5 เดือนซื้อเมล์เอ็นจีวีสะดุด! ถูกพับโครงการ-ผู้สังเกตการณ์ลาออก
ฟังจากปากผู้สังเกตการณ์-ย้อนดูไทม์ไลน์เหตุเซ็นสัญญาจัดซื้อเมล์เอ็นจีวีชะงัก ความผิดพลาดจากการตรวจสอบคุณสมบัติด้านเอกสารขสมก. ก่อนเข้าสู่การประมูลที่ไม่เป็นธรรม?
ยังคงไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเซ็นสัญญา!
ภายหลังมีข้อยุติโครงการจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ล็อตแรกจำนวน 489 คัน จากมติบอร์ดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แล้ว และจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายกับกลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวีดอลลาเซียนจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูลในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 อย่างไรก็ดีมีการเลื่อนลงนามอีกครั้งเป็นวันที่ 16 กันยายน 2558 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญาแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลำดับเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นไฉนจึงไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนดังนี้
2 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล และนายอรุณ ลีธนาโชค 2 ผู้สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ส่งรายงานไปยัง ศ.เมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายมาตรการป้องกันการทุจริต (ป.ป.ช.) เพื่อเรียกเอกสารมาตรวจสอบ
4.มิถุนายน 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยุบคณะอนุกรรมการฝ่ายมาตรการป้องกันการทุจริต
8 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ และนายอรุณ ส่งบันทึกขอให้ระงับการลงนามสัญญาโครงการจัดซื้อรถโดยเอ็นจีวี จำนวน 489 คัน และการจัดหาผู้ซ่อมบำรุงรักษารถ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)
พร้อมยื่นจดหมายลาออกจากการทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558
9 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ อดีตผู้สังเกตการณ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริตรายงานในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อรับทราบปัญหา
10 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ ทำบันทึกถึงนายมนัส แจ่มเวหา ประธานคณะอนุกรรมการการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม และ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ขณะนั้น ขอให้ตรวจสอบความไม่ถูกต้องของการประกวดราคาและการจัดหาผู้ซ่อมบำรุงรักษา
11 มิถุนายน 2558 นายนพนันท์ และนายอรุณ ส่งรายงานผลการสังเกตการณ์ให้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พร้อมแจ้งว่าลาออกแล้ว
12 มิถุนายน 2558 มีการประชุมประสานงาน คตช. และรับทราบปัญหาการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี
16 มิถุนายน 2558 กรมบัญชีกลางเชิญ นายนพนันท์ เข้าชี้แจงในที่ประชุมคณะอนุกรรมการเรื่องรายงานผลการสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันของขสมก.
8 กรกฎาคม 2558 สองอดีตผู้สังเกตการณ์ และ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต เข้าประชุมหารือกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ ขสมก.
9 กรกฎาคม 2558 ขสมก.ส่งเอกสารด้านเทคนิคของผู้ชนะการประกวดราคาและประสงค์จะเสนอราคาเพื่อให้ตรวจสอบ กับ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
15 กรกฎาคม 2558 รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค จัดส่งรายงานผลการพิจารณาเอกสารด้านเทคนิคของผู้ชนะการประกวดราคาไปยังนางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารกิจการ ขสมก. รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. พร้อมสำเนาไปยังกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านด้านการทุจริตแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม
21 สิงหาคม 2558 ศาลอาญาไม่รับฟ้องคดีที่บริษัทเบสท์รินฟ้องการประมูลรถเมล์เอ็นจีวี
24 สิงหาคม 2558 อดีตสองผู้สังเกตการณ์ ทำรายงานเพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องความไม่ถูกต้องโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีและการจัดหาผู้ซ่อมบำรุง และขอให้ตรวจสอบเพื่อป้องกันความเสียหายแก่รัฐ
2กันยายน 2558 คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พิจารณาคำร้องอุธรณ์ของบริษัทเบสท์ริน
และในวันที่ 25 กันยายน 2558 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าจะให้ ขสมก.รายงานความคืบหน้าการจัดซื้อรถเมล์ล็อตแรก 489 คัน ในวันที่ 28 ก.ย. และจะดำเนินการซื้อรถพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้แทนก่อนจำนวน 200 คัน ภายในมกราคม 2559 เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาไม่คืบหน้า เพราะทุกครั้งจะมีผู้ร้องเรียนและทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก
ล่าสุด นายอรุณ ลีธนาโชค อดีตผู้สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า จุดประสงค์ของการร้องเรียนไม่ได้กล่าวหาว่าการจัดซื้อครั้งนี้ไม่โปร่งใส แต่เห็นว่าในขั้นตอนมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารระหว่างการเจรจาค่าซ่อม ซึ่งระหว่างการประชุมเจรจาค่าซ่อมตัวเองและอาจารย์นพนันท์ได้แย้งไปแล้วว่าไม่น่าจะทำได้ เนื่องจากเอกสารค่าซ่อมถือเป็นเอกสารหลักที่เป็นคุณสมบัติในการเข้าประมูล ดังนั้นการเห็นเอกสารทีหลังแล้วมาแก้ไขใหม่ เบื้องต้นเห็นว่าทำให้มีคุณสมบัติเรื่องเอกสารไม่ครบถ้วนและไม่ควรมีสิทธิเข้าประมูล
ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดของคณะกรรมการจัดซื้อของขสมก.ที่จัดเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคเข้ามาทำหน้าที่ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งก่อให้เกิดความบกพร่องส่งผลให้มีผู้ได้เสียในการประมูล
“ดังนั้นขสมก.เองควรนำเรื่องนี้มาพิจารณา ไม่ใช่กล่าวอ้างว่าขั้นตอนทั้งหมดถูกต้องเพื่อปกปิดข้อผิดพลาดของตัวเอง กระทั่งทำให้เกิดการฟ้องร้องหรือร้องเรียนเกิดขึ้นขณะนี้ และการตรวจเอกสารผิดพลาดจึงทำให้การประมูลครั้งนี้ไม่เป็นธรรม”