เปิดเอกสารมัดสัมพันธ์ลึก "เอกชน-วิศวกร" สะพานฯถล่ม ไฉนคดีทุจริตไม่คืบหน้า!
เปิดข้อมูล บริษัท ดีไซน์(2009) จำกัด ผู้รับจ้างก่อสร้างสะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.อยุธยา พบ 1 ในผู้ถือหุ้นช่วงก่อตั้ง ใช้นามสกุล “นุชิต” คล้ายวิศวกรผู้ออกแบบโครงการ สนง.โยธาธิการและผังเมืองฯ ปัจจุบันผ่านมาแล้วเกือบสามปี ยังไม่มีผู้ใดถูกจับกุม ดำเนินคดี
กรณีสะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.พระนครศรีอยุธยา พังถล่ม เมื่อ 28 เม.ย. 56 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เนื่องจาก ลวดสลิงแขวนสะพานไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามที่แบบกำหนด จึงทำให้ลวดสลิงขาดและเป็นเหตุทำให้ภาครัฐเสียหายอย่างร้ายแรง
(อ่านประกอบ : มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม! ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน-ไร้ความคืบหน้า)
โดย โครงการดังกล่าวมีสัญญาก่อสร้าง จำนวน 8,290,000 บาท มีลักษณะเป็นสะพานเคเบิ้ล กว้าง 2.2 เมตร ความยาว 111 เมตร มีวันเริ่มต้นสัญญา 23 ก.ค. 55 วันสิ้นสุดสัญญารับประกัน 23 ก.ค. 57 โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง เทศบาลตำบลท่าหลวง กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)พระนครศรีอยุธยา
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลบริษัท ดีไซน์(2009) จำกัด(บริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ชื่อเดิม) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า มีทุนจดทะเบียน5,000,000 บาท เมื่อ 16 มิ.ย. 52 ประเภทธุรกิจก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พัก ทะเบียนนิติบุคคลเลขที่ 0105552057863 ระบุที่ตั้งเลขที่ 10/11 ซ.วิภาวดีรังสิต 64 (มหานคร) แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ปรากฏรายชื่อกรรมการ ดังนี้
ช่วงวันที่ 16 มิ.ย. 52 – 2 พ.ย. 53 ได้แก่ 1.นางสาววิชุดา นุชิต 2.นายมนตรี เคหนาดี 3.นายสายชล ยามเย็น
ช่วงวันที่ 3 พ.ย. 53 – 15 ก.พ. 55 ได้แก่ 1.นายมนตรี เคหนาดี 2.นายสายชล ยามเย็น 3.นายรักชาติ พุทธมาศ
ช่วงวันที่ 16 ก.พ. 55 – ปัจจุบัน ได้แก่ 1.นายมนตรี เคหนาดี 2.นายจำเริญ วิโรจนาภา
จะเห็นได้ว่า นางสาววิชุดา นุชิต กรรมการและผู้ถือหุ้นในช่วงก่อตั้งบริษัทดังกล่าว มีนามสกุลคล้ายกับนายวรพจน์ นุชิต วิศวกรผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี
ทำให้เกิดคำถามสำคัญที่น่าสนใจ คือ โครงการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างของโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใสจริงหรือไม่?
ขณะที่ หนังสือแจ้งความคืบการสอนสวนคดีอาญา ที่ ตช.0016.65/171 สถานีตำรวจภูธรท่าเรือ ลงวันที่ 15 ม.ค. 58 ระบุชัดเจนว่า พนังงานสอบสวนได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่พบว่า นางสาววิชุดา ได้เป็นผู้ทำการปลอมเอกสาร และนำเอกสารปลอมไปใช้ เพียงแค่มีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทฯ ในช่วงนั้นเท่านั้น แต่กลับมีพยานหลักฐาน เชื่อว่า นายวรพจน์ นุชิต ซึ่งเป็นพี่ชายของนางสาววิชุดาฯ เป็นผู้ปลอมเอกสาร ด้วยการแก้ไขนามสกุลของนางสาววิชุดา ในสำเนาเอกสาร และเป็นผู้ใช้เอกสารปลอม (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของเด็กหญิงวัย 10 ปี ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สะพานฯ 200 ปีพังถล่ม ได้ติดตามความคืบหน้าของคดีอยู่เรื่อยมา พร้อมยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า "ปัจจุบันยังไม่มีการจับกุมหรือนำตัวบุคคลทั้งสองมาดำเนินคดี แต่อย่างใด"
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 58 นายอนุนาท เสือสมิง พ่อของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ได้เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งขาติ เพื่อขอให้คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมให้ติดตั้งตู้แดงไว้ที่บ้าน รวมถึงขอให้เร่งรัดจับกุมนายวรพจน์ นุชิต ตามหมายจับที่ จ.554/2556 ซึ่งชิงลาออกจากราชการ และยังคงได้รับบำเหน็จบำนาญอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีการรับเรื่องไว้เเล้ว
เนื้อความในหนังสือระบุว่า ถูกชายไม่ทราบชื่อติดตามถ่ายภาพ ทำให้กลัวมากที่สุด ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกภายในครอบครัว
(อ่านประกอบ : มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก)
ขณะที่ กระบวนการตรวจสอบของหน่วยงาน ตรวจสอบ ทั้งกระทรวงมหาดไทย ป.ป.ช. รวมทั้งร้องเรียนตรงกับ มท.1 ก็ดูเหมือนจะมีความล่าช้าในการตรวจสอบการทุจริตแบบผิดสังเกต?
หรือจะต้องรอให้มีเหตุการณ์ซ้ำรอย มีผู้บริสุทธิ์สังเวยชีวิต ปรากฎเป็นข่าวใหญ่โตก่อน ถึงจะมีใครสนใจ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือสะสางปัญหาแบบนี้ให้หมดไปจากประเทศไทยได้!