คะแนนเกือบเต็ม10 ปชช.พึงพอใจสิทธิบัตรทอง
รมว.สาธารณสุขเผยผลสำรวจความพึงพอใจการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบ ประชาชนพึงพอใจมากได้คะแนนสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะสิ่งที่ต้องการให้ปรับปรุง คือลดระยะเวลาการรอรักษา และสิทธิควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง
5 ตุลาคม 2558 สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)จัดประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุม
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน บุคลากรสาธารณสุข และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2558 ว่า ผลการสำรวจในปีนี้เป็นที่น่ายินดี เนื่องจากพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภาพรวมมากกว่าทุกปีที่ทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2546 โดยในปี 2558 ได้รับคะแนนความพึงพอใจถึง 9.11 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 เพิ่มจากปี 2557 ที่ได้คะแนน 8.86 คะแนน ขณะที่ความพึงพอใจต่อบุคลากรสาธารณสุขที่มีต่อการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพได้ 6.98 จากเดิมที่ได้ 6.93 คะแนน
นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า จากผลการสำรวจพบว่ามีประชาชน 90.4% ทราบว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ดังนั้นจึงสะท้อนได้ว่าประชาชนมีความเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ส่วนเรื่องความพอใจในการไปรับการรักษาพยาบาลประชาชนมีความพอใจ 4.60 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ทั้งนี้สิ่งที่ประชาชนอยากให้มีการปรับปรุงคือ ลดระยะเวลาในการรอรักษา และให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาไม่ให้สูงเกินไป ขณะที่ข้อเสนอจากบุคลากรสาธารณสุขคือ ให้มีกิจกรรมระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับสปสช.เพื่อสร้างความสัมพันธ์และลดขั้นตอนในการทำงานระหว่างกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากผลการสำรวจของปี 2558 สะท้อนว่าประชาชนเชื่อมั่นประสิทธิภาพและคุณภาพรักษาพยาบาลในระบบ ที่สำคัญคือผลสำรวจในปีนี้ได้คะแนนมากสุดในรอบ 13 ปี ตั้งแต่ตั้งสปสช.ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นขวัญกำลังใจของการทำงานของบุคลากรในระบบสาธารณสุข นอกจากนี้นโยบายของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญกับสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน
ด้านนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การสำรวจปี 2558 โดยสถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 16,365 คน ครอบคลุม 13 เขต แบ่งเป็น 4 กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชน 5,524 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 402คน บุคลากรสาธารณสุข 5,228 คน และภาคีเครือข่าย 5,211 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินความพอใจที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และรับทราบประเด็นที่ประชาชน บุคลากรสาธารณสุขต้องการให้มีการสนับสนุนและแก้ไข