12 ประเทศบรรลุข้อตกลง TPP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก
หลังจากการเจรจาที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2008 ในที่สุดกลุ่ม 12 ประเทศ ซึ่งนำโดย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย TPP นับเป็นข้อตกลงที่จะสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ GDP โลก
ปัจจุบันประเทศสมาชิกของ TPP ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
TPP เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกขยายตลาดส่งออก กระตุ้นการลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ เช่น มาเลเซีย ที่เดิมไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และแคนาดา จึงคาดว่า TPP จะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ TPP ยังมีกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติเพื่อไม่เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทในประเทศกับต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก จึงกล่าวได้ว่า TPP เป็นเครื่องมือกระตุ้นการค้าการลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงาน และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ รวมไปถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อบรรเทาความรุนแรงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขใน TPP มีความเข้มงวด และส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของหลายประเทศ
เช่น สิทธิบัตรยา ซึ่งเดิมสหรัฐฯ เรียกร้องไม่ให้เปิดเผยข้อมูลการทดลองยาในกลุ่มชีวภาพตัวใหม่เป็นเวลา 12 ปี แต่หลังจากบรรลุข้อตกลงคาดว่าระยะเวลาจะลดลงเหลือ 8 ปี ซึ่งจะทำให้ราคายาในหลายๆ ประเทศที่ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวแพงขึ้น และการเข้าถึงยาสามัญเป็นไปได้ช้าลง นอกจากนี้ เวียดนาม เม็กซิโก และมาเลเซีย ยังถูกเรียกร้องให้ปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน โดยเฉพาะมาเลเซียที่ถูกเร่งให้แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ในขณะที่แคนาดา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะลดการกีดกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศไม่น้อย
แม้ว่าประเทศสมาชิกจะเห็นชอบในเนื้อหาของข้อตกลง แต่ TPP ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนก่อนจะนำไปปฏิบัติจริง
ขั้นตอนการอนุมัติข้อตกลง TPP ของทั้ง 12 ประเทศคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3-6 เดือน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องแจ้งให้สภาคองเกรสทราบก่อนการลงนามเป็นเวลา 90 วัน และหลังจากที่ลงนามแล้ว TPP จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อการรับรองและนำมาปฏิบัติต่อไป ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องผ่านการตรวจสอบจากทั้งรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร และถ้าต้องทบทวนกฎหมายใหม่ก็จะทำให้เกิดความล่าช้าออกไปอีก
AEC กำลังถูกท้าทายจาก TPP ในแง่ของการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่การผลิต รวมไปถึงมาตรฐานใหม่ด้านการค้าการลงทุน
นักลงทุนในปัจจุบันไม่เพียงแต่มองหาฐานการผลิตที่มีแหล่งวัตถุดิบและต้นทุนที่ต่ำ แต่ยังต้องสามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและตลาดเป้าหมายในระดับภูมิภาคได้ด้วย ดังนั้น AEC ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถูกท้าทายจากข้อตกลง TPP ที่สามารถเชื่อมโยงตลาดและแหล่งวัตถุดิบระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอเมริกา ซึ่งน่าจะสร้างแรงกดดันให้อาเซียนเร่งเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีในระดับพหุภาคีและทวิภาคี เช่น RCEP (อาเซียน อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ในขณะที่สมาชิกอาเซียนที่ได้เข้าร่วมเจรจา TPP ไปแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม แม้ว่าจะได้รับประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องปรับตัวตามมาตรฐานต่างๆ ที่ระบุไว้ใน TPP ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
อีไอซีมองว่าไทยควรศึกษาเงื่อนไขของข้อตกลง TPP ให้รอบคอบก่อนเข้าร่วม
ด้วยข้อกำหนดของ TPP ที่ไม่อนุญาตให้สมาชิกใหม่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมกับสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ ทำให้ไทยต้องประเมินผลกระทบจากการเข้าร่วม TPP ให้รอบคอบ โดยในเบื้องต้นประเด็นที่ไทยจะเสียเปรียบ คือ สิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา แต่หากไทยไม่เข้าร่วมก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ TPP เช่น ญี่ปุ่นที่จะทยอยเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ไทยในฐานะฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นมีความน่าสนใจน้อยลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังอาจมองว่าเวียดนามและมาเลเซียเป็นฐานการผลิตที่ได้เปรียบกว่าไทยในแง่ของการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายยังประเทศต่างๆ ใน TPP
ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอุปสรรคใหญ่ของไทยในการเข้าร่วม TPP
ประเด็นที่อาจทำให้ไทยไม่สามารถเข้าร่วม TPP ได้ง่ายนัก คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ล่าสุดไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 โดยกฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่อยู่ในอันดับดังกล่าว ซึ่งหากไทยต้องการเข้าร่วม TPP จะต้องแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานในการทำประมง