เปิดผลสอบ ปตท.ปมปลูกปาล์มอินโดฯ ชนวนทำ“บิ๊ก ปตท.สผ.”พ้นเก้าอี้
“…แม้ว่าผลการสอบสวนจะไม่แจ้งชัดว่ามีเจตนาถึงขั้นทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีการเรียก รับ ยอมรับหรือยอมจะรับ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่นเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันทำให้เสียความเที่ยงธรรมในหน้าที่ แต่ก็มีลักษณะที่ไม่น่าไว้วางใจ หากให้ทำงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่ ปตท. ได้ ดังนั้นจึงเห็นควรลงโทษโดยการเลิกจ้าง โดยขอให้ ปตท.สผ. พิจารณาเทียบเคียง และลงโทษตามระเบียบของบริษัทต่อไป…”
ในที่สุดก็ถึงบทสรุปสำหรับการสอบสวน กรณีการดำเนินงานของบริษัท ปตท.กรี เอนเนอร์ยี่ จำกัด หรือ PTTGE ที่เข้าไปลงทุน 5 โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังพบว่า การลงทุนโครงการดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท
โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทแม่ของ PTTGE ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีนี้ และมีมติไล่ออก “นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา” รองผู้จัดการบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม ในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซียทั้ง 5 โครงการของ PTTGE
พร้อมทั้งส่งรายงานการสอบสวนให้ ปตท.สผ. ดำเนินการตามมติดังกล่าว ตั้งแต่ช่วง มิ.ย. 2557
แต่ ปตท.สผ. ระบุว่า มีระเบียบการบริหารงานบุคคลเป็นของตัวเอง จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ก่อนที่จะใช้ระยะเวลากว่า 7 เดือน จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ปตท.สผ. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นมาพิจารณากรณีนี้
รวมถึงโอนย้ายนายนิพิฐมาประจำส่วนกลาง โดยไม่ได้มอบหมายงานที่มีลักษณะการบังคับบัญชาใด ๆ ให้เพื่อป้องกันการใช้อำนาจหรืออิทธิพลแทรกแซงการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและการสอบวินัย
ล่าสุด คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของ ปตท.สผ. ได้สรุปผลการสอบสวนตามที่คณะกรรมการสอบสวนของ ปตท. เสนอเรื่องแล้ว คณะกรรมการสอบสวน ปตท.สผ. จึงได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ปตท.สผ. พิจารณาเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2558 โดยคณะกรรมการ ปตท.สผ. มีมติให้นายนิพิฐพ้นสภาพจากพนักงาน ปตท.สผ. แล้ว
(อ่านประกอบ : บอร์ด ปตท.สผ.ให้ “นิพิฐ”พ้นสภาพพนักงานปมปลูกปาล์มอินโดฯ-ฟ้องอาญาสู้)
ผลการสอบสวนของ ปตท. ที่ส่งให้ ปตท.สผ. ระบุพฤติกรรมของนายนิพิฐอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเผยแพร่ ดังนี้
หนึ่ง โครงการ PT.Az Zhara
นายนิพิฐปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายจัดการของ PTTGE ได้ดำเนินการเจรจา/ลงนามในสัญญา Share Purchase Agreement (SPA) ฉบับลงวันที่ 4 เม.ย. 2551 โดยมีเงื่อนไขแตกต่างไปจากที่คณะกรรมการ ปตท. และคณะกรรมการ PTTGE อนุมัติ ในปรเด็นเรื่องการชำระเงิน โดยเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ปตท. และคณะกรรมการ PTTGE อนุมัตินั้น PTTGE จะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อได้รับเอกสารสำคัญเกี่ยวกับที่ดิน (งวดแรก 50% เมื่อได้รับสิทธิ์ปลูกปาล์ม Izin Usaha Perkebunan (IUP) และโอนหุ้นให้ PTTGE และงวดสุดท้าย 50% เมื่อได้รับสิทธิ์ปลูกปาล์ม Hak Gunan Usaha (HGU)) แต่สัญญา SPA ที่นายนิพิฐลงนามไปนั้น กำหนดให้มีการจ่ายงวดแรก 30% เมื่อมีการโอนหุ้นอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาถึงเอกสารสำคัญเกี่ยวกับที่ดินเลย
อีกทั้งตามเงื่อนไขในสัญญา SPA ที่ไม่ถูกต้องฉบับดังกล่าว ระบุให้จ่ายเงินงวดที่สอง 20% เมื่อได้รับ AMDAL จำนวน 6 ฉบับ แต่ข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏอีกว่า นายนิพิฐ ได้มีการสั่งการให้จ่ายเงินผิดไปจากเงื่อนไข คือ ให้จ่ายเงิน 50% ของวงเงินในงวดที่สอง 4.455 ล้านเหรียญ เมื่อได้รับ AMDAL จำนวน 3 ฉบับ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ PTTGE และ ปตท. ได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า นายนิพิฐซึ่งเป็นพนักงานของ ปตท.สผ. ที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานให้แก่ ปตท. ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ PTTGE มีหน้าที่ในการบริหารงานบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการ PTTGE และคณะกรรมการ ปตทใ กำหนด ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนไปโดยแตกต่างจากการอนุมัติที่ได้รับจากคณะกรรมการ ปตท. และคณะกรรมการ PTTGE จึงเข้าข่ายเป็ฯการกระทำที่เป็นความผิดทางวินัย ตามข้อกำหนดของ ปตท. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 หมว 20 ข้อ 2.23 ฝ่าฝืนกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของ ปตท. หรือของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย
สอง โครงการ PT.MAR (Pontianak)
นายนิพิฐปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการของ PTTGE ในฐานะกรรมการบริษัทได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมคณะกรรมการ PTTGE ครั้งที่ 2/2008 เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2551 ซึ่งได้พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขการลงทุนตามสัญญา SPA ฉบับลงวันที่ 6 ธ.ค. 2550 และในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเจรจาและตกลงเงื่อนไขตามสัญญา SPA ฉบับดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขแตกต่างจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. ซึ่งแตกต่างกันทั้งในเรื่องโครงสร้างการลงทุนและขั้นตอนการชำระเงินค่าหุ้น
คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า นายนิพิฐ ซึ่ง ปตท. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในตำแหน่งกรรมการบริษัท PTTGE มีหน้าที่กำหนดนโยบาย/ดูแล/ตรวจสอบ/ควบคุมการดำเนินการของ PTTGE ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ปตท. กำหนด และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ PTTGE มีหน้าที่ในการบริหารงานบริษัทให้เป็ฯไปตามนโยบายที่คณะกรรมการ PTTGE และคณะกรรมการ ปตท. กำหนด
ดังนั้นการดำเนินการในฐานะกรรมการบริษัทที่พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างไปจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. และการดำเนินการในฐานะกรรมการผู้จัดการที่พิจารณาเกี่ยวกับการลงทุนไปโดยแตกต่างจากการอนุมัติที่ได้รับจากคณะกรรมการ ปตท. จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางวินัย ตามข้อกำหนดของ ปตท. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 หมวด 20 ข้อ 2.2 กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ขัดขืน หรือละเลยเพิกเฉยต่อนโยบาย กฎหมาย ข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง สัญญาจ้างแรงงานหรือประกาศของ ปตท. รวมทั้งคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังบัญชา (ในฐานะกรรมการบริษัท) และข้อ 2.23 ฝ่าฝืนกฎ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของ ปตท. หรือของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย (ในฐานะกรรมการผู้จัดการ)
สาม โครงการ PT.FBP
นายนิพิฐปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการของ PTTGE ในฐานะกรรมการบริษัทได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมคณะกรรมการ PTTGE ครั้งที่ 8/2009 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2552 ซึ่งได้พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขการลงทุน และในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้นำเสนอข้อมูลโดยอ้างอิงเอกสาร Due Diligence ที่ทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเสนอขออนุมัติลงทุนต่อคณะกรรมการ PTTGE ในการประชุมครั้งดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขการลงทุนแตกต่างกันไปจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2551 ซึ่งแตกต่างกันทั้งในเรื่องโครงสร้างการลงทุนและขั้นตอนการชำระเงินค่าหุ้น
คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า นายนิพิฐซึ่ง ปตท. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในตำแหน่งกรรมการบริษัท PTTGE มีหน้าที่กำหนดนโยบาย/ดูแล/ตรวจสอบ/ควบคุมการดำเนินการของ PTTGE ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ปตท. กำหนด และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ PTTGE มีหน้าที่ในการบริหารงานบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการ PTTGE และคณะกรรมการ ปตท. กำหนด
ดังนั้นการดำเนินการในฐานะกรรมการบริษัทที่พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างไปจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. และการดำเนินการในฐานะกรรมการผู้จัดการที่พิจารณาเกี่ยวกับการลงทุนไปโดยแตกต่างจากอนุมัติที่ได้รับจากคณะกรรมการ ปตท. จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางวินัย ตามข้อกำหนด ปตท. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 หมวด 20 ข้อ 2.2 กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ขัดขืน หรือละเลยเพิกเฉยต่อนโยบาย กฎหมาย ข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง สัญญาจ้างแรงงานหรือประกาศของ ปตท. รวมทั้งคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังบัญชา (ในฐานะกรรมการบริษัท) และข้อ 2.23 ฝ่าฝืนกฎ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของ ปตท. หรือของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย (ในฐานะกรรมการผู้จัดการ)
สี่ โครงการ PT.KPI
นายนิพิฐปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการของ PTTGE ในฐานะกรรมการบริษัทได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมคณะกรรมการ PTTGE ครั้งที่ 6/2010 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2553 ได้พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขการลงทุน และในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเจรจาและนำเสนอเงื่อนไขการลงทุนก่อนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท.
คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า นายนิพิฐ ซึ่ง ปตท. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในตำแหน่งกรรมการบริษัท PTTGE มีหน้าที่กำหนดนโยบาย/ดูแล/ตรวจสอบ/ควบคุมการดำเนินการของ PTTGE ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ปตท. กำหนด และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ PTTGE มีหน้าที่ในการบริหารงานบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการ PTTGE และคณะกรรมการ ปตท. กำหนด
ดังนั้นการดำเนินการในฐานะกรรมการบริษัทที่พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขการลงทุนไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. และการดำเนินการในฐานะกรรมการผู้จัดการที่พิจารณาเกี่ยวกับการลงทุน โดยเป็นผู้ลงนามในสัญญา SPA ฉบับลงวันที่ 13 ต.ค. 2553 ไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. โดยไม่รีบดำเนินการตามมติคณะกรรมการ PTTGE โดยนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการ ปตท.
อีกทั้งเป็นผู้นำเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติต่อคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 1/2555 โดยไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า PTTGE ได้ดำเนินการลงทุนไปแล้ว อีกทั้งยังนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการ ปตท. ในลักษณะว่าการลงทุนโครงการดังกล่าวเป็นส่วนขยายของ Az Zhara
จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางวินัย ตามข้อกำหนด ปตท. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 หมวด 20 ข้อ 2.2 กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ขัดขืน หรือละเลยเพิกเฉยต่อนโยบาย กฎหมาย ข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง สัญญาจ้างแรงงานหรือประกาศของ ปตท. รวมทั้งคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังบัญชา (ในฐานะกรรมการบริษัท) ข้อ 2.3 แจ้งหรือรายงานเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงในการรายต่อผู้บังคับบัญชา และข้อ 2.23 ฝ่าฝืนกฎ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของ ปตท. หรือของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย (ในฐานะกรรมการผู้จัดการ)
ห้า การใช้งบประมาณประจำปี 2554
นายนิพิฐปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้จัดการของ PTTGE ได้ใช้งบประมาณในปี 2554 เกินกว่างบประมาณที่ได้รับอนุมัติ โดยเกินไปมากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งตามระเบียบการเงิน การบัญชี และงบประมาณและการให้สินเชื่อ พ.ศ.2554 ในข้อ 22.2 ระบุว่า “หากมีความจำเป็น … ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจจัดสรรและสั่งจ่ายงบประมาณทำการเพิ่มเติมได้อีกไม่เกินร้อยละ 10 ของงบฯ ที่ได้อนุมัติ แล้วรายงานคณะกรรมการทราบ” ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าการใช้งบฯส่วนที่เกินดังกล่าวมีการขออนุมัติจากคณะกรรมการ PTTGE และมีการรายงานผลการใช้งบประมาณต่อคณะกรรมการ PTTGE แต่อย่างใด
คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า นายนิพิฐ ซึ่ง ปตท. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในตำแหน่งกรรมการบริษัท PTTGE มีหน้าที่กำหนดนโยบาย/ดูแล/ตรวจสอบ/ควบคุมการดำเนินการของ PTTGE ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ปตท. กำหนด และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ PTTGE มีหน้าที่ในการบริหารงานบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการ PTTGE และคณะกรรมการ ปตท. กำหนด ต้องปฏิบัติงานภายใต้กฎ/ระเบียบ/คำสั่งของบริษัท
ดังนั้นการใช้งบประมาณประจำปี 2554 เกินกว่าที่ได้รับอนุมัติจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางวินัย ตามข้อกำหนด ปตท. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 หมวด 20 ข้อ 2.23 ฝ่าฝืนกฎ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของ ปตท. หรือของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย
จากพฤติกรรมของนายนิพิฐตามที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อ คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า มีลักษณะเป็นการเพิกเฉยต่อนโยบายของ ปตท. ปกปิดข้อเท็จจริงในการรายงานต่อคณะกรรมการ ปตท. และกระทำการโดยประมาทเลินเล่อขาดความระมัดระวัง จึงเห็นควรให้พิจารณาลงโทษทางวินัย ตามระเบียบ ปตท. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 ประกอบกับแนวปฏิบัติเรื่องมาตรฐานความประพฤติและแนวทางการลงโทษทางวินัย ฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2556
อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงว่า นายนิพิฐซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานใน PTTGE มาโดยตลอด ตั้งแต่ยังเป็น “โครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม” (ปี 2550) และเป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เกี่ยวกับการลงทุนโครงการ PT.KPI แสดงให้เห็นว่านายนิพิฐมีเจตนาจะปกปิดข้อมูลในการรายต่อคณะกรรมการ ปตท.
แม้ว่าผลการสอบสวนจะไม่แจ้งชัดว่ามีเจตนาถึงขั้นทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีการเรียก รับ ยอมรับหรือยอมจะรับ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่นเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันทำให้เสียความเที่ยงธรรมในหน้าที่ แต่ก็มีลักษณะที่ไม่น่าไว้วางใจ หากให้ทำงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่ ปตท. ได้ ดังนั้นจึงเห็นควรลงโทษโดยการเลิกจ้าง โดยขอให้ ปตท.สผ. พิจารณาเทียบเคียง และลงโทษตามระเบียบของบริษัทต่อไป
ทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลการสอบสวนดังกล่าวที่มีเกือบร้อยหน้า และมีบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักข่าวอิศราจะนำมาเปิดเผยอีกครั้งในวาระต่อไป
ล่าสุด นายนิพิฐ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ด้วยว่า พร้อมคัดค้านมติของคณะกรรมการ ปตท.สผ. เนื่องจากการสอบสวนที่ผ่านมาดำเนินการไม่ถูกต้อง และไม่พบว่ามีการทุจริต ดังนั้นมติการให้ออกดังกล่าวจะทำได้อย่างไร นอกจากนี้เตรียมจะฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ยกคำร้อง“บิ๊ก ปตท.สผ.”ค้านอนุฯสอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
“บิ๊ก ปตท.สผ.”ทำหนังสือค้าน 5 อนุฯป.ป.ช.สอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
ศาลไฟเขียว“บิ๊ก ปตท.สผ.”ขอเลื่อนคำให้การคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 4 ก.ย.-ทนายถอนตัว
ปตท.สผ.แจงเหตุสอบช้า “บิ๊ก” คดีปลูกปาล์มฯ ยันเอกสารเยอะ-ย้ายมาส่วนกลางแล้ว
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1)
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(จบ)
ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
ปตท.ระทึก!อนุฯ ป.ป.ช.พบปมซื้อที่ดินปลูกปาล์ม ปท.อินโดฯ เล็งชี้มูล 2 โครงการ
ป.ป.ช.พบตัวละครคดีข้าวจีทูจีโยงซื้อขายมันเส้น!-สอบปตท.ปมปลูกปาล์มในอินโดฯ
ป.ป.ช.เหลือสอบพยานคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 6-7 ปาก ขีดเส้น 2 เดือนเสร็จ