำมาเป็นกรอบแนวคิดสำหรับโครงข่ายสีเขียวของกรุงเทพมหานครในที่นี้หมายถึงการส่งเสริมให้มีการพิจารณานำพื้นที่โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงข่ายและพัฒนาพื้นที่และการดำเนินการสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบระบายน้ำเชิงชีวภาพ รวมไปถึงการศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ที่เน้นในเรื่องพลังงานสะอาดและประหยัดพลังงานเข้ามาใช้เท่าที่เป็นไปได้
3. ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม (Enviromental benefit) การพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียวควรเน้นให้เกิดประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการลดมลภาวะทางน้ำและทางอากาศ การส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้โครงข่ายพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยในการลดปัญหาเกาะความร้อน (Urban heat island) เพิ่มร่มเงาสร้างให้เกิดสภาวะน่าสบายในการเดินทางในเมือง
4. ความงามดึงดูดของเมือง (Urban attractiveness) การพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียวที่สร้างให้เกิดความงามดึงดูดของเมืองเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่นำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาโครงการ นอกเหนือการพัฒนาให้เกิดความสะดวกสบายในการคมนาคม การสร้างทางเลือกในการเดินทางในเมือง การปรับสภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองผ่านโครงข่ายสีเขียว การพัฒนาควรสร้างให้โครงข่ายเกิดความงามสดชื่นจากพืชพรรณตามถนนหนทางเพื่อปรับสภาวะให้ผู้เดินทางในเมืองมีสุขภาวะทางจิตที่ดี
นอกจากนี้ ณ จุดที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Node) สำคัญของโครงข่าย ควรมีการพัฒนาการออกแบบที่สร้างให้เกิดพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่มีอัตลักษณ์พิเศษที่สามารถดึงดูดผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวมาใช้พื้นที่มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
5. ความเป็นไปได้ (Possibility) ความเป็นไปได้ของโครงการ ถือเป็นกรอบสำคัญหนึ่งในการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียว การคำนึงความเป็นไปได้ในเชิงกายภาพ เชิงสิ่งเเวดล้อม เชิงการเงิน เชิงกฎหมาย เชิงสังคม และเชิงเทคโนโลยีเป็นความจำเป็นที่จะทำให้โครงการ และองค์ประกอบของโครงการเกิดขึ้นได้
6. การอนุรักษ์วัฒนธรรม (Cultual Preservation) การอนุรักษ์วัฒนธรรมในพื้นที่เดิมให้สามารถผสมผสานเข้ากัน การพัฒนาที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ทำลายวิถีชีวิตที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ พัฒนาให้วัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น
7. การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (Private Sector Corporation) ส่งเสริมให้มีการเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาโครงข่าย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับสภาพทางกายภาพและการใช้งานเดิม ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนากายภาพของพื้นที่ริมคลอง ริมถนนสายหลัก และสวนสาธารณะในกรุงเทพ ให้เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อระบบนิเวศ เชื่อมต่อการสัญจรทางเท้า จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนทั้งทางบก ทางน้ำ และระบบราง เพื่อให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและความต้องการของประชาชน
โดยแนวคิดการเชื่อมต่อโครงข่ายพื้นที่สีเขียวของเมืองเข้าด้วยกัน ทำได้ด้วยการโยงพื้นที่ในรูปแบบของ Eco System ภายใต้แนวคิดที่ว่า “กระรอกตัวหนึ่งต้องสามารถเดินทางไปรอบกรุงเทพได้ ดังนั้นในการจะพัฒนาและสร้างโครงข่ายดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เพียงมนุษย์เท่านั้น”
ด้าน อ.ภาวินี อินชมภู กล่าวถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายทางเท้าและทางจักรยานเข้ากับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ เช่น ระบบรถไฟฟ้า เป็นต้น ก็ช่วยให้ลดความแออัดบนท้องถนน และยังเป็นการส่งเสริมให้คนเมืองมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางครั้งเราอาจจะต้องลดขนาดถนนลงเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับการเดินและทางจักรยาน เน้นในการปลูกต้นไม้ที่ไม่ใช่แค่ถนนสายหลักเท่านั้น แต่รวมไปถึงถนนสายรองที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับชุมชนได้
“การมีพื้นที่โล่งกว้าง แต่ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย ก็ไม่ช่วยอะไร การพัฒนาจึงควรมองไปถึงการนำต้นไม้มาปลูกโดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่เพื่อช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และยังช่วยในการดูดซับน้ำ การสร้างพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำได้ควรมีอย่างน้อย 70 % เพื่อช่วยเมืองจากปัญหาน้ำท่วม” อ.ภาวินี ระบุ
ขณะที่ ผศ.ดร พนิต ภู่จินดา กล่าวถึงนิยามของคำว่าเมือง เราจะเห็นว่าเมืองคือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากร และเมืองประชากรเพิ่มขึ้น การรองรับของระบบสิ่งแวดล้อมก็น้อยลง ถ้าเราอยู่ตามบ้านนอก เราคงไม่ต้องมาคิดในเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว เพราะเรามีพื้นที่สีเขียวกันอยู่เเล้ว แต่เมื่อเป็นเมือง เราต้องกลับมาคิดกันต่อไปว่า เราจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวนของประชากรที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้พื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อกัน เพื่อยกระดับชีวิตของคน นั่นคือแนวคิดสำคัญในการพัฒนาครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งที่สอง จะจัดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครจะใช้หัวข้อประชุมเดียวกัน แต่เปิดโอกาสให้ องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง อีกทั้งยังสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานครต่อไป .