คลอดโรดแมปชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ชงสมัชชาปฏิรูปปลาย มี.ค.
เครือข่ายองค์กรชุมชน เห็นชอบแผนแม่บทขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เป้าหมาย 2.3 พันตำบล เตรียมชงสมัชชาปฏิรูป 24-26 มี.ค. “ไพบูลย์”แนะหลักคิดปฏิรูปวิธีคิด-วิธีทำ-วิธีวัดผล “รศ.ปาริชาติ” ชี้คนทำงานพัฒนาขาดข้อมูล ข้อเสนอจึงซ้ำซาก แก้ปัญหารูปธรรมยาก แนะกระเทาะบทเรียนใหม่
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธานกรรมการจัดประชุมที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) โดยเห็นชอบโรดแมปการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย และจะจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งแรก 24-26 มี.ค.54 ทั้งนี้ก่อนเวทีสมัชชาจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น และประชุมร่วมระหว่างกลไกขบวนองค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนขบวนชุมชน รวมถึงสังเคราะห์ข้อเสนอการปฏิรูปภาคประชาชนเพื่อเสนอในเวทีสมัชาปฏิรูป
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กล่าวว่าเรื่องการปฏิรูปนั้นต้องปฏิรูปวิธีคิด ปฏิรูปวิธีทำ ปฏิรูปวิธีวัดผลลัพธ์ ซึ่งการปฏิรูปวิธีคิดคือคิดให้ครบ คิดทั้งระบบ คิดเชิงความสัมพันธ์ เชิงความร่วมมือ ถ้าหลายฝ่ายมาคุยกันจะทำให้คิดเชิงระบบได้ ไม่ใช่แยกส่วน ชุมชน ตำบล ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง อาจจะไปถึงเรื่องระบบการปกครอง การเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่เราขาดมากคือข้อมูล งานวิจัย ควรหานักวิชาการมาประมวลวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล หรือจะใช้หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมทำงานกับชุมชนในจังหวัด โดยให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีหน่วยพิเศษที่รวมข้อมูล ประสานสนับสนุนงานวิจัยที่ประชาชนมีส่วนร่วม
ส่วนการปฏิรูปวิธีทำ ต้องอาศัยสามเสาหลัก ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ เพื่อร่วมจัดการเรื่องต่างๆในพื้นที่ ต้องทำเชิงบวก ต้องไม่ลืมที่จะดึงภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา เข้ามามีส่วนร่วมมือเชื่อมประสานกัน รวมพลังกันทั้งตำบล อำเภอ จังหวัด ปฏิรูปเริ่มจากข้างล่างขึ้นไป โดยเริ่มที่การปฏิรูปตัวเอง
“การปฏิรูปวิธีวัดผลลัพธ์นั้นหากทำได้ครบสังคมไทยจะเกิดความคลี่คลาย แต่ขณะนี้เรายังไม่มีวิธีวัดผลลัพธ์ เราฝันถึงความอยู่ดีมีสุขหมายถึงอะไร ความครัวแตกแยกสัก 10 เปอร์เซ็นต์มีสุขหรือไม่ ถ้าเกษตรมีแต่สารพิษมีสุขหรือไม่ เต้องดูให้ถึงผลลัพธ์ การเริ่มต้นวัดผลในระดับตำบลที่มีชุมชนท้องถิ่นมาร่วมกันกำหนดการวัดผลลัพธ์ว่าถ้าตำบลเราดีจะดูที่อะไรบ้าง แหล่งข้อมูลมาจากไหน วิธีวัดดูอย่างไร วัดจากเล็กไปใหญ่จากง่ายไปยากใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม”
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากกระบวนการดีประชาชนมีส่วนร่วม ทุกคนทุกกลุ่มเป็นเจ้าของ มีพื้นที่จัดการตนเองเป็นตัวตั้ง สิ่งที่ พอช.ขาดคืองานวิจัย ข้อมูล และทำเยอะมากแต่ไม่มีการวัดผลลัพธ์ เสนอให้ทำทั่วประเทศแบบประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อรู้ว่าจังหวัดนี้คิดแบบนี้ เนื้อหาดีอย่างเดียวไม่พอ ชาวบ้านต้องได้เรียนรู้ ต้องมาร่วมปฏิรูป ไม่เช่นนั้นก็ไม่สำเร็จ วิธีวัดผลต้องให้เห็นผลสุดท้ายว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ด้านรศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่าชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองต้องไม่สิ้นสุดแค่แผนและงบประมาณ ต้องลงลึกถึงคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน กะเทาะบทเรียนออกมา ถ้าครัวเรือนล่มสลาย ชุมชนก็ไม่สามารถเข้มแข็ง เห็นได้จากนโยบายแก้ปัญหาที่ดินมีมานานแล้ว สวัสดิการกองทุนต่างๆก็เช่นกัน แต่ชาวบ้านกลับเป็นหนี้มากขึ้น ที่ดินหลุดมือมากขึ้น เจ็บป่วยมากขึ้น บางครัวเรือนเป็นหนี้มากถึง 20 กองทุนเพราะกู้อันนี้ไปโป๊ะอันโน้น หากคนทำงานพัฒนาไม่มีข้อมูล ข้อเสนอก็จะวนเวียนซ้ำซาก แต่หากเห็นภาพเหล่านี้ ข้อเสนอก็จะชัดเจนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม
รศ.ปาริชาติ กล่าวต่อไปว่า ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิถีการผลิต วิถีการบริโภค จึงจะเกิดรูปธรรมใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น และมีพลังตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ตัวอย่างเช่นชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันจนสามารถต่อรองกับห้างที่จะเกิดขึ้นได้ เปลี่ยนทุนนิยมสามานย์เป็นทุนที่สร้างสรรค์ รับซื้อพืชผักจากประชาชน มีการกำหนดราคาร่วมกันอย่างเป็นธรรม เกษตรกรไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องตลาด ห้างอยู่ได้ชาวบ้านอยู่ได้ น่าจะหยิบรูปธรรมแบบนี้ขึ้นมา มิเช่นนั้นก็จะมีแต่บทเรียนแบบเดิมๆ
“ข้อเท็จจริงของครัวเรือนเป็นอย่างไร ต้นทุนการผลิตสูง ซื้อปุ๋ยซื้อยา เป็นหนี้ซ้ำซาก กลับมาสู่วงจรเดิมตลอด เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลตรงนี้ให้ชัดเจน ไม่ใช่รัฐบาลต้องทำเพียงฝ่ายเดียว ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีดำเนินชีวิต จะกี่นโยบายก็ช่วยอะไรไม่ได้ แถมจะช่วยให้จนซ้ำซากมากขึ้น” รศ.ปาริชาติ กล่าว
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ กรรมการคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่าชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเป็นเรื่องที่ต้องมีการกระจายอำนาจลงถึงระดับภายในหมู่บ้าน โดยเปิดพื้นที่ให้ส่วนต่างๆเข้ามาร่วม ชุมชนเข้มแข็งไม่ใช่การพึ่งพางบประมาณ แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ ร่วมกันบริหารจัดการหมู่บ้าน ทำแผนชุมชน สำรวจข้อมูลร่วมกัน ดึงมหาวิทยาลัยมาร่วมวิเคราะห์ข้อมูล มีการทำงานร่วมกับหมู่บ้านร่วมกับตำบลอื่นๆ สร้างแผนที่บอกได้ว่าอะไรชาวบ้านทำเองได้ คำตอบต้องอยู่ที่หมู่บ้าน ส่วนระดับตำบลก็ต้องกระจายอำนาจสู่หมู่บ้าน เปิดพื้นที่มาร่วมกันบริหารตำบล หรือสภาฯ สภาตำบล
ทั้งนี้การขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย มีเป้าหมาย 2,300 ตำบล 76 จังหวัด เพื่อออกแบบวางแผนพัฒนา “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ระดับตำบลจังหวัด ของ 5 ภาค .